
บทเรียนไฟไหม้ตึกสูงลอนดอน“จะหนี”หรือ“อยู่ในห้อง”รอคนช่วย?
ถอดบทเรียนไฟไหม้ตึกสูงลอนดอนจากผู้เชี่ยวชาญ คนที่ติดจะหนีหรืออยู่ในห้องเพื่อรอคนมาช่วยที่นี่มีคำตอบ
กรณี “ไฟไหม้เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์” ตึกสูงใหญ่กว่า 20 ชั้นกลางกรุงลอนดอน กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับสถาปนิกและวิศวกรทั่วโลก เนื่องจากโครงสร้างที่ดูแข็งแรงพร้อมการปรับปรุงตบแต่งภายในเสร็จแค่ 2 ปี แต่กลับเกิดสิ่งไม่คาดฝันคือ ระบบอัคคีภัยล้มเหลว ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 คน...
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพลิงไหม้เกิดขึ้นช่วงเที่ยงคืน คาดว่าต้นเพลิงอยู่ชั้น 4 แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เจ้าหน้าที่สืบสวนอธิบายเพียงว่าต้นเพลิงเกิดที่ชั้น 4 แล้วลุกลามอย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก 20 ชั้น เนื่องจากลมพัดพาเปลวไฟและควันขึ้นไปตามร่องอาคาร ยิ่งตึกสูงลมยิ่งมีกำลังและความเร็วพัดพุ่งขึ้นไป หรือที่เรียกกันว่า ปรากฏการณ์ปล่องควันไฟ (Chimney Effect)
ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจาก มาตรฐานการประหยัดพลังงานของอาคาร จึงใช้วัสดุกันฝนเป็นวัสดุครอบตัวอาคารด้านนอก เพื่อทำให้ดูทันสมัย โดยไม่รู้ว่าวัสดุนั้นจะกลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ทีมสืบสวนยังไม่เปิดเผยผลการตรวจสอบออกมาอย่างเป็นทางการว่า เป็นวัสดุอะไรกันแน่ และหากเกิดจากวัสดุตบแต่งด้านนอกอาคารจริง ทำไมถึงผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานป้องกันอัคคีภัย ? ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานวัสดุเหล่านี้ก่อนอนุญาตให้นำมาสร้างอาคาร
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้รอดชีวิตจากไฟไหม้อาคารนี้ยังเล่าอีกว่า ระบบเตือนภัยไม่ทำงาน ระบบฉีดน้ำสปริงเกลอร์ที่มีหัวฉีดอยู่ในห้องก็ไม่ทำงาน ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ในตึกได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า “ให้อยู่ในห้องอย่าออกมา”
สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานบทสัมภาษณ์ “แววตา ศุภฤกษานนท์” ชาวไทยวัย 62 ปี ผู้อาศัยบนชั้น 10 ของอาคารเกรนเฟลล์ ผู้รับรู้เหตุไฟไหม้ตั้งแต่ตี 1 และเมื่อโทรศัพท์แจ้ง 999 เจ้าหน้าที่สั่งไม่ให้ออกจากห้องพัก จึงตัดสินใจรอตั้งแต่ตี 1 จนถึงเกือบตี 4 ก่อนทนไม่ไหวเปิดหน้าต่างตะโกนขอความช่วยเหลืออีกครั้ง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้ามาช่วยตนเองและครอบครัวออกไปทางบันไดหนีไฟที่มีสภาพมืดมิด
ประเด็นสำคัญ คือ “แววตา” กล่าวให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า นี่คือ บทเรียนสำคัญในชีวิต และต่อจากนี้ไป จะไม่เชื่อคำสั่งเจ้าหน้าที่ให้รอในห้อง หากเกิดไฟไหม้แบบนี้อีกต้องหนีเอาตัวรอดก่อน
กลายคำถามที่กำลังถกเถียงกันตอนนี้ คือ
หากเกิดไฟไหมแล้วผู้ติดอยู่ในอาคารสูงควรหนีออกมาเอง หรือรอนักดับเพลิงขึ้นไปช่วย โดยเฉพาะตึกสูงในไทยที่ไม่แน่ใจว่าการก่อสร้างถูกต้องตามมาตรฐานสากลหรือไม่ ?
“พิชญะ จันทรานุวัฒน์” เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันอัคคีภัย อธิบายว่า กรณีไฟไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ต้องมีการสืบสวนหาสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่พิจารณาแค่รูปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ นั้น จะเห็นวัสดุตบแต่งด้านนอกอาคารที่อาจกลายเป็นเชื้อเพลิงได้ เพราะภายนอกคล้ายวัสดุอะลูมิเนียมมีไส้ภายในที่อาจเป็นพลาสติก เมื่อเกิดติดไฟขึ้นมาส่วนที่เป็นพลาสติกกลายเชื้อเพลิงอย่างดีทำให้ลุกลามด้านนอกทั้งหมด
“ปกติการสร้างตึกต้องมีการอุดช่องว่างระหว่างชั้นอย่างดี เพื่อป้องกันหากเกิดไฟไหม้ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วไม่ลุกลามไปชั้นอื่น ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับระบบป้องกันไฟไหม้สำหรับตึกและอาคารสูง เช่น ระบบเสียงกระดิ่งเตือนภัย ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ(Automatic Sprinkler System) บันไดหนีไฟ ท่อน้ำดับเพลิง ฯลฯ แต่ถ้าเป็นตึกเก่าสร้างนานมาก ไม่ค่อยมีระบบพวกนี้ ส่วนกรณีวัสดุตบแต่งหรือก่อสร้างกรอบอาคาร ในหลายประเทศมีกฎหมายควบคุมว่าต้องเป็นวัสดุกันไฟไหม้เท่านั้น แต่ของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายระบุในเรื่องนี้ชัดเจน”
สำหรับวิธีการหนีเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ติดค้างในชั้นสูงของอาคารที่เกิดไฟไหม้นั้น เลขาธิการวิศวกรรมฯ กล่าวแนะนำว่า เมื่อรู้ตัวว่าเกิดไฟไหม้ให้รีบไปสำรวจบริเวณ “ทางหนีไฟฉุกเฉิน” ทันที หากเพลิงไหม้และควันไฟยังไม่มากนัก ควรรีบหนีออกมานอกตึก แต่ถ้ามีเพลิงไหม้และควันไฟหนาแน่นมากการออกมาอาจทำให้เกิดอันตรายได้
“สิ่งที่เจ้าของและทุกคนที่อยู่อาศัยหรือทำงานบนตึกสูงควรทำคือ การตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยอย่างสม่ำเสมอ เพราะอุปกรณ์แต่ละชนิดมีระยะการตรวจซ่อมบำรุงไม่เท่ากัน บางอย่างต้องตรวจทุกเดือน เช่น ระบบเปิดปิดก๊อกน้ำดับเพลิง บางอย่างตรวจทุก 3 เดือนหรือทุกปี เช่น สัญญาณเตือนไฟไหม้ว่าดังหรือไม่ สายท่อดับเพลิง น้ำมันเครื่องยนต์สูบน้ำ แม้แต่ถังดับเพลิงควรตรวจว่าเข็มยังทำงานหรือไม่ ผงเคมีแห้งบรรจุอยู่ด้านในถังหมดอายุหรือยัง สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะหากเกิดไฟไหม้ในตึกสูง รถดับเพลิงทั่วไปของเมืองไทยฉีดน้ำได้แค่ความสูงของตึก 2-3 ชั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องอาศัยอุปกรณ์ดับเพลิง หรือเส้นทางหนีไฟฉุกเฉินภายในอาคารเป็นหลัก”
สำหรับกฎหมายและกฎระเบียบหลายฉบับของประเทศไทย มีการระบุถึงระบบป้องกันอัคคีภัยมาตรฐาน โดยเฉพาะกฎกระทรวงล่าสุด “การกําหนดประเภทและระบบความปลอดภัย ของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555” ที่สรุปในส่วนของ “ทางหนีไฟ” และ “วัสดุที่ติดไฟ” ได้ว่า
“ทางหนีไฟ” หมายถึง ส่วนหนึ่งของเส้นทางหนีไฟที่ถูกแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคาร เพื่อความปลอดภัยตลอดทางจนถึงทางปล่อยออก โดยทางหนีไฟจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟหรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ และส่วนปิดล้อมนี้ต้องมีอัตราการทนไฟเป็นไปตามที่กําหนด
“วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดานที่ใช้ภายในสถานบริการ” ต้องเป็นวัสดุที่ติดไฟ หรือลุกไหม้ที่มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 750 องศาเซลเซียสขึ้นไป หากใช้วัสดุติดไฟง่าย หรือลามไฟเร็ว ได้แก่ วัสดุที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม พลาสติกประเภทโฟม เยื่อกระดาษ หรือเยื่อที่ผลิตจากเซลลูโลส วัสดุต้องมีการทดสอบคุณสมบัติการติดไฟหรือลุกไหม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยวัสดุและการทดสอบของ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” หรือมาตรฐานอื่นที่ “คณะกรรมการควบคุมอาคาร” รับรอง
หากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอาคารสูง จะระบุให้จัดช่องทางเฉพาะสำหรับนักดับเพลิงในทุกชั้นของอาคาร อาจเป็นลิฟต์ดับเพลิงหรือช่องบันไดหนีไฟก็ได้ มีตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงประจำชั้นของอาคาร มีพื้นที่บนดาดฟ้าเพื่อใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศ และอาคารสูงต้องมีลิฟต์ดับเพลิงที่มีขนาดบรรทุกไม่น้อยกว่า 630 กิโลกรัม โดยลิฟต์ดับเพลิงต้องมีระบบควบคุมพิเศษสำหรับพนักงานดับเพลิงใช้ขณะเกิดเพลิงไหม้ มีผนังหรือประตูทำด้วยวัสดุทนไฟปิดกั้นมิให้เปลวไฟหรือควันไฟเข้ามาได้
“วิศวกรผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัย” รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ 2 ส่วนสำคัญคือ ส่วนที่ 1 สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบรูปทรงอาคาร จะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุต่างๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนที่ 2 คือ วิศวกรที่ออกแบบโครงสร้างตึก จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมในเรื่องความแข็งแรง คุณภาพและราคาของวัสดุ ฯลฯ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่ถ้าในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการกำหนดมาตรฐานไว้เป็น “บิวดิ้งโค้ด” (building code) เสมือนคู่มือกำกับว่าต้องใช้วัสดุป้องกันไฟไหม้ในส่วนก่อสร้างที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง บางประเทศกำหนดเลยว่าการสร้างอาคารสูงต้องทำตาม “มาตรฐานป้องกันอัคคีภัย" (National Fire Protection Association : NFPA) ทั้งการออกแบบโครงสร้าง การก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ ฯลฯ
“วัสดุป้องกันไฟสำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดว่าหากเกิดไฟไหม้ คนจะตัดสินใจอย่างไร เช่น ถ้าคุณไปพักโรงแรมทั่วไป 2-3 ดาว ถ้าไฟไหม้ให้รีบหาทางวิ่งหนีออกมา เพราะไฟหรือควันไฟจะลุกลามเข้าไปในห้องอย่างรวดเร็วแน่นอน แต่ถ้าเป็นโรงแรม 5 ดาวที่ได้มาตรฐานต่างประเทศ การก่อสร้างถูกบังคับให้ใช้ประตูห้องทำด้วยเหล็กมีคุณสมบัติกันความร้อน 90 องศาได้นาน 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าไฟไหม้ เราแค่เอาผ้าชุบน้ำไปกั้นใต้ประตู แล้วปิดหน้าต่าง นั่งรอคนมาช่วยจะปลอดภัยกว่า”
ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นแนะนำต่อว่า การหนีออกมา “บันไดหนีไฟ” นั้น ไม่ใช่ว่าปลอดภัยเสมอ ต้องพิจารณาด้วยว่าเพลิงไหม้เกิดที่ชั้นใด หากประตูชั้นนั้นเปิดกว้างไว้สำหรับคนหนีออกมา แล้วมีควันไฟพุ่งตามมาด้วย ยิ่งทำให้คนที่กำลังวิ่งลงบันไดทั้งหมดสำลักควันพร้อมๆ กัน หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกสูงแล้วพบคนเสียชีวิตจำนวนมากในบริเวณทางหนีไฟแคบๆ
“จากประสบการณ์ที่การตรวจสอบระบบป้องกันไฟไหม้ในอาคารต่างๆ ของกรุงเทพฯ นั้น เชื่อว่ามีไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ทำถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นชาวบ้านต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ช่วยกันตรวจสอบว่าตึกของตัวเองมีระบบป้องกันไฟไหม้อะไรบ้าง มีทางเชื่อมให้นักดับเพลิงทำงานสะดวกหรือไม่ มีท่อน้ำดับเพลิงและสายดับเพลิงเชื่อมต่อในอาคารชั้นสูงทุกชั้นหรือไม่ ลิฟต์ขนของใช้วัสดุกันไฟจริงหรือไม่”
ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวแนะนำต่อว่า “ลิฟต์ขนของ” ตามอาคารต่างๆ นั้น ตามกฎหมายเรียกว่า ลิฟต์ดับเพลิง หรือ “ลิฟต์ผจญเพลิง” (FIREMAN LIFT) ถ้ามีสัญญาณไฟไหม้ ลิฟต์นี้จะยกเลิกคำสั่งทั้งหมดแล้ววิ่งมาจอดที่ชั้น 1 เพื่อรอเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เพราะเป็นลิฟต์ที่สร้างด้วยวัสดุกันไฟ มีระบบอัดอากาศป้องกันควันไฟเข้ามาด้วย ในต่างประเทศใช้ผจญเพลิงได้จริง แต่ของเมืองไทยบางครั้งใช้ไม่ได้ เพราะนายจ้างกับผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยวัสดุไม่ได้คุณภาพ ตรงจุดนี้ผู้บริโภคคงต้องไปสอดส่องตรวจสอบอาคารที่พักอาศัยหรือที่ทำงานด้วยตัวเอง
เพราะปัจจัยของระบบป้องกันอัคคีภัยเหล่านี้ คือ ส่วนสำคัญที่จะนำไปตัดสินใจว่า หากเกิดไฟไหม้จะวิ่งหนีออกทางใด หรือปิดประตูรอคนมาช่วย
สำหรับประเทศอังกฤษนั้น ล่าสุด “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมากล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารสูงที่พักอาศัยทั่วประเทศ ว่าระบบป้องกันอัคคีภัยเป็นอย่างไร ได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก
นับว่าคำสั่งนี้มาช้ากว่า คำสั่งบิ๊กตู่เกือบ 2 ปี เพราะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ตรวจตราอาคารและสถานที่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ว่ามีระบบและมาตรการชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้หรือเปล่า รวมถึงตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ดับเพลิงที่มีอยู่ด้วยว่ายังพร้อมใช้งานหรือไม่
หวังว่าโศกนาฏกรรมไฟไหม้ที่เกิดในกรุงลอนดอน จะกลายเป็นเสียงนาฬิกาปลุกเตือนกระตุ้นให้ “บิ๊กตู่” จำคำสั่งนี้ได้ และขอคำตอบจากมหาดไทยและกทม. ว่า ผลการตรวจตราอาคารสูง ไปถึงไหนกันแล้ว... ประชาชนรอคำตอบอยู่...
ทีมข่าวรายงานพิเศษ