คอลัมนิสต์

โรคชอบขโมย หรือ Kleptomania

โรคชอบขโมย หรือ Kleptomania

25 ม.ค. 2560

ฉาวโฉ่ขึ้นมาทันที เมื่อมีข่าวออกมาว่าข้าราชการระดับรองอธิบดีของไทย ถูกทางการญี่ปุ่นควบคุมตัวเนื่องจากไปขโมยภาพวาดของโรงแรม

 

            ฉาวโฉ่ขึ้นมาทันที เมื่อมีข่าวออกมาว่าข้าราชการระดับรองอธิบดีของไทย ถูกทางการญี่ปุ่นควบคุมตัวเนื่องจากไปขโมยภาพวาดของโรงแรม

            ทางกระทรวงพาณิชย์ ออกมายอมรับว่า ข้าราชการคนดังกล่าว เป็น "รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา" ถึงแม้ว่าในการแถลงของกระทรวงพาณิชย์จะเลี่ยงที่จะบอกชื่ออกมา แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วแล้วว่าเขาคือใคร

            โรคชอบขโมย หรือ Kleptomania

 

            สิ่งที่เป็นคำถามทันทีคือ ทำไมคนระดับรองอธิบดีจึงกระทำการเช่นนี้ โดยเฉพาะเป็นรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยิ่งเป็นคำถาม

            จากข้อมูลเบื้องต้น บอกว่าภาพที่ถูกขโมยทั้ง 3 ภาพนี้มีมูลค่า 15,000 เยน คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ถึง 5,000 บาท

            รูปสวยขนาดไหน ทำไมรองอธิบดีฯอยากได้ขนาดนั้น?

            กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ทั่วโลกมีมานานแล้ว ในทางการแพทย์ เรียก โรคชอบหยิบฉวย หรือโรคชอบขโมย ว่า Kleptomania ที่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต เพราะความจริงคนเหล่านี้มีเงินใช้จ่ายสบายๆ แต่ชอบขโมย

            ที่ทางการแพทย์อธิบายว่าเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่ง คนเหล่านี้จะไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้นที่จะลักขโมย แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่ใช่ของมีราคา แต่ผู้ป่วยก็สามารถหยิบฉวยติดมือได้โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน หรือไม่ได้ขโมยของเพราะต้องการทรัพย์สินเงินทอง แต่เพราะควบคุมอารมณ์ไม่ได้เท่านั้นเอง และเป็นการลงมือกระทำคนเดียว
            จากข้อมูล พบว่า ผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania กว่า 75% เป็นเพศหญิง ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกิดความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารบางอย่างออกมา เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิก และโรคบูลิเมีย (โรคที่คิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ตลอดเวลา จึงมักจะทานอาหารเข้าไปแล้วล้วงคอออกมา) 

            โรคชอบขโมย หรือ Kleptomania

อาการของโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania

  •  มักจะขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร
  • ก่อนลงมือ ผู้ป่วยจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • หลังจากลงมือขโมยของแล้ว จะรู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายลง
  •  เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมารู้สึกผิด เสียใจ เพราะผู้ป่วยทราบว่า การหยิบขโมยของเป็นเรื่องผิดต่อศีลธรรมและกฎหมาย แต่กลับกันอาจมีบางรายที่อาจไม่รู้สึกอะไรเลยจากพฤติกรรมนั้นก็เป็นได้
  •  ผู้ป่วยที่ขโมยของมาแล้วอาจนำของไปเก็บไว้ หรือทิ้งไป หรือเอาไปคืนที่เดิม

          ทั้งนี้ ในทางจิตวิทยายังมีการวิเคราะห์ด้วยว่า การที่ผู้ป่วยขโมยของในห้างสรรพสินค้า แล้วทำให้พ่อแม่ได้รับความอับอาย เหมือนกับเป็นการแก้แค้น เนื่องจากไม่พอใจบุคคลบางคนที่มีอำนาจในชีวิต เช่น พ่อแม่ ก็เป็นได้

การรักษาโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania

            จากการวิจัย โรคนี้ไม่ตอบสนองกับการรักษาใด ๆ เพราะแม้ผู้ป่วยจะเคยถูกจับกุมจากการกระทำเช่นนี้หลายครั้งแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ไม่สามารถห้ามใจไม่ให้หยิบฉวยในครั้งต่อๆ ไปได้
          อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า การรักษาบำบัดอาการของผู้ป่วยด้วยการใช้ยาร่วมกับ "วิธีจิตบำบัด" โดยแพทย์ นักจิตวิทยา จะรับฟังอาการของผู้ป่วย ด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยว่า อาการนี้สามารถรักษาให้หายได้หากตั้งใจจะรักษา นอกจากนี้ ยังต้องใช้ "วิธีพฤติกรรมบำบัด"ด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยกลับมาสู่ความเป็นจริง ให้รู้จักเหตุผล รู้จักกฎ กติกา ศีลธรรมอันดี โดยครอบครัวและญาติของผู้ป่วย ควรจะเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการให้กำลังใจผู้ป่วยที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย
          ในวงการแพทย์พบข้อมูลเกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคนี้น้อยมาก แต่เชื่อว่าการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพดี สร้างสัมพันธภาพด้านบวกกับเด็กอย่างใกล้ชิด และจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างมีไหวพริบ ใช้เหตุผล จะช่วยทำให้อาการของโรคทางจิตเวชลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com