ชะตา"หมีควาย"สัตว์ป่าคุ้มครองประเภท1 ไฉนจึงตกฮ.
ชะตา"หมีควาย"สัตว์ป่าคุ้มครองประเภท1 ไฉนจึงตกฮ.
จากกรณีหมีควายยักษ์น้ำหนัก 80-90 กิโลกรัม ตกเฮลิคอปเตอร์จนตาย ระหว่างการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปปล่อยกลางป่าลึกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นสพ.เกษตร สุเตชะ อาจารย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวถึงการขนย้ายดังกล่าวว่า เป็นกรรมวิธีที่กระทำกันทั่วโลกในการเคลื่อนย้ายสัตว์ใหญ่ เนื่องจากหมีควายมีน้ำหนักมาก ขณะทำการเคลื่อนย้ายก็ต้องฉีดยาสลบก่อนเคลื่อนย้าย ส่วนการผิดพลาดในขั้นตอนไหนที่ทำให้หมีควายฟื้นระหว่างทำการเคลื่อนย้ายจนทำให้ตกลงสู่พื้นตายนั้น อยู่ที่การสอบสวนของคณะกรรมการที่กรมอุทยานฯ ตั้งขึ้นมา
“การเคลื่อนย้ายสัตว์ใหญ่ ถ้าบนถนนก็ใช้รถบรรทุกในการขนย้ายเหมือนวัว ควาย แต่ถ้าเคลื่อนย้ายในกลางป่าก็ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีที่เขาทำกันทั่วโลก ส่วนการฉีดยาสลบสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากอย่างกรณีหมีควายที่มีน้ำหนัก 80-90 กิโลกรัม บางครั้งอาจเกิดการผิดพลาดได้ ไม่เหมือนหมาแมวหรือสัตว์ตัวเล็กๆ ทำได้ง่ายกว่า ซึ่งตรงนี้จะต้องไปดูรายละเอียดจากการสอบสวนอีกที” นายสัตวแพทย์คนเดิมระบุ
ส่วนวงจรชีวิตหมีควายนั้น นสพ.เกษตรระบุว่า หมีควายเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ มีความแข็งแรงอดทน ไม่ใช่เป็นสัตว์ที่เป็นโรคได้ง่าย อาการป่วยส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุมากกว่า แต่ถ้าเป็นโรคเท่าที่ตรวจเจอส่วนใหญ่จะเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่พบในสัตว์ป่าเกือบทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งหมีควาย ปัจจุบันหมีควายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการล่าเพื่อเอาดีและอุ้งตีนที่่เชื่อกันว่าเป็นยาบำรุงกำลัง
รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเจ้าของคอลัมน์ “พิชิตปัญหาสัตว์” ใน นสพ.คม ชัด ลึก กล่าวถึงหมีควายว่าเป็นสัตว์ค่อนข้างดุร้าย ใช้เล็บเป็นอาวุธในการหาอาหาร ชอบกินสัตว์เล็กๆ และพืชเป็นอาหาร โดยทั่วไปมีอายุหลายสิบปี ส่วนโรคไม่มี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี สำหรับการดูแลที่นำมาเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์นั้น จะต้องเน้นให้อาหารคุณภาพไม่ให้อ้วนเกินไป และจะต้องคอยระวังไม่ให้เครียด
“การดูแลหมีควายก็เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญจะต้องไม่ให้มันเกิดความเครียด ถ้าเครียดจะดุร้ายมาก และอาหารที่ให้ต้องเน้นคุณภาพ” ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวย้ำ
สำหรับหมีควาย หรือหมีดำ (Asian black bear) จัดเป็นหมีขนาดกลางและเป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตัวยาวประมาณ 130-190 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 100-200 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 50-125 กิโลกรัม มีขนหยาบสีดำหรือน้ำตาลทั่วทั้งตัว ยกเว้นบริเวณอก ซึ่งขนสีเหลืองอ่อนเป็นรูปตัววี ขนบริเวณหัวไหล่และคอจะยาวเป็นพิเศษ หูค่อนข้างใหญ่ ฝ่าตีนใหญ่เดินเต็มตีน รอยตีนของหมีจึงดูคล้ายรอยตีนคน มีเล็บยาวและแหลมคม ชอบอาศัยในป่าเขา แต่ก็สามารถพบได้ในเขตที่ราบประเทศต่างๆ เอเชียตะวันออก ตั้งแต่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน บังกลาเทศ ภูฏาน จีน รัสเซีย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย มองโกเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี
ส่วนอุปนิสัยนั้น จะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ปีนต้นไม้เก่ง มีพื้นที่หากินราว 10-20 ตารางกิโลเมตร มักอาศัยอยู่โดดเดี่ยว หรืออยู่เป็นครอบครัวเฉพาะแม่ลูกเท่านั้น ชอบอยู่ตามป่าหนามที่มีหินและถ้ำ โดยปกติหมีควายจะหากินตอนกลางคืนและไม่ชอบเดินทางตามเส้นทางที่คนหรือสัตว์อื่นใช้กัน จึงทำให้หารอยเท้าได้ยาก อาหารของหมีควายได้แก่ พืช ลูกไม้ต่างๆ สัตว์ที่เล็กกว่าอาหารที่หมีควายชอบที่สุด คือ น้ำผึ้ง
การสืบพันธุ์ หมีควายจะตั้งท้องประมาณ 7 เดือน และตกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ฤดูผสมพันธุ์อยู่ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และออกลูกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่บางสถานที่ฤดูอาจแตกต่างออกไป เช่น ในปากีสถาน ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในฤดูใบไม้ร่วง ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว ลูกหมีจะอยู่กับแม่เป็นเวลา 2-3 ปี เมื่ออายุได้ 3-4 ปีก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว หมีควายมีอายุขัยราว 25 ปี ในสวนสัตว์ที่มีการดูแลดีอาจอยู่ได้ถึงกว่า 30 ปี
จากข้อมูลล่าสุด (ปี 2544) ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจหมีควายตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 197 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 55 แห่งพบหมีควายอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 45 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ป่า ประมาณ 77,519 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่จำนวนประชากรหมีควายในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดกว่ายังมีถึงหลักพัน
การรายงานสถานภาพของหมีในประเทศไทย โดย ศุภกิจ วินิพรสวรรค์ ระบุผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากหมีควายในประเทศไทยถือว่าน้อยมาก เท่าที่รายงานปรากฏพบทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่โดยรอบของพื้นที่อนุรักษ์ และทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่เป็นไร่ข้าวโพดและสวนผลไม้ รายงานจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมีเพียง 6 ครั้งเท่านั้น โดยหมีควายลงมากัดกินพืชไร่ในพื้นที่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และลงมาทำลายสวนผลไม้บริเวณรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรงมากนัก
หมีควายในประเทศไทยถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 คือห้ามมิให้มีการล่า การเพาะพันธุ์ การนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งซาก ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ และยังรวมไปถึงหมีที่มีชีวิตด้วย ส่วนไอยูซีเอ็นประเมินว่า หมีควายอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ไซเตสจัดหมีควายไว้ในบัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นในกรณีพิเศษ เช่น การศึกษาวิจัยทางวิชาการและการแพทย์ เป็นต้น