คอลัมนิสต์

“เจ้าสัวธนินท์”ส่งไม้ทายาทกุมธุรกิจ

“เจ้าสัวธนินท์”ส่งไม้ทายาทกุมธุรกิจ

08 มี.ค. 2560

“เจ้าสัวธนินท์”ส่งไม้ทายาทกุมธุรกิจ ผันตัวปั้น“ศูนย์ฝึกสร้างผู้นำ”

 

          “ไทม์ไลน์ สุทธิชัย หยุ่น” ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อคืนวันที่ 5 มีนาคม ได้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ เปิดใจ “ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ “เจ้าสัวธนินท์” ที่ย่างเข้าสู่วัย 78 ปี และได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นหลังเข้ามาบริหารอาณาจักรเครือซีพี ซึ่งเป็นที่จับตามองในแวดวงธุรกิจอย่างมาก ทั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์ มีบุตร-ธิดา 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ประกอบด้วย 1.นางวรรณี 2.นายสุภกิต 3.นายณรงค์ 4.นายศุภชัย และ 5.นางทิพาภรณ์

          เมื่อต้นปี 2560 เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้มาถึงจุดสำคัญในการถ่ายโอนอำนาจการบริหาร โดยมีการประกาสแต่งตั้ง “สุภกิต” บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานกรรมการ และ “ศุภชัย” บุตรชายคนที่สาม เป็นประธานคณะผู้บริหาร หรือซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงน่าสนใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เจ้าสัวธนินท์วางเป้าหมายทายาทและอาณาจักรซีพีไปในทิศทางใด

          เจ้าสัวธนินท์ กล่าวถึงโครงสร้างบริหารที่ผ่านมาว่า โครงสร้างเดิมจริงๆ แล้วก็มีการกระจายอำนาจอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำของใหม่ๆ ซึ่งก็ต้องมีเรื่องของเงินเข้ามาเพื่อการศึกษาเรื่องใหม่ ระหว่างเรียนก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนบ้าง กว่าจะเข้ารูปเข้ารอย กว่าจะสำเร็จก็ต้องมีช่วงเวลา ก็ต้องเข้าไปทำเอง เสี่ยงเอง ถ้าสำเร็จก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่สำเร็จก็มีคนทักท้วงบ้าง ต่อว่าบ้าง ถ้าให้คนที่ยังอาวุโสไม่ถึงก็จะมีคนห่วงใยว่าเอาเงินไปผลาญทำให้บริษัทเสียหาย คนอย่างนี้เราไม่ถือสาเพราะรักบริษัท ถ้าไม่รักบริษัทก็ไม่ห่วง ยิ่งรักมากก็ยิ่งห่วงมาก นี่เป็นธรรมชาติ คนที่รักบริษัทและมีพลังด้วยก็ต้องผู้นำเบอร์ 1 ถ้าเอาเบอร์ 2 จะมีปัญหา การเปลี่ยนน่าจะเปลี่ยนก่อน 10 ปี

          “ยุคสมัยนี้เป็นยุคของคนหนุ่มสาว ถือว่าช้าไปแล้ว แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นยุควิกฤติเศรษฐกิจ ขณะนั้นผมเองก็ว่าจะวางมือ ตอนนี้เหลือโทรศัพท์และอีกอย่าง นอกนั้นปล่อยออกไปหมด ถอยกลับมาสร้างโทรศัพท์กับการค้าปลีกก็ไม่กี่ปีนี่เอง แต่แล้วก็เข้ารูปเข้ารอย ซึ่งเวลาก็ผ่านมาประมาณ 20 ปีแล้ว วิกฤติสอนให้แข็งแกร่งและฝึกฝนประสบการณ์แต่ก็ยังมีบางอย่างต้องแก้ไข” เจ้าสัวธนินท์ กล่าว

          เขายังระบุถึงบทบาทตัวเองหลังจากนี้ไปว่า ถึงแม้จะถอยไปอยู่เบื้องหลัง แต่ขณะนี้กำลังทำศูนย์ฝึกผู้นำเป็นหลัก และผนึกกำลังให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมา และให้กลุ่มธุรกิจสร้างซีอีโอที่เป็นซีอีโออยู่แล้วก็ให้ขึ้นมาเป็นประธานบริหารถือเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ เพราะธุรกิจต้องสร้างคนทดแทนใช้คนที่มีประสบการณ์ในเรื่องการสร้างคน นี่เป็นเรื่องสำคัญ คนเป็นทรัพย์สมบัติที่ประเมินค่าไม่ได้ ถือเป็นวิญญาณของบริษัท ทำให้บริษัทมีชีวิตชีวา ตัวขับเคลื่อนคือ “คน”

          “ต่อจากนี้ไปผมก็จะดูเรื่องการสร้างคน อะไรที่ทำได้ดีก็จะสนับสนุน อย่าไปเรียกว่า ”ล้วงลูก“ อะไรที่ยังทำไม่ดี เราก็สนับสนุนต้องนำประสบการณ์ของตัวเองเข้าสอน เข้าไปสนับสนุนให้เขาขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ปล่อยให้เขาทำ ริเริ่มวางนโยบายว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะเอาแบบเก่าไม่ได้ ยุคสมัยนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ ซึ่งในอดีตบอกว่าความสำเร็จจะอยู่ในรุ่นที่ 3 แต่ยุคใหม่นี้ เรามีโอกาส แต่สุดท้ายก็ยังต้องอยู่ที่ผู้ถือหุ้นคิดอย่างไร บางรุ่นไปสำเร็จในรุ่นหลังกว่านี้ก็มี บ้างก็สำเร็จในรุ่นที่ 10 ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการสร้างคน ฝึกคน” 

          ส่วนที่มองกันว่าบุตรชายคนโตไม่ได้เข้าคุมอาณาจักรนั้น เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า ในยุโรปไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกคนโตที่จะสืบทอดธุรกิจ แต่เขาจะดูว่าลูกคนไหนเหมาะสมกับธุรกิจแบบไหน 

          “ยุคนี้เป็นยุคใหม่ ก็เอาคนที่มีฝีมือที่สุดในครอบครัวมาสืบทอดธุรกิจ และยังต้องมีมืออาชีพมาเป็นผู้ปฏิบัติ โดยสร้างคนสนับสนุนคนเก่งให้มาทำงาน ซึ่งในครอบครัวจะหาคนเก่งทุกธุรกิจเป็นไปไม่ได้ อย่าไปจำกัดตัวเอง ซึ่งธุรกิจของซีพี มีหลายอย่างหลายด้าน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน”

          เจ้าสัวธนินท์กล่าวถึงการเลี้ยงดูทายาทให้พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้กุมอาณาจักรธุรกิจว่า ที่ผ่านมาหลายคนถามว่าเลี้ยงลูกอย่างไรถึงมีวันนี้ที่จะมอบคบเพลิงต่อไปได้ เรื่องนี้ไม่ได้สอนกันง่ายๆ อยู่ที่ตัวเขาเองด้วย พื้นฐานของเขาเอง เหมือนกับเราผลิตอาหารที่อร่อย วัตถุดิบที่นำมาทำต้องดี ที่สำคัญต้องขยัน อดทน หมั่นเพียร อย่าคิดว่าจบมาแล้วสบาย จบมาแล้วหากจะยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นยังลำบากกว่าตอนเรียน ตอนเรียนก็แค่ตอนสอบ 

          “คนที่จะเป็นผู้นำได้นั้น ไม่มีใครมาบังคับเราทำงาน สอบทุกวัน เราต้องบังคับตัวเอง ถ้าบังคับตัวเองไม่ได้ก็เป็นผู้นำไม่ได้ ทั้งเรื่องขยัน อดทน ความพยายาม และที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกหก เป็นคนดี ตั้งแต่เด็กปล่อยให้ลูกทำด้วยตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่พรสวรรค์ของลูกแต่ละคน ตรงนี้เรากำหนดไม่ได้ เลือกไม่ได้ แต่ให้งานที่เหมาะสมแต่ละคน แล้วก็หาคนที่มาช่วยเสริมในจุดอ่อนของเขา นั่นก็คือเราต้องรู้จักหาคนเก่งกว่าเรามาทำในแต่ละเรื่อง เพราะเราไม่มีเวลา ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน”

          เจ้าสัวซีพี กล่าวอีกว่า ลูกแต่ละคนจะมอบหมายงานที่ยากๆ ให้ทำตลอด งานที่มีปัญหาเพื่อทำให้รู้จักแก้ปัญหาในแต่ละงานแต่ละเรื่อง ถือเป็นจังหวะที่ดีได้ทดสอบความสามารถความถนัดในแต่ละด้าน ซึ่งการมอบหมายธุรกิจให้ไปบริหารก็ถือว่าเป็นการมอบงานที่เหมาะสมกับแต่ละคนแล้ว 

          “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะมีความคิดที่ไม่เหมือนคนในอดีต คนรุ่นใหม่อยากจะเป็นเถ้าแก่ ไม่ใช่อยากจะทำงานในบริษัทใหญ่ๆ กันแล้ว อยากจะเป็นผู้ประกอบการเอง ขณะนี้เกษตรกรเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะเกษตรกรหลายรายเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรม ต่อไปทีวี หนังสือพิมพ์ การโฆษณา การขายปลีก การติดตามข่าวสาร ก็จะเปลี่ยนไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เราต้องก้าวให้ทัน ปรับตัวให้ทัน ดังนั้นการที่จะปรับเปลี่ยนให้ไปอยู่ในมือถือก็ต้องใช้คนหนุ่มสาว ซึ่งซีพีเชื่อมั่่นว่าจะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ เพราะใช้คนหนุ่มสาว”

          ส่วนกรณีคนเก่าที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงมีหลายองค์กรประสบเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ซีพีจะใช้วิธีนำคนหนุ่มสาวเข้ามาทำในธุรกิจเดียวกันแต่ทำในวิธีใหม่ คนเก่าก็ทำแบบเดิมไป หากการทำวิธีใหม่สำเร็จก็คนหนุ่มสาวก้าวขึ้นมาทดแทนคนเก่าที่เกษียณอายุไป เป็นการทำแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์อีกด้วย องค์กรไม่แตกแยก ถ้ารุ่นใหม่มาทำใหม่ วิธีใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด หากไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร กลุ่มเดิมก็ยังอยู่ได้ แต่หากสำเร็จก็จะทำให้คนเก่าเปลี่ยนแปลงแนวคิดและยอมรับในสิ่งใหม่ๆ

          เจ้าสัวธนินท์ยังกล่าวถึงธุรกิจอาหารว่า ซีพีอยู่ในธุรกิจอาหารที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่จะไม่ชอบรสหวาน ผิดกับคนรุ่นเก่า เพราะมีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ซีพีก็ต้องปรับตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอาหารมาก่อนหน้านี้แล้ว โลกกำลังเปลี่ยนแปลง มีการนำเทคโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิต ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานคน โดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตรและอุตสาหกรรม เพราะคนไทยไม่อยากเป็นคนงานกันแล้ว หุ่นยนต์ทำงานโดยไม่ต้องจ่ายโอที ทำงานตามโปรแกรม ทุกวันนี้รถยกก็ไม่ต้องใช้คนขับ เพียงบรรจุโปรแกรมแล้วก็กดปุ่มให้ทำงานตามโปรแกรมเท่านั้น

          ในฐานะตำแหน่งปัจจุบัน “ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์” ได้กล่าวถึงการสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารกิจการว่าไม่ต้องดูโหงวเฮ้ง วิธีการสร้างคนหนุ่ม เมืองไทยดูที่นายกสมาคมของแต่ละโรงเรียน อุปนายก หัวหน้าชั้น หัวหน้าห้อง พวกที่มีผลการเรียนระดับแนวหน้า ในปีหนึ่งๆ จบ 4 แสนกว่าคน ถ้าต้องการปีละ 1-2 พันคน ก็เชื่อว่าหาไม่ยาก เพราะคนที่เป็นผู้นำจะเป็นคนที่มีอัธยาศัย จิตใจกว้าง เอื้อเฟื้อ คบใครก็ได้ เรียกว่ามีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ 

          “ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว ศูนย์ฝึกผู้นำที่ทำนั้น เอาของจริงให้ทำ วิธีการสร้างผู้นำต้องให้โอกาส ให้หน้าที่ตำแหน่งการงาน ให้รายได้ ยังไม่สำคัญเท่ากับการให้โอกาส ถ้ายังเป็นพระรอง ยังไม่ได้เป็นพระเอก เขาเก่งอย่างไรก็แสดงไม่ออก ขณะนี้ได้สร้างเวทีให้เขาได้แสดง ก่อนที่จะให้เขาแสดงก็มีการสอนเรื่องคน เรียนรู้คน เรื่องบัญชี เรื่องการเงิน เรื่องการจัดซื้อ เรื่องการประชาสัมพันธ์ รู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ของโลก ลองผิดลองถูกไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นโรงงานก็สอนให้รู้ถึงเรื่องโลจิสติกส์ การบริหารการจัดการ แล้วก็ให้เขาไปทำ ให้บริษัทเล็กๆ ให้เขาทดลอง ลองผิดลองถูกไม่เป็นอะไร แต่รู้ว่าผิดแล้วต้องรู้ว่าผิด แล้วก็ต้องแก้ตัวได้ ทำมากก็ผิดมาก ทำน้อยก็ผิดน้อย ไม่ทำก็ไม่ผิด ผมอยากจะให้ทำมาก แต่ผิดอยู่ในขอบเขตที่รับได้ รับไหว ต้องให้โอกาสเขา ยิ่งเขาต้องไปเจอปัญหามากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งเก่ง เพราะต้องแก้ปัญหา ส่วนโหงวเฮ้งดูได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จิตใจในส่วนลึกดูไม่ออก”

          เจ้าสัวธนินท์ กล่าวด้วยว่า การจะรับผู้บริหารใหม่ในอดีตจะมีการให้ซินแสดูโหวงเฮ้ง แต่ปัจจุบันถือว่าล้าสมัย ยุคสมัยใหม่ต้องให้เขาสัมผัสการทำงานอย่างแท้จริง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชารับเขาได้ไหม ให้ความนับถือหรือไม่ และอื่นอีกมากมาย ถ้าเขาได้ไปต่างประเทศ ประเทศนั้นจะต้องได้ประโยชน์ ประชาชนในประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ นั่นแหละบริษัทก็จะได้ประโยชน์ 

          จากเกษตรสู่สื่อสารไร้สาย
          อาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ซีพี” เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองไทย มีธุรกิจหลักคือด้านอาหารและการเกษตรที่มีกิจการครบวงจร อาทิ ฟาร์มไก่ กุ้ง ปลาทับทิม มีโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานอาหารสัตว์ ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และยังบุกเบิกไปในต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะการไปลงทุนที่ประเทศจีนซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนสูง 

          นอกจากนี้เครือซีพีมีบริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งในและนอกประเทศ อาทิ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ประเภทอาหารแช่แข็ง และบริษัทจำหน่ายอาหารสัตว์รวมทั้งธัญพืช เป็นต้น และมีหน่วยงานกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร (Crop Integration Business) ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดอาหารสัตว์

          ไม่เพียงแต่ธุรกิจด้านการเกษตรเท่านั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังทำธุรกิจอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ธุรกิจค้าปลีกร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ก็ดำเนินการมากว่า 30 ปี บริหารจัดการอาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานให้เช่า ในย่านสีลม พญาไทและฟอร์จูนทาวน์ รัชดาภิเษก รวมทั้งในหัวเมือง เช่น ขอนแก่น รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่จับมือลงทุนกับจีนด้วยในปัจจุบัน ดังนั้นอาณาจักรของซีพีจึงมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจหลักประเทศและมีผลต่อเศรษฐกิจของไทย

          ขณะที่การบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับทิศทางธุรกิจของเครือทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเป้าหมายหลักของซีพีคือการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายการขาย กระจายสินค้าในประเทศ เพื่อรองรับการเป็น “ครัวของโลก” รวมทั้งทุ่มเททรัพยากรมุ่งเข้าสู่การค้าบนโลกออนไลน์ เร่งวางเครือข่ายการกระจายสินค้าหรือโลจิสติกส์ และสื่อสารไร้สาย สนับสนุนการเติบโตของสินค้าในเครือ

          มีการประมาณการว่าสินทรัพย์รวมของเครือซีพีมีมากกว่า 1.33 ล้านล้านบาท โดยงบการเงินของแต่ละบริษัทในเครือใน 3 ไตรมาส ปี 2559 เช่นซีพีเอฟ มีสินทรัพย์กว่า 5.08 แสนล้านบาท รายได้กว่า 3.53 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1.29 หมื่นล้านบาท ซีพีออลล์หรือผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น มีสินทรัพย์กว่า 3.41 แสนล้านบาท รายได้กว่า 3.36 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1.23 หมื่นล้านบาท และบมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น มีสินทรัพย์กว่า 4.41 แสนล้านบาท รายได้กว่า 9.56 หมื่นล้านบาท นี่เป็นเพียงสินทรัพย์และรายได้เพียงไม่กี่บริษัทจากที่มีทั้งหมดกว่า 200 บริษัทในเครือ