
'ก.ม.คุมร้านนวด'ใครเชียร์–ใครค้าน?
'ก.ม.คุมร้านนวด'ใครเชียร์–ใครค้าน? : ทีมข่าวรายงานพิเศษรายงาน
ช่วงนี้คนขี้เมื่อยที่ชอบไปร้านนวดหรือร้านสปาอาจต้องระวังตัวสักหน่อย เพราะหมอนวดกำลังเครียดกับการถูกบังคับขึ้นทะเบียนตามกฎหมายใหม่ภายใน 27 กันยายน ที่จะถึงนี้ ล่าสุดมีการล่ารายชื่อหมอนวดทั่วประเทศกว่า 5,000 ราย เพื่อคัดค้านกฎหมายจัดระเบียบร้านนวด....
ย้อนไป 31 มีนาคม “พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กฎหมายคุมร้านนวด–หมอนวด” ประกาศเป็นกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน คือวันที่ 27 กันยายน 2559 เนื้อหาสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.กำหนดให้มี “คณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพดูแลกรรมการโดยตำแหน่งเป็นระดับอธิบดีของกรมการท่องเที่ยว กรมการปกครอง ฯลฯ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ
2.มีการแบ่งกิจการเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ “กิจการสปา” หมายถึง การนวด การบำบัดด้วยน้ำ อบตัว ฯลฯ ส่วน “กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม” หมายถึง นวดแผนไทย นวดหน้า พอกหน้า ฯลฯและ “กิจการอื่นๆ" เช่น ฟิตเนส แอโรบิก โยคะ ทำสมาธิ ฯลฯ กิจการข้างต้นทั้ง
3.ประเภทต้อง “ขอใบอนุญาตสถานประกอบการ” ให้ถูกต้องไม่เช่นนั้นเจอโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ “ผู้ดำเนินการ” หรือผู้จัดการต้องมาขอใบอนุญาตด้วยหากร้านใดไม่มีถูกปรับ 2 หมื่นบาท
4.“กลุ่มหมอนวด” ในกฎหมายฉบับนี้ เรียกว่า “ผู้ให้บริการ” หรือผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ทำหน้าที่บริการเพื่อสุขภาพหมอนวดไม่ต้องขอใบอนุญาต แต่ทางเจ้าของจะเป็นผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียน แต่ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก “สบส.” เช่น หลักสูตรนวดไทย หลักสูตรนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย หลักสูตรนวดสวีดิช ฯลฯ
5.ห้ามไม่ให้ลักลอบค้าประเวณี มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ หากพบถูกปรับ 3 หมื่นบาท
6.กำหนดให้มีการควบคุมดูแลอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ต่างๆ
จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ที่ผ่านมาร้านนวดหรือร้านสปาไปจดทะเบียนขอเปิดสถานประกอบการกับกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2548- 2558 จำนวน 1,605 แห่ง ส่วนจำนวนผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ ที่ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547–2556 มีจำนวน 12,244 คน
“กรด โรจนเสถียร” นายกสมาคมสปาไทย อธิบายว่า กลุ่มทำธุรกิจร้านสปาและร้านนวดอยากให้มีการจัดระเบียบและมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างจริงจังมานานแล้ว ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือ จะลดปัญหาที่บางกลุ่มเปิดร้านนวดบังหน้าการค้าประเวณีหรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ จากนี้ไปผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องเท่านั้น การคิดค่าใช้จ่ายใบอนุญาตมาจากพื้นที่หรือขนาดของร้านที่ให้บริการกำหนดไว้เบื้องต้น 100 ตารางเมตร ต้องเสีย 500 บาท ใบอนุญาตมีระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ในส่วนของผู้ดำเนินการหรือที่เรียกกันว่า “ผู้จัดการร้าน” นั้น ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะเท่านั้นตามรายละเอียดของคณะกรรมการ
“ถ้าเป็นร้านสปาใหญ่ ส่วนมากจ่ายแค่ประมาณ 5,000 บาทต่อ 5 ปี ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ส่วนผู้จัดการร้านต้องผ่านการอบรมประมาณ 100 ชั่วโมง จนได้ใบประกาศนียบัตรแล้วจึงไปขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ เป็นการขอครั้งเดียวได้ตลอดชีพ หมอนวดหรือผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องไปขอใบอนุญาต เพียงมีใบผ่านหลักสูตรอบรมนวดที่ถูกต้องได้รับการรับรองจาก สบส. เพื่อให้มีมาตรฐานถ้าร้านไหนหมอนวดไม่มีใบรับรองหรือใบประกาศนียบัตร เจ้าของร้านจะถูกลงโทษปรับ”
นายกสมาคมสปาไทยเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบจากร้านนวดที่ไม่ได้มาตรฐาน ลดปัญหาการลักลอบค้าประเวณีที่ทำให้ร้านสปาหรือร้านนวดไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้มองถึงข้อเสียว่าเป็นการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของคนไทย และสร้างภาระให้แก่หมอนวดโดยไม่จำเป็น!?!
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 สุกษม อามระดิษ เลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการและผู้ให้บริการนวดแผนไทยประมาณ 5,000 คน เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบว่า “พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559” มีปัญหาความชอบธรรมตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลงประชามติผ่านไปแล้วหรือไม่
“สุกษม” ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่า กฎหมายฉบับนี้หากพิจารณาให้ดีเหมือนกับส่งเสริมเกื้อหนุนร้านสปาหรือร้านนวดขนาดใหญ่ แต่กดดันร้านนวดไทย ร้านนวดเล็กว่าไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เนื้อความในกฎหมายก็ไม่มีมาตราใดให้การสนับสนุนหรือคุ้มครองภูมิปัญญานวดแผนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีบำบัดรักษาเพื่อสุขภาพจนยูเนสโกรับรองให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
“ตั้งแต่อดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเราร้านนวดแผนไทยหรือร้านนวดเล็กๆ คือกลุ่มหมอนวดที่มีฝีมือจนสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ไทยได้รับการรับรองจากยูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรม แต่กฎหมายฉบับนี้จะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเป็นหมอนวดสร้างภาระให้พวกเราต้องจดทะเบียนซ้ำซ้อนหลายกระทรวง ทั้งมหาดไทยและสาธารณสุข การกำหนดอัตราค่าใบประกอบการก็ไม่ยุติธรรม เพราะคิดจากพื้นที่ 100 ตร.ม. ต้องจ่าย 500 บาท ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยว ร้านส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก วางเตียงแน่นๆ ติดกัน แต่ลูกค้าหมั่นเวียนเข้ามาตลอดเวลา เปรียบเทียบกับร้านนวดตามพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีขนาดใหญ่ แต่วางเตียงห่างๆ กัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะโดยไม่ได้มีลูกค้าเข้ามาหนาแน่น ส่วนราคาค่าบริการก็แตกต่างกันด้วย บางคนมีไม่กี่เตียง หมอนวดก็เป็นเพื่อนๆ ญาติๆ กัน หมุนเวียนมาเป็นหมอนวดยามว่าง ไม่ได้เปิดเป็นกิจการใหญ่โต พวกเราไม่เห็นด้วยที่ออกกฎหมายโดยไม่รับเคยฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาตรวจสอบและจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
นอกจากนี้ สุกษม ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการกำหนดให้หมอนวดต้องผ่านหลักสูตรที่ได้รับรองจาก สบส. (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) เท่านั้นปัญหาคือ หลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐหลายกระทรวงเปิดจัดอบรมหลักสูตรนวดคอร์สต่างๆ ให้แรงงานว่างงาน หรือชาวบ้าน เพื่อเป็นอาชีพเสริม มีหลักสูตรเรียนหลายเดือนต่อเนื่อง ทั้งของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่ในวันนี้กลับบอกว่า บางหลักสูตรเหล่านั้นอาจไม่ได้มาตรฐานต้องขึ้นอยู่กับ สบส.เท่านั้น ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมจนได้วุฒิบัตรหรือใบประกาศนียบัตรมาแล้ว อยากให้พิจารณาความเดือดร้อนของหมอนวดในส่วนนี้ด้วย
“การกำหนดมาตรฐานต่างๆ อย่างเข้มงวดถือว่าเป็นข้อดี แต่ที่ผ่านมาพวกเราก็พยายามทำให้ร้านดูสะอาดสะอ้านอยู่แล้ว เพราะอยากให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ ส่วนร้านที่แฝงขายบริการทางเพศมีส่วนน้อยมาก ดูจากหน้าร้านก็รู้อยู่แล้ว จะติดกระจกดำมืด มีข้อความโฆษณาเชิญชวนที่ไม่เหมือนร้านนวดทั่วไป ตอนนี้พวกเรากำลังเป็นห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าไปเก็บส่วย เพราะมีสมาชิกบางคนร้องเรียนมาแล้วว่า ตำรวจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปร้านพวกเขาเพื่อขอตรวจ และมีท่าทีไม่น่าไว้วางใจเหมือนจะมาหาเรื่องจับผิด ทั้งที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้และยังไม่ได้มีความชัดเจนในหลายเรื่อง” เลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงกังวลใจ
ข้างต้นคือความคิดเห็นของกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน “กฎหมายคุมร้านนวด”
ล่าสุด “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เผยแพร่เอกสารชี้แจงประเด็นการเก็บค่าธรรมเนียมสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ 3 ข้อดังนี้
1.หากร้านสปาหรือร้านนวดได้รับใบอนุญาตจาก สบส.แล้วไม่จำเป็นต้องไปขอนุญาตกับกระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป นอกจากนี้ยังปรับปรุงแก้ไขให้ร้านนวดไม่ถือเป็นกิจการอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558” ทำให้ไม่ต้องไปขออนุญาตกับหน่วยงานท้องถิ่นอีกต่อไปด้วย
2.ในส่วนของใบอนุญาต “ผู้ดำเนินการ” นั้น กำหนดเบื้องต้นไว้เฉพาะผู้ดำเนินการร้านสปาเท่านั้น ส่วนร้านนวดเพื่อสุขภาพหรือร้านนวดเพื่อเสริมความงาม ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ดำเนินการแต่อย่างใด 3.การกำหนดเกณฑ์รับรองวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร ได้ประกาศรับรองไปแล้ว 600 หลักสูตร
การจัดระเบียบร้านนวดที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่าหมื่นร้านทั่วประเทศไทยนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาร้องเรียนจากลูกค้าหรือผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านบริการนวดเสริมความงาน เช่น นวดหน้า นวดลดไขมัน หรือร้านที่ใช้ชื่อ “นวดแผนไทย” แต่ไม่ได้ “นวดไทย” อย่างแท้จริง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก
เพียงแต่ทุกครั้งที่มีกฎหมายใหม่ ก็กลายเป็นช่องทางใหม่ของ “หน่วยเก็บส่วย” ด้วยเช่นกัน สบส.จะมีวิธีป้องกันและลงโทษผู้อาศัยกฎหมายฉบับนี้หากินในทางมิชอบได้อย่างไร
ประเด็นนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดระเบียบร้านนวด!