คอลัมนิสต์

คุณ(ยัง)รักรถไฟ รถไฟ(ยัง)รักคุณ

คุณ(ยัง)รักรถไฟ รถไฟ(ยัง)รักคุณ

09 ก.ย. 2559

คุณ(ยัง)รักรถไฟ รถไฟ(ยัง)รักคุณ : สมชาย สามารถ 

             เหตุคนร้ายวางระเบิดขบวนรถไฟขบวนรถเร็วที่ 176 สุไหงโก-ลก-หาดใหญ่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ถือเป็นความเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุด ต่อทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือโบกี้รถไฟฉีกขาด 2 ท่อน

             นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้แก่รางเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ไม้หมอนจำนวน 1,667 ท่อน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่การเดินทางด้วยรถไฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเดินทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

             “ผมยังเชื่อมั่นว่า ผู้บริสุทธิ์และประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ เขาคงไม่คิดจะทำร้ายอะไรรถไฟ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการรถไฟ ผมคิดว่าเขาหวังดี และให้ความร่วมมือกับการรถไฟฯ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่มากกว่าส่วนน้อยที่ค่อยก่อเหตุกับรถไฟ เพราะฉะนั้นเรายังมีกำลังใจจากผู้ใช้บริการของเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อยู่ เราจึงไม่หวั่นไหว ยังยินดีที่จะรับใช้ประชาชนต่อไป”

             บรรหาร โกบยาหยัง หัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต 5 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอกเล่าความรู้สึก ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งเล่าถึงความผูกพันที่มีระหว่างรฟท.กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

             “ความผูกพันระหว่างรถไฟกับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความผูกพันกัน ยกตัวอย่างนักเรียนที่เดินทางมาจาก อ.สุไหงโก-ลก ที่มาเรียนที่โรงเรียนอิสลามที่ตันหยงมัส ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ เดินทางมากับรถไฟวันละหลายร้อยคน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ใช้บริการรถไฟฟรี นั่งรถไฟฟรี แค่พกเงินสำหรับข้าวมื้อเที่ยงก็พอแล้ว”

             เมื่อรถไฟหยุดให้บริการ ลองนึกดูว่า นักเรียนเหล่านี้จะต้องเดือดร้อนกันอย่างไร ที่ต้องหันมาเดินทางโดยรถยนต์โดยสาร ซึ่งต้องควักค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับประมาณคนละ 100 บาท เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองที่ยังไม่รวมค่าอาหารประจำวันอีก ถามว่าคนเหล่านี้เขารักรถไฟมั้ย เขาก็รักรถไฟ แถมรถไฟยังให้บริการพวกเขาฟรีอีกด้วย

             สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการรถไฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประจำ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มขาประจำ เช่น นักเรียน กลุ่มนี้จะมากที่สุด กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และกลุ่มจับจ่ายในตลาดประจำวัน

             “กลุ่มนี้จะเดินทางจากสุุไหงโก-ลก มายะลา จากยะลาไปสุไหงโก-ลก จากสุไหงโก-ลก มาหาดใหญ่ จะเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มขาประจำซึ่งมีจำนวนคงที่ อาจจะเพิ่มขึ้นมาในส่วนของนักเรียนที่จะมีเพิ่มขึ้นบ้างในแต่ละปี ส่วนขาจรไม่ค่อยมี มีก็มีน้อย”

             นอกจากนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศยังมีกิจกรรมร่วมกับประชาชนสองแนวทางรถไฟระยะทาง 214 กิโลเมตร ซึ่งทำมาตลอดระยะเวลาเพื่อเข้าหามวลชน อย่างเช่นในวันสำคัญต่างๆ เราก็ร่วมกับ อบต. อบจ. หรือหมู่บ้าน ตำบล จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์

             โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันมอบของให้แก่มัสยิดที่อยู่สองข้างทางรถไฟตลอดระยะทาง 214 กิโลเมตร โดยในปีนี้ (2559) ได้มอบไปทั้งสิ้น 72 มัสยิด ผ่านองค์กรหลักของการรถไฟฯ เอง ก็คือชมรมมุสลิมภาคใต้ของการรถไฟฯ ที่หาดใหญ่

             “เรามีชมรม มีการรวบรวมปัจจัยจากสมาชิกในชมรมในแต่ละปี ซึ่งได้มาเป็นกอบเป็นกำ เราก็นำไปร่วมทำบุญ ร่วมละหมาดด้วยกัน ไปหุงหาอาหารกินกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เขาช่วยเป็นหูเป็นตาให้แก่รถไฟ ซึ่งตรงนี้ช่วยได้ระดับหนึ่ง”

             สำหรับความเชื่อมั่นในมาตรการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ อ.หาดใหญ่ จนถึง อ.สุไหงโก-ลก ระยะทาง 214 กิโลเมตร บรรหารบอกว่า มั่นใจในมาตรการของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย แต่ด้วยระยะทางที่ยาวมาก ก็ต้องเข้าใจว่าคนที่คอยหาช่องและโอกาสก็ยังมีความพยายามที่จะก่อเหตุจนได้

             “เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เขาดูแลอย่างเต็มที่ แต่ด้วยภารกิจของทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองเอง เขาก็ทำงานหลายๆ ด้านเหมือนกัน การที่จะเข้ามาดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้วในระยะทาง 214 กิโลเมตรเต็มพื้นที่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องมีบ้างที่หลุดรอดสายตาไปบ้าง”

             ขณะเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็มีมาตรการหลายๆ อย่างของการรถไฟฯ ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือตัวเอง นอกเหนือจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งกล้องวงจรปิด การทำกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ การทำรั้วรอบขอบชิดให้มีทางออกน้อยที่สุด

             รวมถึงการฝึกการป้องกันตัวของพนักงาน การใช้อาวุธ รวมไปถึงการจัดตั้งกองร้อยรักษาดินแดน หรือ อส.รถไฟ ในขณะเดียวกันป่าบริเวณสองข้างทางรถไฟที่มีเนินดินสูงๆ รฟท.ก็ตัดเนินดินออกเกือบจะหมดแล้วในขณะนี้ ยังเหลือบางจุดที่รถไม่สามารถเข้าไปนำดินออกจากพื้นที่ได้ เนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่าน

             นอกจากนี้ป่าสองข้างทางรถไฟ เราก็ยังได้เข้มงวดในการตัดให้ถี่ขึ้น มากกว่าพื้นที่ปกติ เพื่อไม่ให้มีหญ้ารกมาก ตามสถานีได้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างรอบๆ สถานี ทั้งส่องเข้าไปในบริเวณอาคารและนอกอาคาร หลายๆเรื่องที่เป็นมาตรการที่ทางการรถไฟฯ ช่วยเหลือตัวเองในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ

             คือความในใจของคนรถไฟ ในสถานการณ์ที่พวกเขาตกเป็นเป้า และอาจถูกมองไปว่า บริการสาธารณะอันอยู่ในวิถีชีวิตของคนใต้จะขาดไร้ซึ่งความปลอดภัย

140 เหตุ 55 ชีวิต

             เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยของการรถไฟฯ ตั้งแต่ อ.หาดใหญ่ จนถึง อ.สุไหงโก-ลก เกิดเหตุครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559

             มีจำนวนทั้งสิ้น 140 เหตุการณ์ ทั้งการวางระเบิด ยิงเจ้าหน้าที่ ลอบทำลายอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 55 ราย ผู้บาดเจ็บ 207 ราย โดยกลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ประกอบด้วย 1.กลุ่มพนักงานการรถไฟฯ 2.กลุ่มผู้ใช้บริการรถไฟ และ 3.กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลรถไฟ