คอลัมนิสต์

ห้ามเป็นทนายความ 1 ปี  หน่วงเหนี่ยวเงินลูกความ

ห้ามเป็นทนายความ 1 ปี  หน่วงเหนี่ยวเงินลูกความ

27 มี.ค. 2560

การที่ทนายความหน่วงเหนี่ยวเงินของลูกความไว้โดยมิชอบและไม่ยอมคืนเงินให้ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ

         โดย นายปกครอง  
         'ทนายความ'เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำข้อกฎหมาย การว่าความ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดี

        ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 จึงกำหนดให้ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมรรยาททนายความ อาทิ มรรยาทต่อศาลและในศาล มรรยาทต่อตัวความ มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน มรรยาทต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี เป็นต้น

         และหากมีบุคคลใดกล่าวหาหรือเมื่อความปรากฏแก่คณะกรรมการมรรยาททนายความว่ามีการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวน (มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง) เพื่อพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์ หรือห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความได้ (มาตรา 52)
          ปัญหา คือ หากผู้ที่กล่าวหาว่าทนายความฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมรรยาททนายความ ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ทนายความ ไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหาย และทนายความที่ตกลงรับดำเนินการให้กับผู้ว่าจ้างได้คืนเงินค่าทนายความบางส่วนไปแล้ว คณะกรรมการสภาทนายความจะมีอำนาจลงโทษทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาทได้หรือไม่ ?
            ดังเช่นคดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟัง  เป็นกรณีของนางสาว ก. ได้ยื่นคำกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีประพฤติผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากได้รับการว่าจ้างให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่ นาย ข. (สามี) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่ต่อมานางสาว ก. และนาย ข. ได้ขอยกเลิกสัญญาพร้อมกับขอเงินค่าดำเนินการที่ได้จ่ายไปแล้วล่วงหน้าคืนบางส่วน โดยยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีหักค่าใช้จ่ายบางส่วน เนื่องจากผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าจะต้องใส่ชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดตั้งบริษัทด้วย แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมคืนเงินโดยอ้างว่าได้ใช้จ่ายในการจัดเตรียมการจดทะเบียนไปแล้ว

             หลังจากได้รับคำกล่าวหา คณะกรรมการสภาทนายความ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และต่อมามีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดหนึ่งปีโดยเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองหน่วงเหนี่ยวเงินของลูกความไว้โดยมิชอบด้วยเหตุผล และไม่ยอมคืนเงินให้แก่ผู้กล่าวหาเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อ 15ของข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529
             ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่สภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
​             คดีนี้ผู้ฟ้องคดียอมรับข้อเท็จจริงว่า ได้รับเงินค่าทนายความมาแล้วเป็นบางส่วน และเห็นว่า ผู้กล่าวหาไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิกล่าวหาผู้ฟ้องคดี อีกทั้งได้คืนเงินไปแล้วบางส่วน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
             ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อความปรากฏแก่คณะกรรมการมรรยาททนายความ คณะกรรมการมรรยาททนายความย่อมมีอำนาจที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน อีกทั้งในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายกล่าวหาทนายความ แม้ว่าผู้กล่าวหาจะถอนคำกล่าวหาที่ได้ยื่นไว้ ก็มิใช่เหตุที่จะทำให้ต้องยุติการสอบสวนเสมอไป ประกอบกับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มีเจตนารมณ์ประการหนึ่งในการควบคุมการประกอบอาชีพทนายความ ดังนั้น การกล่าวหาคดีมรรยาททนายความจึงไม่จำเป็นต้องมีการกล่าวหาโดยบุคคลที่ได้รับความเสียหายเพียงอย่างเดียว

           เมื่อผู้ฟ้องคดียอมรับว่า ได้รับเงินไว้และไม่คืนเงินแก่ผู้กล่าวหาและนาย ข. จริง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท อันถือเป็นการครอบครองหน่วงเหนี่ยวเงินของลูกความไว้โดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อ 15 ของข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในการกล่าวหาของผู้กล่าวหาอีก พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1302/2559)

            คดีนี้นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานในการใช้อำนาจของคณะกรรมการมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ว่า ในการกล่าวหาทนายความที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมรรยาททนายความ กรณีไม่จำเป็นต้องมีการกล่าวหาโดยบุคคลที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น หากมีความปรากฏว่าทนายความผู้ใดกระทำการอันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ คณะกรรมการมรรยาททนายความย่อมมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนและอาจจัดให้มีคำสั่งลงโทษทนายความผู้นั้นได้ และยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความว่า ในการปฏิบัติหน้าที่นอกจากจะต้องทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อรักษาประโยชน์และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ลูกความแล้ว ยังต้องถือปฏิบัติตามมรรยาททนายความ รวมทั้งรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพของตนอย่างเคร่งครัดอีกด้วย