คอลัมนิสต์

เปิดกฎเหล็ก “ลงทัณฑ์ทหาร”!!

เปิดกฎเหล็ก “ลงทัณฑ์ทหาร”!!

04 เม.ย. 2560

การลงโทษทหารทุกกรณีมีเหตุและผลรองรับ แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดส่วนตัว รูปแบบการลงโทษก็จะแตกต่างออกไป แต่การลงทัณฑ์ทุกอย่างก็จะมีเพดานว่าลงได้สูงสุดเท่าไหร่

เปิดกฎเหล็ก “ลงทัณฑ์ทหาร”

โทษ 5 สถาน-ปรับปรุงวินัย 3 ท่า

     กลายเป็นข่าวครึกโครมประจำปีไม่ต่างกับดาราไปจับใบดำ-ใบแดง สำหรับกรณีพลทหาร หรือทหารเกณฑ์ถูกลงโทษจนตาย

     เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งเกิดกรณีพลทหาร 2 นาย สังกัดค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษจนถึงตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยผู้เสียชีวิตคือ พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ชาว อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

     ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม แห่งค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก็ถูกลงโทษและทำร้ายจนตาย ขณะนี้ยังเป็นคดีความกันอยู่ และผู้บังคับกองร้อยที่รับผิดชอบขณะเกิดเหตุ เพิ่งถูกสั่งพักราชการไปเมื่อไม่นานนี้เอง หลังจากมีกระแสข่าวและสื่อสังคมออนไลน์กดดัน

     เมื่อเกิดกรณีพลทหารถูกลงโทษจนตาย มักกลายเป็นข่าวครึกโครม เพราะสังคมเชื่อมาตลอดว่าการสอบสวนเอาผิดผู้กระทำมักเป็นไปได้ยาก เข้าทำนอง “เขตทหารห้ามเข้า”

     ล่าสุดปีนี้ เมื่อเกิดกรณี พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ทหารเกณฑ์สังกัดมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตระหว่างถูกขังคุกทหารเพื่อลงโทษ เนื่องจากทำผิดวินัยซ้ำอีก ทำให้สังคมตื่นตัวและให้ความสนใจกันอย่างมาก

     พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า ได้สั่งการให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 (ผบ.มทบ.45) สอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ว่าเป็นการกระทำระหว่างนักโทษทหารด้วยกัน หรือมีผู้คุมเรือนจำร่วมด้วย คาดว่าจะได้ความกระจ่างใน 1-2 วันนี้ ส่วนสาเหตุที่ พลทหารยุทธกินันท์ ถูกลงโทษจำขังในเรือนจำ มทบ.45 เนื่องจากหนีเวรยามหลายครั้ง โดยได้ลงโทษเป็นลำดับมาแล้ว ก่อนจะถึงขั้นจำขัง

     แต่ท่าทีของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก แข็งกร้าวและชัดเจนมากกว่าแม่ทัพภาคที่ 4 มากนัก โดยเบื้องต้นได้กล่าวแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมขอโทษสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และย้ำว่าเคยสั่งการหลายครั้งโดยถือเป็นนโยบายว่าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และจะดำเนินการตามกฎหมายกับทุกคน รวมทั้งลงโทษทางวินัยผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นที่ดูแลรับผิดชอบ

     ไม่แปลกที่ พล.อ.เฉลิมชัย จะคาดโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาดเช่นนี้ เพราะการลงทัณฑ์ทหารที่กระทำผิดวินัย ไม่ใช่ทำได้ตามอำเภอใจในฐานะผู้มีอำนาจหรือมียศเหนือกว่า แต่ทุกอย่างถูกควบคุมโดย พระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งยังคงบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

     เนื้อหาในกฎหมายกำหนดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารเอาไว้ 9 ประการ ได้แก่

1.ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน

2.ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

3.ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

4.ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร

5.เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ

6.กล่าวคำเท็จ

7.ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร

8.ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

9.เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

     เมื่อทหารกระทำผิดวินัย ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์ ซึ่งทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กำหนดไว้ 5 สถานเท่านั้น คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ทัณฑกรรม 3.กัก 4.ขัง และ 5.จำขัง

     กฎหมายยังได้นิยามความหมายของทัณฑ์แต่ละประเภทเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน ได้แก่

     ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้

     ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ

     กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้

     ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง

      จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

     กฎหมายยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากทัณฑ์ 5 สถานนี้แล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด

คำถามก็คือ การลงโทษรูปแบบอื่นที่สังคมได้รู้ได้เห็นกันจนชินตา เช่น ยึดพื้น, วิ่ง หรือสก๊อตจัมพ์ อยู่ในการลงทัณฑ์สถานใด

     เรื่องนี้ นายทหารจากกองทัพบก ให้ข้อมูลว่า การสั่งยึดพื้นหรือวิ่งเพื่อลงโทษนั้น ไม่ใช่การลงทัณฑ์ แต่ถือเป็นการ “ปรับปรุงวินัย” จะใช้กับการกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือใช้ควบคู่กับโทษทางวินัย 5 สถาน เช่น หากทหารหนีเที่ยว ก็จะเข้าพฤติกรรมผิดวินัยในหัวข้อ “ละทิ้งหน้าที่ราชการ” ก็อาจถูกสั่งลงทัณฑ์สถานใดสถานหนึ่งใน 5 สถาน พร้อมปรับปรุงวินัยไปพร้อมกัน

     แต่การปรับปรุงวินัย มีท่าพื้นฐานให้ทำได้เพียง 3 ท่าเท่านั้น คือ ยึดพื้น, สก๊อตจัมพ์ และวิ่ง

     ที่ผ่านมา บางหน่วยที่เป็นหน่วยรบ หรือหน่วยที่ต้องใช้การฝึกอย่างหนัก อาจเพิ่มท่าการปรับปรุงวินัยนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เช่น ม้วนหน้า, ปั่นจิ้งหรีด, แทงปลาไหล แต่หลักการก็คือต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวผู้ที่ถูกลงทัณฑ์หรือปรับปรุงวินัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาและละเมิดสิทธิมนุษยชน

    “การลงโทษทหารทุกกรณีมีเหตุและผลรองรับ เช่น หากทหารกระทำผิดในลักษณะทำให้เพื่อนทหารเดือดร้อน เวลาลงทัณฑ์ก็จะเลือกให้ทำในเรื่องส่วนรวม เช่น ขัดห้องน้ำรวม ขุดหลุมเพลาะ แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดส่วนตัว เช่น ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา รูปแบบการลงโทษก็จะแตกต่างออกไป เช่น ดองเวร คือให้อยู่เวรต่อเนื่องไป แต่การลงทัณฑ์ทุกอย่างก็จะมีเพดานว่าลงได้สูงสุดเท่าไหร่” นายทหารจากกองทัพบก ระบุ

     สำหรับกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ทหาร และการปรับปรุงวินัยนี้ ใช้กับทหารทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียนทหาร พลทหาร หรือทหารใหม่ รวมทั้งทหารประจำการที่กระทำผิดวินัยทุกนาย โดยผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นจะมีอำนาจในการลงทัณฑ์ในเพดานสูงสุดที่ลดหลั่นกันไป ขึ้นอยู่กับระดับของผู้บังคับบัญชาและชั้นของผู้ถูกลงทัณฑ์

     นายทหารคนเดียวกันยังบอกด้วยว่า แม้จะมีโทษทางวินัย แต่หากกำลังพลกระทำผิดทางอาญา ก็ต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาด้วย ไม่มียกเว้น

     และกฎหมายกับระเบียบต่างๆ ว่าด้วยวินัยทหารและการลงทัณฑ์ เป็นเรื่องที่ทหารทุกนายรับรู้ ฉะนั้นผู้ที่กระทำผิด จึงเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายของกองทัพ

     จากการตรวจสอบเพิ่มเติมจากทหารอีกหลายนาย ได้ข้อมูลตรงกันว่า ทหารกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นพลทหารปี 2 ที่ได้รับหน้าที่ดูแลทหารใหม่ มักจะเลือกวิธีลงโทษอย่างรุนแรง นอกจากนั้นก็เป็นครูฝึกบางราย โดยลักลอบทำตอนกลางคืน ซึ่งที่ผ่านมากองทัพก็ทราบปัญหาเป็นอย่างดี จึงออกกฎให้นายทหารสัญญาบัตรต้องนอนเฝ้าทหารใหม่ที่โรงนอน

     “แต่ก็เฝ้าไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตก บางคนไม่เคยได้สิทธิ์ลงโทษใคร พอมีอำนาจก็ใช้ความรุนแรงเต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นพวกพลทหารปี 2 หรือนายสิบใหม่ บางคนเมามาก็มาลงกับทหารก็มี การลงโทษบางอย่างไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่แกล้งให้ฝึกในสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนป่วยตายก็เคยมี (เรียกว่า ฮีทสโตรก) ซึ่งที่ผ่านมากองทัพก็จัดการ และเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่นโยบาย" นายทหารจากกองทัพไทย ระบุ

     ส่วนบทบัญญัติ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร ที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อาวุธได้หากจำเป็น จนอาจเกิดความเข้าใจว่าผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งลงโทษรุนแรงอย่างไรก็ได้นั้น ประเด็นนี้ นายทหารจากหน่วยที่รับผิดชอบงานด้านสารบรรณอธิบายว่า เป็นกรณีเฉพาะในยามศึกสงคราม มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือพื้นที่ชายแดนที่ทหารทุกนายถืออาวุธเท่านั้น

     ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร มาตรา 6 บัญญัติว่า “ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้นโดยกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้นจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษในการที่ตนได้กระทำไปโดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาจักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว”

     “กฎหมายใช้คำเฉพาะที่แตกต่างจากพฤติกรรมผิดวินัยทหาร 9 ประการ คือ ใช้คำว่าก่อการกำเริบ ฉะนั้นจึงไม่ใช่กรณีทั่วไป โดยมากใช้ในภาวะสงคราม หรือพื้นที่ชายแดน เพราะทุกคนถือปืน บรรจุกระสุนพร้อมยิงได้หมด กระบวนการลงโทษที่ให้ไม่กล้าทำอีกจึงต้องมี แค่สั่งยึดพื้นอย่างเดียวคงไม่ได้ ถ้าเข้าข่ายกระด้างกระเดื่อง ก็ต้องจัดการ ไม่อย่างนั้นออกสนาม ถือปืนเดินตามหลัง ยิงใส่เมื่อไหร่ก็ตายกันหมด” นายทหารจากงานสารบรรณ กล่าว