หลังจากเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดมีนบุรี ได้อ่านคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจิรศักดิ์ หรือ จี กลิ่นคล้าย อายุ 35 ปี อาชีพรับจ้าง เป็นมือปืน, นางสุรางค์ ดวงจินดา อายุ 74 ปี มารดาของ พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม, พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 40 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว อดีตภรรยาของ นายจักรกฤษณ์ หรือ เอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย, นายสันติ หรือ อี๊ด ทองเสม อายุ 30 ปี อาชีพทนายความ และ นายธวัชชัย หรือ อ้น เพชรโชติ อายุ 35 ปี อาชีพรับจ้าง ผู้ขี่รถจักรยานยนต์พามือปืนก่อเหตุ เป็นจำเลยที่ 1 - 5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, จ้างวานใช้ ยุยงส่งเสริม ให้ฆ่า, มีและพกพาอาวุธปืน ยิงอาวุธปืนในที่ทางสาธารณะ
และศาลมีนบุรี ได้มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต พ.ญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ (หมอนิ่ม) จากการที่เป็นผู้ว่าจ้างให้ฆ่า นายจักรกฤษณ์ หรือเอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ซึ่งเป็นสามีของตนเอง โดยมีมูลเหตุจูงใจจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากผู้เป็นสามี มานาน ไม่ว่าจะเป็นการพาผู้หญิงอื่นมาค้างที่บ้าน, การไม่ให้เกียรติผลักศีรษะ พ.ญ.นิธิวดีหรือหมอนิ่ม และท้าทายให้เลิกกันต่อหน้าผู้หญิงอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์กับนายจักรกฤษณ์
ทำให้มีหลายคนสงสัยว่า ทำไม “หมอนิ่ม” ไม่ได้รับการลดโทษจากที่ถูกข่มเหงร่างกายและจิตใจจากสามี บ้างเลยหรือ
**Battered Wife Syndrome**
ในขณะเดียวกัน มีงานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่าผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะมีอาการทางจิต อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Battered Wife Syndrome หมายถึง ลักษณะอาการที่เกิดกับภรรยาที่ถูกสามีทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก จนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ อาจเกิดภาวะซึมเศร้า สูญเสียคุณค่าในตัวเองหรือก้าวร้าว และตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงได้ หากมองไม่เห็นทางออกอื่น
ภรรยาที่ตกอยู่ในอาการ Battered Wife Syndrome และกลายเป็นฆาตกรฆ่าสามีตัวเอง จึงถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรม โดยมีมูลเหตุที่เป็นความกดดันทางจิตใจ แม้จะมีความพยายามรณรงค์ให้ผู้หญิงเลิกอดทน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทนเพราะรักหรือทนเพื่อลูกก็ตาม เพราะการทนไม่ใช่คำตอบ และอาจเสี่ยงเป็นอาชญากรเสียเองเมื่อความอดทนถึงขีดสุด เพราะสุดท้าย“ภรรยา” ก็กลายเป็น“ฆาตกร” ฆ่า “สามี”ตัวเอง ต้องถูกดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมาย
สำหรับในสังคมไทย ก็มี “ผู้หญิง” จำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่ในภาวะที่จำทน ถูกสามีซ้อมทำร้ายร่างกายอยู่เป็นประจำ, ถูกทำร้ายจิตใจด้วยการที่สามีีมี“เมียน้อย” แต่ก็จำต้องอยู่กินด้วยกันต่อไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น เพื่อลูกหรือเพื่อความรัก แต่วันหนึ่งเมื่อความอดทนสิ้นสุดลง “ภรรยา” ก็ตกเป็น “จำเลย” ฆ่า “สามี” ตัวเองไปเสียแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
แน่นอนว่าคงมี“คำถาม”อันเกิดจากการเห็นใจ“ผู้หญิง”ตามมาว่า กรณีที่“ผู้หญิง”ตอบโต้กลับ“ผู้ชาย” ที่เป็นสามี จน“สามี”ถึงแก่ความตาย เพราะทนถูกข่มเหงร่างกายและจิตใจไม่ไหว ไม่มีเหตุลดโทษ ให้กับ“ผู้หญิง” บ้างเลยหรือ
**อ้าง “บันดาลโทสะ – ป้องกันตัว” ได้ **
“ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลฎีกา” ท่านหนึ่ง ได้ตอบคำถามไว้ว่า.. มีเหตุลดโทษได้ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ เช่น มาตรา 72 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
หมายความว่า กรณีที่ “ผู้หญิง”ถูกสามี เตะ ต่อย ทำร้ายร่างกาย หากทนไม่ไหว เกิดอารมณ์โมโหชั่ววูบในขณะที่ถูกทำร้าย อาจตอบโต้กลับได้ เช่น ใช้มีดแทงสวนกลับ เพราะ“ผู้ชาย” ร่างกายแข็งแรงกว่า “ ผู้หญิง” จะสู้ด้วยมือเปล่า คงไม่ไหว และหากการใช้“มีด” แทงสวนกลับนั้นเกิด “สามี” เสียชีวิต ก็อาจอ้างต่อศาลได้ว่า กระทำโดยบันดาลโทสะต่อศาล ตามมาตรา 72 ซึ่งหากศาลเห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์ ตามกฎหมายก็จะ“ลดโทษ”ให้
หรือ ถ้าการทำร้ายร่างกายของ“สามี” อาจถึงขั้นทำให้“ภรรยา” เสียชีวิต ได้ ทาง “ภรรยา” ก็สามารถอ้างว่า “ ป้องกันตัว” ตามมาตรา 68 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
หรือแม้ว่าการที่ “สามี” ทำร้าย“ภรรยา” นั้นจะไม่ถึงขั้นทำให้ภรรยาเสียชีวิตได้ แต่“ ภรรยา” ใช้มีดแทงกลับ ขณะถูกร้ายทำให้“สามี” เสียชีวิต ภรรยาก็ยังอ้างมาตรา 69 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติิว่าถ้าผู้กระทำได้ทำการป้องกันตัวโดยเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
แต่ทั้งกรณีที่จะอ้างว่า“บันดาลโทสะ”หรือ“ ป้องกันตัว” ได้ ต้องเป็นการ“ตอบโต้” กลับทันที ในขณะที่“ถูกข่มเหง”หรือมี“ภัยอันตราย”นั้น และ“ต้องทำด้วยตัวเอง” ไม่ใช่ปล่อยให้การถูกข่มเหงทางร่างกายและจิตใจผ่านไปเนิ่นนาน แล้วมาคิดแก้แค้นในภายหลังหรือไปจ้างให้คนอื่นมาทำร้าย“สามี”...กลายเป็นการ“แก้แค้น”กลับ อย่างกรณี“หมอนิ่ม” ที่ไปจ้างคนมาฆ่าสามีเพราะถูกสามีข่มเหงร่างกายและจิตใจ จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการลดโทษเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว และต่อให้รับสารภาพ ก็ไม่สามารถอ้างเหตุที่ถูกข่มเหงฯมาขอลดโทษ
** จำเลย"ปฏิเสธ"ในศาลชั้นต้น แต่ในชั้นอุทธรณ์-ฎีกา เปลี่ยนเป็น “รับสารภาพ” ได้หรือไม่**
คำตอบ คือ ทำได้ แต่เท่ากับว่า ไม่อุทธรณ์-ฎีกา ต่อสู้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยจะอ้างเหตุในการเปลี่ยนเป็น“รับสารภาพ” ขอลดโทษไม่ได้ เพราะการ“รับสารภาพ”ต้องกระทำตั้งแต่ศาลชั้นต้น
อธิบายๆง่าย ก็คือ การที่ในชั้นอุทธรณ์ -ฎีกา จำเลย เปลี่ยนเป็น “รับสารภาพ” จากเดิมที่เคยให้การ“ปฏิเสธ” ในศาลชั้นต้น และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่า กระทำผิดนั้น ก็คือการขอให้ “ลดโทษ ” นั่นเอง เพราะในทางปฏิบัติ ในกรณีที่จำเลยเปลี่ยนเป็น"รับสารภาพ ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อ "จำเลย " ยื่นคำอุทธณ์หรือฎีกา ก็จะอ้างเหตุขอลดโทษไปด้วย เช่น อ้างว่า ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน,มีความจำเป็นต้องดูแลครอบครัว หรือเคยทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศาลจะใช้ดุลยพินิจลดโทษให้กับจำเลยตามเหตุที่ี่อ้างร้องขอหรือไม่ แต่หากมีการลดโทษให้ ก็ไม่ใช่เหตุมาจากจำเลย" รับสารภาพ " แต่เป็นเหตุอื่นตามทีี่ยกตัวอย่างมาแล้ว
****************************
เหตุในการลดโทษ- ไม่ผิด
-ถูกข่มเหงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม ตอบโต้กลับทันที อ้างบันดาลโทสะ ตาม ม.72 ป.อ. อาญา
- ป้องกันตนเอง เพราะมีภัยอันตรายในขณะนั้น ตาม ม. 68
ไม่มีเหตุลดโทษ
- เก็บความเครียดแค้นสามีที่ข่มเหงร่างกายและจิตใจ แล้วแก้แค้นภายหลัง