
อ่านใจนักตุ๋น-เท้าแชร์ รู้เขาหลอกหรือเต็มใจให้หลอก
นลิน สิงหพุทธางกูร ผู้สื่อข่าว NOW26
หากนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ที่มีเหยื่อแชร์ทัวร์ของเครือข่าย ซินแส โชกุน ไปรวมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิร่วมๆ 2,000 คน นับจากนั้นก็มีเหยื่อแชร์ลูกโซ่และการต้มตุ๋นรูปแบบต่างๆ โผล่ร้องเรียนรายวัน นับถึงวันนี้ก็ราวๆ 10 กรณีเข้าไปแล้ว
มูลค่าความเสียหายนับรวมคร่าวๆ มากกว่า 500 ล้านบาท!
คำถามที่หลายคนสนใจใคร่รู้ก็คือ ทำไมการหลอกลวงต้มตุ๋นจึงแพร่ระบาด เป็นเพราะอาศัยความโลภของคนใช่หรือไม่ และทางแก้ควรจะเป็นอย่างไร
ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ให้ฟังว่า ปัญหานี้มีทฤษฎีอธิบายใน 2 มุม 2 มิติ กล่าวคือ ในมิติของฝ่ายล่อลวง พวกเท้าแชร์ลูกโซ่ หรือแม่ข่ายแก๊งต้นตุ๋น กับในมิติของเหยื่อ
เริ่มจากฝ่ายล่อลวงก่อน ร.ต.อ.ดร.จอมเดช แจกแจงด้วยทฤษฎี Rational Choice หรือทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่ง แกร์รี่ เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญนำมาอธิบายในแง่พฤติกรรมศาสตร์ว่าด้วยการตัดสินใจของมนุษย์ที่เลือกกระทำผิดจากผลดีผลเสียที่ได้รับ
“คำถามที่ผมถามนักศึกษาเวลาสอนคือ คิดว่าจะได้เงินเท่าไหร่จึงจะหนีไปจากที่ที่เคยอยู่ หรืองานที่กำลังทำ คำตอบก็จะมีตั้งแต่สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน คำถามที่สองคือจะหนีไปไหน คำตอบที่ได้ก็แล้วแต่จะคิดกัน บางคนก็เลือกไปประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน บางคนก็เลือกประเทศที่ตัวเองอยากไปอยู่”
"การตัดสินใจแบบนี้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนจึงไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดหรือถูก แต่คิดว่าถ้าทำแล้วไม่ถูกจับได้ ได้เงินจำนวนหนึ่งที่สามารถไปใช้ชีวิตใหม่ได้ในสถานที่ใหม่ก็คุ้มที่จะทำ และส่วนใหญ่จะคิดเผื่อเรื่องการไม่โดนจับไว้ก่อน โดยเฉพาะกรณีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จะเตรียมทางหนีไว้ก่อนว่าจะหนีอย่างไร”
“คนพวกนี้จะไม่มองในแง่ของความดีความชั่ว เพราะมนุษย์แต่ละคนชั่งใจได้ไม่เท่ากัน แต่ทฤษฎีนี้จะอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ว่าการกระทำจะมีปัจจัยที่ถูกนำไปคำนวณ เช่น เงินเดือนที่ได้รับปกติ ยิ่งเงินเดือนมาก การตัดสินใจทำผิดจะต่ำ หรือสถานที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ปัจจุบัน ถ้าพอใจมาก ก็รู้สึกไม่คุ้มที่จะเสี่ยงทำผิด"
ร.ต.อ.ดร.จอมเดช สรุปว่า นี่คือสิ่งที่บรรดา “เท้าแชร์” หรือ “แม่ทีมแชร์ลูกโซ่” เอาไปประมวลผลว่า ถ้าสิ่งที่พวกตนทำจะไม่ถูกจับ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด คนพวกนี้ก็จะทำ ส่วนคนที่ไม่ทำผิดก็เพราะกลัว เพราะเชื่อว่าไม่มีวันที่เราจะรอดจากการถูกจับกุม
“การแก้ปัญหาต้องตามจับผู้กระทำผิดรายใหม่ๆ ให้ได้ ไม่ใช่ไปย้อนถึงแชร์ชม้อย เพราะคนที่เลือกจะหลอกคนอื่นทุกวันนี้จะรับรู้เรื่องแชร์ชม้อยแล้ว เพราะมันนานมาก ขนาดเหยื่อยังไม่นึกถึงเลย มันเก่าเกินไป ถ้าเขาคิดว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่จะรอดมากกว่าก็ตัดสินใจทำอยู่ดี ฉะนั้นการจับกุมให้ได้มากที่สุดจะลดความเสี่ยงได้”
“สถานการณ์นี้เป็นเรื่องเดียวกับการลักทรัพย์ทั่วไป เช่น การทุบกระจกรถยนต์ พอมีคนหนึ่งทำได้ คนอื่นก็ทำตาม ซอยเปลี่ยวซอยนี้รถโดนทุบตลอด ตำรวจก็จับไม่เคยได้ แต่ถ้ามันเริ่มมีการจับได้ จะทำให้คนที่คิดจะทำผิดยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเลิกทำผิดกันหมด เพราะผลประโยชน์มันล่อตาล่อใจ” นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ
ส่วนในฝ่ายของเหยื่อ มีทฤษฎีที่ โรเบิร์ต เค. เมอร์ตัน อธิบายผ่านสังคมอเมริกาในอดีต มีค่านิยมอยากรวย หรือ "อเมริกันดรีม" จึงไม่สนใจวิธีการ คนส่วนหนึ่งไม่คิดตั้งคำถามว่าสิ่งที่ลงทุนไปจะล้มได้หรือเปล่า แต่คิดแค่ว่าผลตอบแทนคุ้มหรือไม่ ถึงแม้จะคุ้มจนน่าตกใจ แต่ก็ไม่ระแวดระวังเลย
“จริงๆ แล้วการหลอกลวงลักษณะนี้ ผลตอบแทนจะสูงมากจนเราต้องเอะใจได้ว่า เป็นไปไม่ได้จริงๆ หรอก เพราะฉะนั้นการที่คนเราอยากรวยเสียจนลืมมอง ลืมนึกไปว่า ข้อเท็จจริงควรจะเป็นแบบไหน ก็เลยทำให้ถูกหลอกไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อความโลภของตัวเอง”
เมื่อถามถึงกรณีหมอตุ๋นหมอ ซึ่งเป็นคนมีความรู้สูง ร.ต.อ.ดร.จอมเดช บอกว่า อาจจะไม่เอะใจ หมายถึงลืมเอะใจ แต่หากพิจารณาในรายละเอียด คนกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นสองพวก คือ ไม่เอะใจจริงๆ กับอีกพวกก็คิดจะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์คุ้มก็ไม่ถือเป็นผู้เสียหาย
“จริงๆ แล้วมันเป็นคอมมอนเซนส์ว่าอะไรที่ถูกเกินไป แปลกประหลาดเกินไป เราไม่ควรจะต้องไขว่คว้ามัน หรือควรจะตรวจสอบก่อนว่าจริงหรือเปล่า อย่างเช่นทัวร์ต่างประเทศที่ราคาถูกจนเป็นไปไม่ได้ มันก็น่าจะเป็นการหลอกลวง แต่ถ้ายอมรับ ยอมเลือกสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย”
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องมีทั้งป้องกันและปราบปราม แต่คำแนะนำคลาสสิก หรือคำแนะนำเชยๆ เช่น ต้องให้การศึกษาแก่คน นักอาชญาวิทยาผู้นี้เห็นว่าไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดลง
“เพราะตราบใดที่คนยังรู้สึกว่าอยากเสี่ยง อยากลอง ชอบของถูก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร คนใกล้ชิดก็สำคัญ ต้องช่วยกันเตือน ให้คิด ให้เช็ก ให้ตรวจสอบ แม้บางทีตรวจสอบไปแล้วมีการจดทะเบียนทางการค้าจริง แต่ก็ต้องเอะใจว่ากิจการพวกนี้มีวันล้มนะ ให้คิดตามผลตอบแทนที่มากเกิน ไม่นานก็คงเจ๊ง หรือไม่ก็มีคนเข้าร่วมมากจนหมุนเงินไม่ทัน”
“ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการลงโทษพวกหัวโจก ต้องริบทรัพย์ เพราะมิจฉาชีพพวกนี้สิ่งเดียวที่จะทำให้เจ็บที่สุดคือ เงินที่พวกนี้หามาทั้งหมดต้องสูญไป เมื่อถูกยึดทรัพย์แล้วต้องประจานด้วย” ร.ต.อ.ดร.จอมเดช กล่าวทิ้งท้าย