คอลัมนิสต์

ลงทะเบียนคนจน...ใครได้ “3 พันบาท”?

ลงทะเบียนคนจน...ใครได้ “3 พันบาท”?

29 พ.ย. 2559

งบประมาณแผ่นดิน 1.27 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท ใครได้ประโยชน์? : โดย ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

            หลังจากรัฐบาลมีมติผ่านงบประมาณฉุกเฉิน 1.27 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรายละ 3,000 บาท ตามข้อมูลที่ได้รับจาก โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “ลงทะเบียนคนจน” การแจกเงินครั้งนี้กลุ่มไหนมีสิทธิได้รับบ้าง...

            ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสวัสดิการช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือมาตรการช่วยเหลือคนจนที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท จึงให้กระทรวงการคลังดำเนิน โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 

            ใครมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท ให้ไปต่อคิวลงทะเบียนผ่าน 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย โดยกำหนดช่วงเวลาไว้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ช่วงระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559

            ด้วยระยะเวลาเพียง 1 เดือน ที่ชักชวนให้ลงทะเบียน แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ลงแล้วจะได้อะไร ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เมื่อสอบถามไปที่ธนาคารก็ได้รับข้อมูลเพียงว่า กรอกข้อมูลให้รัฐบาลนำไปจัดทำฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย”  

            ผู้มีสิทธิลงทะเบียนได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.สัญชาติไทย 2.อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 3.ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ในปี 2558 ส่วนหลักฐานที่ใช้ในการลงทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อม “ใบสมัครลงทะเบียน” และต้องไปด้วยตัวเอง ยกเว้น 1.คนพิการ 2.คนป่วย และ 3.ผู้มีอายุ 70 ขึ้นไป สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปลงแทนได้

            หลังครบกำหนดเวลา 1 เดือน ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.3 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านคน และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน หากแบ่งตามธนาคารพบว่า มีผู้มาลงทะเบียนที่ “ธ.ก.ส.” 4.6 ล้านคน (55.6%) “ธ.ออมสิน” 2.6 ล้านคน (31%) “ธ.กรุงไทย” 4.6 ล้านคน (55.6%)

            ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (ThaiPublica.org) ที่ทำตารางแจกแจงจำนวนอาชีพผู้มาลงทะเบียน ระบุว่ามีอาชีพเกษตรกรประมาณ 2.9 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรผู้ปลูกพืช 2.78 ล้านคน (33.5%) เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 39,007 คน (0.5%) เกษตรกรผู้ทำประมง 22,131 คน (0.3%)

            ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคนนั้น กลุ่มที่มากที่สุดคือ “รับจ้างทั่วไป” 2.7 ล้านคน (32.5%) “ว่างงาน” 1.48 ล้านคน (17.8%) “พ่อบ้าน-แม่บ้าน” 5 แสนคน (6%)

            แต่ข้อมูลที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ คือ มีผู้มาลงทะเบียนและระบุว่าเป็น เจ้าของธุรกิจจำนวน 203,860 คน หรือประมาณร้อยละ 3.1 มากกว่าผู้มากรอกข้อมูลว่าเป็น “ลูกจ้างเอกชน” ที่มีเพียง 158,041 หมื่นคน หรือร้อยละ 1.9 ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เป็น ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวน 3.7 หมื่นคน หรือร้อยละ 0.4 รวมคนกลุ่มนี้มีประมาณ 4 แสนคน

            จำนวนตัวเลข 4 แสนรายข้างต้นจากทั้งหมด 8.3 ล้านราย หรือประมาณ ร้อยละ 4.8 ของผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดนั้น ดูเหมือนจะไม่มากนัก

            แต่ปรากฏว่าหลังจากรัฐบาลประกาศ “แจกเงินฉุกเฉิน” 1.27 หมื่นล้านบาท หรือ เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร” ให้ตามข้อมูลของผู้มาลงทะเบียนข้างต้น

            ทำให้หลายฝ่ายเริ่มรู้สึกว่า เงิน “1.27 หมื่นล้านไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง !?!

            วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการช่วยเหลือคนจน หรือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 5.4 ล้านคน โดยผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาท มีทั้งหมด 3.1 ล้านคน ส่วนผู้มีรายได้ 3 หมื่นขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท มีจำนวน 2.3 ล้านคน รวมเป็นเงิน 12,750 ล้านบาท โดยกำหนดแจกเงินตั้งแต่1-30ธ.ค.2559

            หมายความว่า ผู้มีรายได้น้อยทั้งเจ้าของธุรกิจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินแจกปีใหม่ แต่เกษตรกรไม่มีสิทธิ์ได้รับเงิน 3,000 บาท เพราะรัฐบาลถือว่ามีโครงการช่วยเหลืออย่างอื่นแล้ว เช่น โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ

            อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึงการที่เกษตรกรไม่อยู่ในกลุ่มผู้รับเงิน 1.27 หมื่นล้านบาท ว่า การใช้วิธีลงทะเบียนแบบนี้ไม่ใช่วิธีการเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริง ไม่ได้ทำให้รู้ว่าใครคือผู้มีรายได้น้อยและเหมาะสมที่จะรับสวัสดิการของรัฐ เหมือนกับให้ อบต.ไปแจกผ้าห่ม หลายครอบครัวก็ไม่รับแม้ว่าจะยากจน เพราะเขามีผ้าห่มเพียงพอแล้ว

            “เกษตรกรที่ไปลงทะเบียนคงไม่รู้ว่าจะได้อะไร เงินส่วนนี้คนละ 3,000 บาท ก็ไม่ค่อยมีคนพูดถึง หรือร้องเรียนมาว่าอยากได้ พี่น้องเกษตรกรคงไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร รัฐบาลใช้วิธีนี้เพื่อกระตุ้นตัวเลขจีดีพี เพราะจีดีพีเป็นเครื่องมือของอำนาจ เป็นตัวเลขของกลุ่มทุนนิยม อยากให้เอาเงินหมื่นล้านนี้มาช่วยให้คนได้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เอาไปใช้จ่ายแค่ซื้อของกินของใช้ การเพิ่มสวัสดิการที่ยั่งยืน คือ การหาวิธีเพิ่มการจ้างงาน หางานที่พวกเขาไม่ต้องพึ่งพานายทุนหรือโรงงาน”

            สอดคล้องกับ สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์  เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ แสดงความเห็นว่า เป็นการแจกเงินปีใหม่ เพื่อช่วยกลุ่มนายทุนมากกว่าเพื่อสวัสดิการของคนจนอย่างแท้จริง 

            “ที่อ้างว่าจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบนั้น น่าจะหมุนเวียนไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ขายเครืองดื่มแอลกอฮอล์ ห้างใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ เงิน 3,000 บาท น่าจะเรียกว่าแจกเงินกินขนม มากกว่าเรียกว่า เงินสวัสดิการ ทั้งที่ชื่อคือ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การแจกเงินแบบนี้ ไม่ได้ทำให้คนมีรายได้น้อยหรือคนด้อยโอกาสมีสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น การอ้างว่าถ้าคนซื้อสินค้า แล้วทำให้ห้างร้านอยู่ได้ พนักงานขายไม่ตกงาน โรงงานไม่ปิด แรงงานไม่ขาดรายได้ ข้ออ้างเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดสวัสดิการยั่งยืน ถ้าโรงงานที่ดีไม่เอาเปรียบแรงงาน พวกเขาก็ไม่ปิดตัวง่ายๆ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โรงงานที่กดขี่แรงงานต่างหากมักปิดตัวได้ง่าย ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลูกจ้างโรงงานเหล่านี้ตกงานทันที รัฐควรเอาเงินไปช่วยพวกเขาให้ได้งานใหม่หรืออาชีพใหม่ที่ดีกว่าเป็นลูกจ้างในโรงงาน ค่าแรงที่ได้แต่ละวันก็ไม่พอค่ากินอยู่หรือเลี้ยงดูครอบครัว”

            นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนพิการข้างต้นได้เสนอสวัสดิการสำหรับคนพิการในประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ว่า หากเอาเงิน 1.27 หมื่นล้านบาท มาจัดเป็นสวัสดิการด้านอาชีพ เช่น เงินทุนทำมาค้าขาย หรือผลิตสินค้าต่างๆ การเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ เพิ่มทักษะอาชีพ หรือหาตลาดให้พวกเขา คือการลดการพึ่งพิงครอบครัว เมื่อคนพิการมีรายได้มากขึ้น สามารถเอาเงินไปหมุนเวียนในตลาดเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาสวัสดิการของรัฐที่ทำผ่าน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ นั้น ไม่เคยทำแบบบูรณการอย่างแท้จริง เป็นโครงการต่างคนต่างทำ

            แม้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความเป็นห่วงการแจกเงินของรัฐบาล แต่ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลเชื่อว่า เป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งมีผลดีช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียนตามจริง และคาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนทุกปีด้วย 

            สำหรับคนที่พลาดโอกาสในปีนี้ไปแล้ว การเปิดให้ลงทะเบียนปี 2560 คงมีผู้สนใจไปลงทะเบียนเพิ่มขึ้น หลังจากเห็นนโยบาย “แจกเงินปีใหม่ 3,000บาท” แต่ขอให้พิจารณาส่วนท้ายของใบสมัครให้ดี เพราะมีการกำหนดให้ลงชื่อ “รับรอง” ไว้เป็นหลักฐาน ว่าไม่ได้โกหกข้อมูลด้านอาชีพและรายได้หรือทรัพย์สิน มิเช่นนั้นจะโดนบทลงโทษที่ระบุไว้ว่า

            "หากข้อมูลข้างต้นไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้ระงับสวัสดิการและประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งคืนเงินที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยและตัดสิทธิของข้าพเจ้าในการรับสวัสดิการในอนาคต...

            สำหรับพลเมืองดีที่พบเห็นและมีหลักฐานแน่ชัดว่า คนที่ได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 3,000 บาท หรือ 1,500 บาท ไม่ได้เป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1 แสนบาท สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทรศัพท์ 0-2273-9020 ต่อ 3561 หรือ 3512 หรือ 3511 

            ลงทะเบียนคนจน...ใครได้ “3 พันบาท”?

บทลงโทษข้อมูลเท็จ! ...ใบสมัครผู้มีรายได้น้อย”

            ที่ผ่านมารัฐบาลไทยหลายยุคสมัยเปิดให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเกษตรกรผู้ยากไร้มาขึ้นทะเบียนหลายครั้ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดหาความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสภาวะหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

            ล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2559 รัฐบาล คสช.จัดให้มีการลงทะเบียนอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี หรือประมาณวันละ 300 บาท

            โดยการลงทะเบียนครั้งนี้ แม้ว่าใบสมัครจะมีเพียง 1 หน้ากระดาษ แต่เนื้อหาข้อมูลที่ต้องกรอกลงในใบสมัครค่อนข้างละเอียด เริ่มจาก การระบุ “รายได้ทั้งสิ้นในปี 2558” โดยแบ่งเป็นช่วงรายได้ 9 ช่วงด้วยกัน ตั้งแต่ “1–10,000บาท” จนถึง “90001-100,000 บาท”

            ในส่วนของอาชีพนั้น มีการระบุเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และทำประมง ส่วนผู้ไม่ใช่เกษตรกร มีทั้ง เจ้าของธุรกิจ รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างทำงานในบ้าน แม่บ้าน/พ่อบ้าน เรียนหนังสือ พนักงานลูกจ้างเอกชน ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้ที่ไม่มีงานทำสามารถเลือกช่อง “ว่างงาน”

            แต่ส่วนของใบสมัครที่อาจสร้างความสับสนให้แก่ชาวบ้านทั่วไป คือ ช่องตารางที่ให้ระบุ “ทรัพย์สินทางการเงิน มูลค่า ณ วันที่ลงทะเบียน โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

            1.เงินฝากธนาคาร/สลากออมสิน/สลาก ธ.ก.ส.

            2.พันธบัตร/ตราสารหนี้

            3.หุ้นสามัญ/หุ้นบุริมสิทธิ์/หน่วยลงทุนในกองทุน

            4.อื่นๆ

            นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งช่องตารางให้ระบุจำนวนมูลค่าทรัพย์สิน ทั้ง 4 รายการข้างต้น เริ่มจากช่อง “1–30,000 บาท” จนถึง ช่องที่มี “มากกว่า 3 ล้านบาท”

            ข้อมูลที่ต้องระบุนั้น ไม่ได้มีเฉพาะรายได้เท่านั้น แต่มีส่วนของ “เงินกู้” หรือ ช่องให้กรอกข้อมูล “หนี้สิน ณ วันที่ลงทะเบียน”แบ่งเป็น 3 ประเภท

            1.เงินกู้นอกระบบ 2.มีการใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน/ขายฝาก หรือไม่ และ 3.เงินกู้ในระบบ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อการเกษตร/ประกอบธุรกิจ หนี้เพื่อการอุปโภค/บริโภคอื่น หนี้เพื่อซื้อบ้านและหรือที่ดิน

            เมื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวเสร็จสิ้น ด้านล่างของใบสมัครมีส่วนให้ลงนามเพื่อ “รับรอง” ว่าข้อมูลที่แจ้งไว้ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงทุกประการ และ “ยินยอม” ให้สถาบันการเงินหรือกรมสรรพากรเปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อความด้านล่างนี้

            "ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อมูลข้างต้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ หากข้อมูลข้างต้นไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้ระงับสวัสดิการและประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งคืนเงินที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยและตัดสิทธิของข้าพเจ้าในการรับสวัสดิการในอนาคต และข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน และกรมสรรพากรเปิดเผยหรือให้ข้อมูลของข้าพเจ้าแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจัดสรรสวัสดิการและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายของรัฐ โดยให้ถือว่าคู่ฉบับและบรรดาสำเนา ภาพถ่าย ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือโทรสารที่ทำขึ้นจากหนังสือให้ความยินยอมฉบับนี้ เป็นหลักฐานในการให้ความยินยอมของข้าพเจ้า เช่นเดียวกัน

            รัฐบาลประกาศว่า มีผู้มาลงทะเบียนตามโครงการข้างต้นนี้จำนวน 8.3 ล้านคน หากใครตกงานหรือกลายเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี แล้วพลาดการลงทะเบียนในปี 2559 รัฐบาลอาจเปิดโครงการนี้อีกครั้ง ในปี 2560

            แต่ที่ต้องระมัดระวังคือ ใครไม่จนจริง หรือมีรายได้เกินวันละ 300 บาท แล้วไปแอบลงทะเบียน จะโดนลงโทษตามที่ระบุไว้ชัดเจนในใบสมัครว่า

            “ระงับสวัสดิการและประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งคืนเงินที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยและตัดสิทธิในการรับสวัสดิการในอนาคต”