คอลัมนิสต์

เปิดสาระร่างกฎหมาย “พรรคการเมือง - กกต.” ฉบับเตรียมส่ง “สนช.

เปิดสาระร่างกฎหมาย “พรรคการเมือง - กกต.” ฉบับเตรียมส่ง “สนช.

16 เม.ย. 2560

วันที่ 18 เม.ย. นี้ กรธ. จะส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกให้ สนช. พพิจารณา เรามาดูกันว่า กฎหมายพรรคการเมือง และ กฎหมาย กกต. นี้มีเนื้อหาอย่างไร

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลบังคับใช้  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรธ. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับได้ แก่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วเสร็จแล้วและเตรียมส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 18 เม.ย. นี้ เพื่อพิจารณาตามกระบวนการและกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้สนช. พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายแต่ละฉบับ

โดยล่าสุด กรธ. ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.ป.กกต. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับที่พร้อมส่งให้สนช. แล้ว โดยมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญดังนี้

1. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เพิ่มกรณีของการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง มาตรา 10 วรรสอง กรณีชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง ต้องไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ หรือพระนามของพระราชวงศ์ หรือที่มุ่งหมายให้หมายถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์

เพิ่มมาตรา 14 ว่าด้วยคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคและนโยบายพรรคการเมืองขึ้นใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไข 3 ประเด็นคือ 1.ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ, 2. ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ 3. ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ

ประเด็นของการกำหนดข้อบังคับพรรคการเมือง เพิ่มเติมรายละเอียดที่ต้องกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสาขาพรรคการเมือง หน้าที่และอำนาจของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมถึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลที่พรรคการเมืองเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับเลือกเป็นนายกฯ และ วิธีการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกอย่างกว้าง

 

นอกจากนั้นได้ห้ามบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ด้านการทำกิจกรรมทางการเมือง นอกจากต้องส่งเสริม เสริมสร้าง อย่างมีส่วนร่วมกับสมาชิกพรรคและประชาชนเพื่อใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างรับผิดชอบและร่วมพัฒนาประเทศแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้ว ยังกำหนดให้ในแต่ละปีพรรคการเมืองต้องทำกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัมนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพัฒนาให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนตามที่ กกต. ให้ความเห็นชอบ

 

การสิ้นสุดสมาชิกพรรคการเมือง มีบทเพิ่มเติม โดยยกเว้นให้สมาชิกที่บวชตามพระเพณีนิยมเป็นสมาชิกพรรคต่อได้ แต่ระหว่างนั้นห้ามใช้สิทธิฐานะสมาชิกพรรค

 

ประเด็นของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นอกจากจะกำหนดให้รับฟังความเห็นจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการส่งผู้สมัครที่เป็นเพศชาย และเพศหญิงในอัตราส่วนขั้นต่ำ ซึ่งพรรคการเมืองต้องร่วมกับ กกต. กำหนดรายละเอียด ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายมีข้อกำหนดให้แจกแจงรายการ อาทิ วงเงินที่ต้องใช้พร้อมแหล่งที่มา, ความคุ้มค่าและประโยชน์ของนโยบาย รวมถึงผลกระทบ ความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายด้วย

 

ขณะที่หมวดว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองได้เพิ่มข้อห้าม ต่อกรณีที่วัด หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศาสนา และองค์กรทางศานาที่อาจมีหรือไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นๆ ให้พรรคการเมือง ทั้งนี้ยังเปิดช่องให้ “กกต.” กำหนดห้ามองค์กรหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ทำงานเพื่อสาธารณะโดยไม่หวังผลกำไร ด้วยก็ได้

 

ส่วนประเด็นการลงโทษพรรคการเมือง ด้วยการยุบพรรคนั้น ยังกำหนดรายละเอียดสำคัญ ไว้ คือ มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศด้วยวิธีที่ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้, ทำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง รวมถึงตั้งพรรคเพื่อแสวงหารายได้มาแบ่งกัน, ให้ บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค ครองงำ ควบคุม ชี้นำ สมาชิกพรรคจนขาดอิสระ, สนับสนุนการบ่อนทำลายความมั่นคง ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของชาติ, ราชการแผ่นดิน, คุกคามศีลธรรมของประชาชนและทำลายทรัพยากร รวมถึงรับเงินบริจาคที่มาโดยไม่ชอบทางกฎหมายหรือมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบ รวมถึงรับเงินบริจาคจากบุคคลต่างชาติ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวสามารถยื่นให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย จากเดิมที่ไม่ได้ระบุโทษต่อกรรมการบริหารพรรค

 

ขณะที่บทเฉพาะกาลซึ่งเป็นเนื้อหาที่กำหนดให้พรรคการเมืองในปัจจุบันต้องปฏิบัติและทำกิจกรรมภายในพรรคเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเลือกตั้ง มีบทเปลี่ยนแปลงเฉพาะการแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ต่อนายทะเบียนภายใน 90 วัน จากเดิมที่กำหนดเวลาให้ 30 วัน

เปิดสาระร่างกฎหมาย “พรรคการเมือง - กกต.” ฉบับเตรียมส่ง “สนช.

2. ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. 

มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่กรธ. ปรับปรุงก่อนส่งให้ สนช. ที่น่าสนใจ ดังนี้ ประเด็นการตรวจสอบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ให้อำนาจ กกต. เรียกกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริตกำหนดแนวทางของการทำงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อการทำการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม ชอบด้วยกฎหมาย และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรยึดปฏิบัติตามแนวทางที่ได้หารือด้วย

 

ขณะที่คุณสมบัติของ กกต. ยังเพิ่มเติมลักษณะต้องห้าม ในประเด็นจริยธรรม ที่ต้องไม่เคยมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเพิ่มเติมจากกรณีลักษณะต้องห้ามตามที่มีกฎหมายใช้บังคับ และการไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองมาอย่างน้อย 10 ปีก่อนเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ขั้นตอนเลือกกกต. นั้นให้คัดเลือกจากกรรมการสรรหาและส่งรายชื่อให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบ ทั้งนี้มีเงื่อนไขที่เพิ่มเติมคือ กรณีผู้ที่เสนอชื่อให้วุฒิสภาลงมติแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ ห้ามเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกเป็น กกต.อีก

 

ขณะที่การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้งและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย ยังกำหนดให้ กกต. ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง จังหวัด 5-8 คนทำหน้าที่ โดยกำหนดบทบาทให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่

 

ส่วนประเด็นค่าตอบแทนประธานกรรมการ และกรรมการที่ดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปี จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีออกเมื่อครบวาระ, ตาย, ลาออก มีอายุครบ 70 ปีโดยการจ่ายค่าบำเหน็จนั้นให้นำเงินเดือนคูณด้วยปีที่ดำรงตำแหน่ง โดยเศษของปีให้นับเป็น 1 ปี

 

ส่วนการทำหน้าที่ของกกต. นั้นมีข้อห้ามที่เขียนเพิ่มในบทกำหนดโทษ คือ ห้ามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง การสืบสวน รวมถึงเบาะแสที่ผู้แจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับการทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่กรรมการ หรือผู้มีหน้าที่ หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นกกต., เลขาธิการ กกต., ผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงานกกต. ให้รับโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้

 

ส่วนบทเฉพาะกาลยังคงกำหนดไว้ตามร่างพ.ร.ป.กกต. ที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้ แต่มีเนื้อหาที่เพิ่มเติมส่วนการสิ้นสภาพของกกต.ประจำจังหวัด ที่กำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ฉบับใหม่ใช้บังคับ.

----------