7 คำถามร้อน!! กับ สเปคเรือดำน้ำจีน ที่ ทร.ต้องตอบ!!??
เปิดสเปคเรือดำน้ำจีนที่กองทัพไทยกำลังได้เข้ามาประจำการสมไใจอยาก วิเคราะห์เจาะลึกพร้อม 7 คำถามเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่า
ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ล่าสุดออกโรงตำหนิอดีตทหารที่ออกมาให้ข้อมูลเชิงลบทางสื่อสังคมออนไลน์ สะท้อนว่างานนี้กองทัพเรือมีโอกาสได้เรือดำน้ำเข้าประจำการสมใจอยากแน่
เพราะนายกฯถือเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะสั่งระงับโครงการตามที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้อง ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง หนุนสุดตัวมาตั้งแต่ต้น
ระยะหลังมีข้อมูลเชิงตั้งคำถามถึงคุณภาพและความคุ้มค่าของเรือดำน้ำจีนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กองทัพเรือนัดแถลงชี้แจงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายนนี้ หลังจาก พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ นำคณะเดินทางไปตรวจความพร้อม และเอกสารสัญญาต่างๆ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม
"ทีมข่าวคมชัดลึก" ตรวจสอบพบว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนที่จะจัดซื้อแบบ "รัฐต่อรัฐ" เป็นรุ่น Yuan Class S-26T โดยจะจัดซื้อทั้งโครงการจำนวน 3 ลำ ราคารวม 36,000 ล้านบาท เรือดำน้ำรุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษที่จีนต่อขึ้นสำหรับประเทศไทยเท่านั้น พัฒนาจาก Yuan Class S-26 ธรรมดา คาดว่ามีขนาดยาวถึง 72 เมตร กว้าง 8.4 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำ 2,600 ตัน และใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า
รายงานของคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือ กจด.ของกองทัพเรือ ได้สรุปคุณสมบัติของเรือดำน้ำจีนว่า มีความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ คือการมีเรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางการคมนาคมทางทะเล และถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำเกือบทุกประเทศ ส่วนในแง่ยุทธวิธี เรือดำน้ำรุ่นนี้ก็มีความสามารถในการซ่อนพราง เพราะมีระบบ AIP หรือระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ดำน้ำได้นานถึง 21 วัน ขณะที่ระบบอาวุธก็คุ้มค่า สมราคา
แต่ "ทีมข่าวฯ" ได้ข้อมูลอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญว่า ในแง่ยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้เรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล เพราะกองเรือพาณิชย์ในปัจจุบันล้วนเป็นกองเรือของชาติมหาอำนาจ ส่วนการถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ สามารถจัดซื้อ "เรือปราบเรือดำน้ำ" ซึ่งเป็นเรือผิวน้ำ และมีราคาถูกกว่าได้ ซึ่งน่าจะถ่วงดุลอำนาจการรบได้ดีกว่า และจากข้อมูลของคนในกองทัพเรือเอง ระบุว่า งบประมาณ 36,000 ล้านบาท สามารถสั่งต่อเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำได้มากถึง 60 ลำ และในยามปกติก็สามารถใช้ประโยชน์ในภารกิจด้านอื่นได้อีกด้วย
ในแง่ยุทธวิธี เรื่องการซ่อนพราง มีคำถามว่าเรือดำน้ำชั้น S26T จะทำได้ดีแค่ไหน เพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ ขณะที่กองทัพเรือเคยมีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำขนาดเล็กจากเยอรมนี 6 ลำเมื่อปี 2554 ใช้งบประมาณต่ำกว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ส่วนระบบ AIP จะมีประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะอ่าวไทยค่อนข้างตื้น และการใช้เรือดำน้ำจริงๆ แล้วต้องสื่อสารกับผิวน้ำเป็นระยะ การดำน้ำได้นาน 21 วันอาจไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
ส่วนระบบอาวุธ เรือดำน้ำจีนให้ตอร์ปิโด ลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ แต่ประเทศอื่นที่เสนอราคาพร้อมกัน เสนอให้ตอร์ปิโดลูกจริง 8-16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ
ที่สำคัญเมื่อย้อนตรวจสอบเอกสารการเสนอราคา จะพบว่าระบบส่งกำลังบำรุงกับอะไหล่ของเรือดำน้ำจีน ไม่ได้ให้ฟรี แต่ต้องจ่ายเพิ่ม ขณะที่ของประเทศอื่นอีก 5 ประเทศที่เสนอราคาพร้อมกัน กลับเสนอให้ฟรี
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อได้เปรียบที่สุดของเรือดำน้ำจีน คือ ซื้อ 2 แถม 1 หมายถึงจ่ายราคาเท่ากันแต่ได้ถึง 3 ลำนั้น ไม่ตรงกับโครงการที่กองทัพเรือเคยเสนอว่าต้องการเรือดำน้ำ 2 ลำ แต่เป็นเงื่อนไขที่จีนเพิ่มให้ภายหลัง จึงเกิดคำถามว่าเป็นธรรมกับผู้เสนอราคารายอื่นหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นมาตลอดจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ซึ่งกองทัพเรือและรัฐบาลยังไม่เคยมีคำตอบ
แต่ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารสเปคของเรือดำน้ำ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารจริงที่บริษัทผู้ผลิตของจีน เสนอโครงการให้กับกองทัพเรือเมื่อปี 2558
เอกสารดังกล่าวนี้นำมาสู่คำถาม 7 ข้อว่าสเปคเรือดำน้ำของจีน ด้อยกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นๆ ใช่หรือไม่ กล่าวคือ
1.ขนาดของตัวเรือ ตามสเปคระบุชัดว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ มีความลึกปลอดภัยขณะดำ อยู่ที่ 60 เมตร ซึ่งระดับความลึกนี้มากกว่าความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยที่อยูํ่ในระดับ 50 เมตร ขณะที่เรือดำน้ำรุ่นอื่นที่มีการเสนอราคาเข้ามา สามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระที่ความลึก 40 เมตร
ที่สำคัญแม้จะกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่นอกอ่าวไทย หรือทะเลอันดามันก็ตาม แต่หากเรือดำน้ำไม่สามารถดำในอ่าวไทยเพื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการได้ ก็จะส่งผลต่อการรักษาความลับ หรือศัพท์ทางยุทธวิธีก็คือ "การซ่อนพราง" ย่อมส่งผลให้ภารกิจหลักเสียหายในที่สุด
"ทีมข่าวฯ" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมทรัพยากรธรณี พบว่า อ่าวไทยมีสภาพเป็นแอ่งกะทะ มีความลึกเฉลี่ย 44 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า และความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนเพียง 15 เมตรเท่านั้น
2.ความเร็วและระยะปฏิบัติการ ตามสเปคระบุคว่า เรือสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 18 นอต ได้เพียง 10 นาที สั้นกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นที่ทำความเร็วได้มากกว่า 20 นอต เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ระยะปฏิบัติการของเรือ สเปคระบุไว้เพียว 8,000 ไมล์ แต่เรือดำน้ำแบบอื่นมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์
3.ระบบ AIP หรือระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ซึ่งเรือดำน้ำจีนโฆษณาว่าดำน้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วันโดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ในสเปคระบุรายละเอียดว่า ระบบ AIP สามารถใช้งานลาดตระเวนได้เพียง 10 วันเท่านั้น ขณะที่เรือดำน้ำทั่วไปที่มีระบบ AIP ใช้งานได้มากกว่า 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน
4.อายุการใช้งาน ตามสเปคเรือดำน้ำจีนระบุว่ามีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่เรือดำน้ำแบบอื่นมีอายุการใช้งาน 35 ปีขึ้นไป
5.อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ตามสเปคระบุว่ามีอายุการใช้งานเพียง 200 รอบการชาร์จ ขณะที่แบตเตอรี่ของเรือดำน้ำแบบอื่น มีอายุการใช้งานมากกว่า 1,200 รอบการชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
6.การหนีจากเรือดำน้ำ ด้วยชุดหนีภัยเรือดำน้ำ เพื่อให้กำลังพลประจำเรือหนีออกจากเรือได้หากมีปัญหาหรือถูกโจมตี ตามสเปคของเรือดำน้ำจีนระบุว่า สามารถทำการหนีได้ในระดับความลึกเพียง 100 เมตร แต่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำการหนีได้ในระดับความลึกมากกว่า 180 เมตร
7.ระบบอาวุธ นอกจากตอร์ปิโดลูกจริงเพียง 4 ลูกสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำตามที่ทราบกันแล้ว ระบบอาวุธประจำเรือยังตรวจจับเป้าหมายได้ 64 เป้าหมาย แต่ติดตามการเคลื่อนที่ของเป้าหมายเหล่านั้นได้เพียง 4-6 เป้าหมาย และสามารถยิงอาวุธได้ไม่เกิน 2 ลูกพร้อมกัน ขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถตรวจจับและติดตามการเคลื่อนที่ของเป้าหมายได้มากกว่า 100 เป้าหมาย และสามารถยิงอาวุธได้มากกว่า 4 ลูกพร้อมกัน
ทั้ง 7 ข้อคือคำถามเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าที่กองทัพเรือในฐานะผู้จัดซื้อ และเตรียมผูกพันงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชนนานถึง 11 ปี ต้องตอบให้เคลียร์!