มุมมอง "ม.44 จัดการ วัดพระธรรมกาย"
การประกาศใช้ ม.44 ยึดพื้นที่วัดพระธรรมกาย กำลังเป็นกระแสขึ้นมาว่าสมควรยกเลิกหรือไม่ และนี่คือ มุมมอง ต่อ ม.44
“วัดพระธรรมกาย” กำลังเผชิญศึกหนักกับการปฏิบัติการเข้าค้นรายวันของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อควานหาตัว“พระธัมมชโย” ผู้ต้องหาในคดีสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กำหนดวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ กำหนดให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดในอำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี คือ พื้นที่หมู่ 7 ถึง 13 ตำบอลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 ถึง 11 ในตำบลคลองสาม เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การบังคับใช้กฏหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยระบุถึงเหตุผลว่า ที่ผ่านมามีบุคคลบางกลุ่มซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าทำผิดกฏหมาย และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนรวมถึงฝ่ายปกครองและตำรวจ ตลอดจนขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
คำสั่งหัวหน้า คสช. ยังได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานดำนเนินการต่างๆภายในพื้นที่ควบคุม เช่น ควบคุมการเข้าหรือออกพื้นที่, ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำกับเจ้าหน้าที่, จับกุมตัวบุคคลที่ทำความผิดอาญาซึ่งหน้าเจ้าพนักงานและควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมนำส่งให้พนักงานสืบสวนต่อไป
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจเข้าตรวจค้นภายในเคหสถาน ตลอดจนค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ รวมทั้งมีอำนาจเข้ารื้อถอน ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้นการปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน
เนื้อหาของคำสั่ง ได้ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการ และมีอำนาจขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ หรือในกรณีจำเป็น อาจร้องขอให้ผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์อนุเคราะห์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้
และหากผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ขณะนี้การใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย กำลังมีการพูดถึงกันมาก มีกระแสเรียกร้องให้เลิกใช้ เพราะเกรงว่า จะเกิดความรุนแรงตามมา
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกมายืนยันว่า ไม่ยกเลิก เพราะยังไม่จบเรื่องราว ในเมื่อยังนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีไม่ได้ ก็เป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุมไปตลอดจนกว่าพระธัมมชโยมอบตัวหรือได้ตัวมาดำเนินคดี
ในขณะที่ดีเอสไอ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวย้ำว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต้องทำตามหลักกฎหมายไม่อาจละเมิดสิทธิ์บุคคลใดได้ แม้มีอำนาจตามมาตรา 44 การประกาศตามมาตรา 44 ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ หากการปฏิบัติงานยังไม่ประสบผลสำเร็จก็ไม่มีเหตุจำเป็นให้ยกเลิกมาตรา 44 แต่หากได้เข้าตรวจค้นแล้วมีผลเป็นอย่างไรก็อาจมีเหตุผลเพียงพอเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรา 44 ได้
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นส่วนตัว ว่า กรณีวัดพระธรรมกาย ยังใช้กฎหมายปกติได้อยู่ แต่ก็ปรากฏว่าได้มีการประกาศใช้ มาตรา 44 ไปแล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐก็ยังไม่ได้กระทำการที่รุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น เพราะในวัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
“ อย่างกรณีที่มีข่าวว่า ผู้หญิงกระดูกซี่โครงหัก ก็ควรมีการตรวจสอบว่า ใครเป็นคนทำ และเกิดจากสาเหตุอะไร”
นางอังคณา ยังกล่าวอีกว่า แม้มาตรา 44 จะให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ไว้อย่างมากแต่ก็ยังมีกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว ) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คุ้มครองในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จึงต้องมีความระมัดระวัง
“ กรณีของวัดพระธรรมกาย มีความเชื่อของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความเชื่อเกี่ยวกับตัวบุคคล ลัทธิ ความเชื่อ คนที่เขาเชื่อ เราจะไปบอกว่าเขาผิด-ถูกไม่ได้ เขาจะเชื่อ-ไม่เชื่อ ห้ามไม่ได้ และในประวัติศาสตร์ การปราบปรามเกี่ยวกับศาสนา ลัทธิ เป็นเรื่องที่ยากมาก การใช้กฎหมายปกติ อย่างเช่น หมายค้น หากหมดอายุ ก็ขอหมายค้นใหม่ได้ และเจ้าหน้าที่ก็มีศักยภาพมากพอ ถ้าปฏิบัติการตามกฎหมายปกติอย่างเต็มที่ อย่าให้มีข่าวรั่วออกมาก่อน อีกทั้งการใช้มาตรา 44 จะทำให้คนเกิดความกลัวว่า จะมีการใช้ความรุนแรงกับคนที่เขานับถือ และเมื่อเกิดความกลัว เขาก็ต้องปกป้องเต็มที่กับคนที่เขานับถือ และตอบโต้รุนแรงกลับมา อาจจะถึงขั้นยอมตายแทนได้ ”
นายเจษฎา อนุจารี นักกฎหมายชื่อดัง ให้ความเห็นว่า โดยหลักการ มาตรา 44 จะเป็นผลร้าย เพราะว่าให้อำนาจกับคนๆเดียว คือ หัวหน้า คสช. มีทั้ง 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ ไม่มีการคานอำนาจ ม.44 ใช้ไปแล้ว เกิดความผิดพลาด แก้ไขไม่ได้ เหมือนกับมาตรา 17 ในอดีตที่เห็นว่า ใครวางเพลิง ก็จับหันหน้าพิงกำแพง ยิงเป้าเลย ซึ่งมาถึงยุคนี้แล้วเป็นเรื่องไม่ควร
" การใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจเต็มที่ เป็นเรื่องอันตราย จะมีการตอบโต้ที่รุนแรงกลับมา อย่างในอดีต เราเอาปืนไล่ยิงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คนเหล่านั้นก็หลบเข้าป่า แล้วสุดท้ายเมื่อจนมุม คนเหล่านั้น ก็หยิบปืนขึ้นมายิงสู้กับทางการ และกรณีวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ คนเชื่อว่ามีผี พูดหรือพยายามอธิบายอย่างไร เขาก็ยังเชื่อว่ามีผีอยู่ดี การใช้ ม.44 ควรใช้ในบางโอกาสในกรณีฉุกเฉิน หรือไม่มีทางเลี่ยงเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น กรณี นปช.กับ กปปส. ในอดีต ที่มีการใช้ ม.44 ก็เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกัน ฆ่ากันตาย แต่กรณีวัดธรรมกาย ไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินขนาดนั้น อีกทั้งการใช้กฎหมายปกติ ก็สามารถใช้หมายค้น ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้อยู่แล้ว แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะทำให้เจ้าหน้าที่ฮึกเหิม ว่ามีกฎหมายคุ้มกัน ดำเนินการอะไรไป ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งก็จะกระทบสิทธิคนอื่น”
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ซึ่งเป็นภิกษุหนุ่มที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ได้แสดงความเห็นตอนหนึ่งในเฟซบุ๊กว่า
"...ต้องการให้พระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเร็ววันนี้อย่างไรก็ได้ แต่เราจะเห็นด้วยกับการใช้วิธีการแบบไหนก็ได้ในการจัดการกับวัดพระธรรมกาย อย่างนี้ไม่ได้นะครับ
เราจะไปวางใจว่า อำนาจเผด็จการจะให้ความธรรม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในวัดพระธรรมกายตอนนี้ ทั้งพระเณรและฆราวาส ทั้งคนแก่ทั้งเด็กเล็ก ไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ
เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ทหารตำรวจนี่เขาถนัดในการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง เพราะเขาถูกฝึกมาแบบนี้ แล้วในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผ่านมา ก็ทหารตำรวจนี่แหละ ที่มีส่วนในการสังหารเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะกลุ่มนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ หรือชาวบ้านที่ราชประสงค์ คนตายไปเท่าไหร่ เราลืมกันหมดแล้ว ทหารไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลยครับ อ้างความมั่นคงในการเข่นฆ่าบีฑาคนในชาติเดียวกันโดยไม่ผิดกฎหมาย อาตมาอยากจะเตือนอย่างกัลยาณมิตรนะครับว่า มาตรา 44 นี่ให้โทษมากกว่าให้คุณ มันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบ้าอำนาจ ลุแก่โทสาคติ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม อะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งกฎหมายให้การคุ้มครอง ถูกละเมิดหมดเลย จับคนทำผิดไม่ได้ ก็จะยึดวัดเขา มันชอบธรรมที่ไหนกัน
ก่อนที่จะตัดสินใจใช้อำนาจอะไรก็ตาม ควรรู้จักการวางท่าที เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียกับผู้บริสุทธิ์
อาตมาจะฝากแง่คิดไว้นะครับว่า ถึงต่อให้คุณจัดการกับพระธัมมชโยได้ จัดการกับพระเณรทั้งหมดในวัดพระธรรมกายได้ ยึดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของธรรมกายได้ แต่หากสิ่งที่ทำไปนั้น เป็นไปโดยวิถีทางของความรุนแรงและใช้กำลังในการบีฑาข่มเหง คุณคิดหรือครับว่า คุณจะเปลี่ยนคนเป็นล้านที่นับถือพระธัมมชโยได้ จะเปลี่ยนคนเป็นล้าน ที่เข้าวัดพระธรรมกายได้ จะเปลี่ยนความคับแค้นใจและความเห็นใจของคนเหล่านั้นที่มีต่อธรรมกายได้ ไม่มีทางเลยครับ อำนาจที่ปราศจากความเป็นธรรม ไม่เคยนำชัยชนะมาให้กับผู้ที่ถืออำนาจอันนั้นนะครับ "
ทั้งหมดเป็นมุมมองต่อการใช้ ม.44 กับวัดพระธรรมกาย