คอลัมนิสต์

งบกลาง 1.9 แสนล้าน หวังผลสิ่งใด ? 

งบกลาง 1.9 แสนล้าน หวังผลสิ่งใด ? 

27 ม.ค. 2560

เปิดงบกลาง 1.9 แสนล้าน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หวังผลสิ่งใด

 

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 หรือ ร่าง พ.ร.บ. งบกลางปี 60 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท" ตามที่รัฐบาลเสนอเนื้อหาให้พิจารณาไปแล้ว

          อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกยุคสมัยของรัฐบาลมักจะมีการเสนอขอ งบเพิ่มเติม ช่วงกลางปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการหรือนโยบายที่จำเป็น แต่ในรอบนี้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมาก จากทั้งฝั่งของ “สมาชิก สนช.” เอง ถึงประเด็นความเร่งรีบเสนอของบกลางปี ทั้งที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 วงเงิน 2.73 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งได้รับอนุมัติเพิ่งถูกใช้ไปเพียงไตรมาสแรกของปีงบประมาณเท่านั้น

          ขณะเดียวกันในวงเงินงบกลางปี 60 ที่รัฐบาลเสนอขอจำนวน 1.9 แสนล้านบาทนั้น ยังถูกแจกแจงว่า มาจากรายได้ของรัฐที่จัดเก็บเข้าเป้าจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1.62 แสนล้านบาท จะมาจากการกู้ยืมเงิน ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมากว่า จะทำให้วงเงินกู้ของประเทศเกินกรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่

          แม้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” จะชี้แจงว่า ยอดเงินที่จะกู้เพิ่มเติม 1.6 แสนล้านบาท และที่กู้ไปแล้วในงบปี 60 จำนวน 6.5 แสนล้านบาท ทำให้หนี้ของรัฐในปี 2560 จะอยู่ในระดับ 44 ของดัชนีมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งไม่สูงไปกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลกที่เงินกู้ไม่ควรเกินระดับ 60 ของจีดีพี พร้อมกับย้ำว่า การขออนุมัติงบประมาณกลางปี 2560 นั้น มีความสำคัญเพื่อรักษาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

          แต่สิ่งที่ยังคาใจของ “สมาชิก สนช.” คือ การใช้งบประมาณที่เสนอขอ จะคุ้มค่าและบรรลุเป้าหมายมากเพียงใด

          สำหรับรายละเอียดถูกจำแนกเป็น 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจัดสรรงบประมาณไว้ 1.25 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.ใช้ในแผนบูรณาและเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน 1.15 แสนล้านบาท จำแนกรายละเอียดไว้ 3 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในส่วนงบกลาง จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท, โครงการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด อยู่ในส่วนกระทรวงมหาดไทย จำนวน 7.5 หมื่นล้านบาท และโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 หมื่นล้านบาท และ 2.แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน จำนวน 1 หมื่นล้านบาท โดยงบประมาณส่วนนี้ถูกจัดสรรให้ใช้ในโครงการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

          นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตภายใน จัดสรรงบประมาณไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างอาชีพ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านทางกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมีสำนักงานเลขาธิการนายกฯ รับผิดชอบงบประมาณทั้งก้อน

          สำหรับงบประมาณส่วนที่ขอจัดสรร 5 หมื่นล้านบาท กำหนดให้ใช้จ่ายรองรับกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท และใช้ในแผนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท

          หากดูตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่เป็นหลักของการจัดทำงบประมาณ หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อทำโครงการในด้านเศรษฐกิจ อย่างน้อยเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น 

          แต่จากการอภิปรายของ “สนช.” ในช่วงวาระรับหลักการ ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมากต่อประเด็นความแอบแฝงของการเสนอของบประมาณ โดยเฉพาะการจัดสรรงบลงไปยังกลุ่มจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นการจ้างงานแบบเบี้ยหัวแตก และหลายโครงการเป็นกิจการเฉพาะหน้า มากกว่าการคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

          จากการค้นรายละเอียดของโครงการที่เสนอขอจัดสรร พบว่าหลายโครงการเข้าทำนอง “หาเสียง และซื้อเสียงล่วงหน้า” เหมือนที่ยุคของ “รัฐบาลเลือกตั้ง” ถูกวิจารณ์จากคณะผู้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ทั้งจากฝ่ายรัฐสภา หรือนักกฎหมายด้านการเงิน-งบประมาณ โดยเฉพราะการจัดสรรงบประมาณลงไปยังจังหวัด!

          โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดนั้น ถูกจัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนมากถึง 7.5 หมื่นล้านบาท และยังถูกเสริมในส่วนของงบเพื่อแก้ไขความยากจนอีกบางส่วน เกือบเต็มจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท

          แต่รายละเอียดของโครงการส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน หรือ สินค้าโอท็อป อาทิ การสร้างศูนย์จำหน่าย, จัดอบรม สัมมนา ฝึกอบรม, จ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์, ขณะที่การยกระดับคุณภาพชีวิตถูกเน้นในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำ ซ่อม สร้าง ปรับปรุงถนน สะพาน และไฟฟ้าส่องสว่าง รวมถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการเฉพาะด้าน เช่น บ่อดักไขมัน ส่วนด้านการท่องเที่ยว ถูกเน้นไปในเรื่องพัฒนาภูมิทัศน์ ว่าจ้างบุคลากรให้เป็นที่ปรึกษา หรือศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรม ส่วนประเด็นเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ถูกเน้นในด้านเกษตรกรรม และประมง ในส่วนของการจัดอบรม สัมมนา และจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรหรือประมง

          ขณะที่การลงทุน มีรายละเอียดที่เน้นเรื่องการสร้างอาคาร  ศูนย์แสดงสินค้าและเส้นทางที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อบ้าน

          ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มจังหวัดที่เสนอขอจัดสรรงบประมาณ แม้จะอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่กลับพบว่ามีระยะเวลาดำเนินงานที่ไม่เท่ากัน เช่น ในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอกว่า 4,000 ล้านบาท กำหนดใช้งบประมาณ 4 ปี โดยจะต้องผูกพันต่อเนื่องไปทุกปี, กลุ่มจังหวัดภาคใต้ เสนอขอกว่า 4,000 ล้านบาท แต่มีระยะใช้งบประมาณ 8 เดือน เป็นต้น

          ดังนั้นสิ่งที่จะคาดหวังกับการใช้จ่าย “งบกลาง ปี 2560” ถูก “สนช.” ติติงแบบรักษามารยาทว่า ไม่สามารถหวังผลในระยะยาวได้ แม้จะมีผลชี้วัดของโครงการที่ขอจัดสรรงบประมาณ แต่เป็นเพียงเป้าหมายที่กิจกรรมบางอย่างไม่สามารถนำพาให้บรรลุเป้าหมายได้ 

          อาทิ การจัดซื้อรถดูดฝุ่น, การจัดจ้างที่ปรึกษาและออกแบบโครงการทำเส้นทางรถไฟ, ทำทางจักรยานริมชายฝั่ง หรือ ริมแม่น้ำ รวมถึงนำโครงการที่ถูกตัดงบประมาณครั้งช่วงเสนอของบประมาณประจำปี 2560 กลับมายัดใส่ในร่าง พ.ร.บ.งบกลางปี 2560 อีกครั้ง ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณกลางปีนั้น ขาดคุณภาพและไร้ประสิทธิภาพในอนาคต และอาจทำให้เงินภาษีของประชาชนรั่วไหลออกไปในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

          แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ การหวังผล แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า หวังผลให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง สร้างการพัฒนา การจ้างงาน ประชาชนมีศักยภาพในการใช้จ่าย แต่สิ่งที่ต้องยอมรับความจริง คือ การหว่านเงินรอบนี้ คือการหวังผลทางการเมือง ที่เป็นปัจจัยประคองเสถียรภาพของรัฐบาล ยามที่ภาวะเศรษฐกิจไทย และสถานะของ “คสช.” แทบพยุงตัวไม่รอด.

 -----------

งบกระตุ้นศก.ถือว่ายังน้อยไป

          “จุติ ไกรฤกษ์” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ว่า โดยหลักการแล้ว งบกลางเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบริหารงานของรัฐบาล บางครั้งก็อาจจะมีเหตุฉุกเฉินที่คาดไม่ถึง ก็ต้องใช้งบส่วนนี้เพื่อประเทศชาติ แต่ก็ต้องมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และรัฐบาลก็ต้องรายงานให้สภาทราบเป็นระยะว่า ใช้งบไปอย่างไรบ้าง การตั้งงบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท เห็นว่าจำนวนเงินยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นและสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศได้ ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องทำหลายมิติด้วย ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งออก การท่องเที่ยว เป็นต้น ลำพังการตั้งงบเพียงส่วนนี้ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี

          ส่วนจะเป็นการหาเสียงล่วงหน้าไหม นายจุติ กล่าวว่า ไม่ได้มองว่า คสช.จะลงเลือกตั้งในอนาคต คงไม่ใช่งบหาเสียงแน่ หากแต่เป็นงบที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เอาใจใคร แต่ประสบการณ์ที่ทำงบประมาณมา 10 ปี ขอเพียงว่าให้มีระบบตรวจสอบการใช้งบกลางให้เข้มข้น ในยุคนี้ก็ต้องให้ สนช.เป็นผู้ตรวจสอบการใช้งบของรัฐบาล