คอลัมนิสต์

“วิลาสินี พิพิธกุล” เส้นทาง ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ไม่ราบเรียบ

“วิลาสินี พิพิธกุล” เส้นทาง ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ไม่ราบเรียบ

06 ก.ค. 2560

เมื่อ "วิลาสินี พิพิธกุล" ได้รับเลือกเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่ แต่ดูเหมือนหนทางของเธอคงไม่ราบรื่นนักเพราะยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้า

        6 ก.ค. 2560 - รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส คนใหม่ นั้นปัจจุบันอายุ 52 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และปริญญาโทด้านสตรีศึกษา จาก University of Kent ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้เธอยังจบปริญญาโทและปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

        สำหรับการทำงานด้านวิชาการนั้น เคยเป็นอาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยนก จ.ลําปาง เป็นผู้อํานวยการโครงการฝึกอบรม สถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบรรณาธิการ วารสารสื่อมวลชนปริทัศน์

 

        ส่วนงานด้านสังคมเคยเป็น กรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เคยเป็นอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการสื่อสารสังคม ในคณะกรรมการสุขภาพดีวิถีไทย กระทรวงสาธารณสุข กรรมการส่งเสริมวาระการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สํานักนายกรัฐมนตรี กรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปสื่อภาครัฐ สํานักนายกรัฐมนตรี

 

        สำหรับงานด้านสื่อนั้น เคยเป็น กรรมการสรรหากรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2551 - 2557) กรรมการ บมจ. อสมท. (มหาชน) (พ.ศ. 2549 - 2551) เป็นกรรมการพัฒนาระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ สํานักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2550 - 2552) เป็นกรรมการประสานงานขับเคลื่อนวาระแห่งชาติสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (พ.ศ. 2550 - 2552) คณะทํางานเตรียมการบริหารจัดการสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสําหรับปวงชน กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2548 – 2550)

  

        นอกจากนี้เธอยังเคยทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ

 

        ซึ่งเมื่อ “ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” อดีตผู้จัดการ สสส. ข้ามห้วยมาเป็น ผอ.สสท.ก็ได้แต่งตั้ง “วิลาสินี” เป็นรองผู้อำนวยการ ในช่วงปี 2559

        อย่างไรก็ตามเมื่อ “หมอกฤษดา” ต้องลาออกจากตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส เนื่องด้วยปมปัญหาเรื่องการซื้อหุ้นกู้บริษัทซีพีเอฟ ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสม “วิลาสินี” จึงพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

 

        ต่อมาเธอก็ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่

        ซึ่งระหว่างการสรรหาเธอก็ถูกโจมตีด้วยข้อหาเดียวกันกับ “หมอกฤษดา” เพราะเป็นผู้ร่วมลงนามในการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟด้วย นอกจากนี้ ทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงมีหนังสือให้ ไทยพีบีเอส ดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็กำลังสอบสวนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

 

        ต่อมาเธอได้ออกมาชี้แจงว่า จากการสอบข้อเท็จจริงของ ส.ส.ท. ไม่มีผู้ใดได้รับประโยชน์จาการซื้อหุ้นดังกล่าว นอกจากนี้การลงนามของเธอก็เป็นเพียงการลงนามในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากผ่านการอนุมัติของผู้อำนวยการมาแล้ว และพร้อมที่จะรับกลไกการตรวจสอบ

 

        นอกจากประเด็นเรื่องหุ้นกู้ เธอยังถูกโจมตีว่าเป็นตัวแทนของ สสส.  เพราะนอกจากเคยทำงานกับ “ทพ.กฤษดา” แล้ว ยังเป็นภรรยาของ “ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการ สสส. คนปัจจุบันอีกด้วย

 

        ขณะที่กระบวนการสรรหานั้นก็ถูกระบุว่ามีปัญหาเพราะมีการตั้จข้อสังเกตว่า เหตุใดกรรมการสรรหาจึงเสนอผู้เข้ารอบสุดท้ายเพียง 2 คน คือตัวเธอกับ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ทั้งๆที่ข้อกำหนดระบุให้เสนอชื่อได้ไม่เกิน 5 คน โดยนัยว่าเพื่อเป็นการกลั่นกรอง ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

 

        แต่การคัดเลือกให้เหลือเพียงสองคนขึงคล้ายเป็นการ “คัดออก” และตัดสินมากกว่าการกลั่นกรอง

 

        อย่างไรก็ตามก็มีความเห็นว่า ผู้ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะต้องการสนับสนุนผู้สมัครรายหนึ่งที่ไม่ผ่านการคัดเลือกของกรรมการสรรหา ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงและข้อทักท้วงโดยมีการทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสิน

 

        และได้รับเลือกจาก ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุม ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่

 

        ทั้งนี้มีรายงานว่ามีกรรมการนโยบายสองคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมคือ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และ นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีคนต้องการให้ล้มการสรรหาครั้งนี้

 

        ต้องดูว่าหลังจากนี้จะมีการเดินเกมอย่างไรต่อไปหรือไม่ และหนทางสู่การเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส จะราบรื่นตลอดรอดฝั่งหรือไม่

-----

“วิลาสินี พิพิธกุล” เส้นทาง ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ไม่ราบเรียบ

        นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ระบุเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมการประชุมเพื่อลงมติคัดเลือก ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ว่า ตนในฐานะประธานกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ของไทยพีบีเอส ได้รับคำแนะนำจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองคนคือ นายแก้วสรร อติโพธิ และ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ ต่อข้อท้วงติงว่าไม่ควรจะเข้าร่วมลงมติคัดเลือก เนื่องจากปัญหากระบวนการสรรหาและความเสี่ยงต่อการทำผิดธรรมาภิบาล เพราะการสรรหาผู้เข้ารนับการโหวตที่เสนอไปเพียง 2 คนจากที่ต้องเสนอไปไม่เกิน 5 คน ถือว่าวิธีการสรรหาไม่เหมาะสม และไม่ได้พิจารณาตามคุณสมบัติ ที่ถูกกำหนดไว้ ดังนั้นการเสนอชื่อให้ลงมติเพียงสองคน แทนที่จะส่งเพียง 5คน อาจจะถูกมองว่าเป็นวิธีการตัดสินคนอื่นและเป็นการละเมิดสิทธิ คนที่ลงสมัครได้ โดยตนกังวลว่าเรื่องนี้จะมีผลทางข้อกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการเอาผิด และมีการฟ้องร้องตนและคณะกรรมการสรรหา

 

        “ผมแก่แล้วไม่อยากไปขึ้นโรงขึ้นศาลอีก” นายณรงค์กล่าว

 

        นายณรงค์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้ข่าวมาว่าผู้ที่สมัคร และถูกตัดสิทธิจะไปยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหาด้วย อย่างไรก็ตามมองว่าบทบาทของคณะกรรมการสรรหาควรเป็นผู้กลั่นกรองไม่ใช่ผู้ชี้ขาด ควรพิจารณคุณสมบัติข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงข้อมูลย้อนหลังเช่นคดีความที่ ล่าสุด สตง. วินิจฉัยการกระทำที่ขัดระเบียบเป็นต้น ตนมองว่าคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์และตนที่เป็นกรรมการธรรมาภิบาลฯ เห็นว่าทำเองนี้ไม่ถูกต้อง ส่วนผลคะแนนเสียงที่ลงมติวันนี้ตนไม่รับรู้และรับทราบ รู้แต่กระบวนการสรรหาไม่สมบูรณ์ ตนเคยทำความเห็นไปยังประธานกรรมการนโยบายถึงกระบวนกาสรรหาและขอให้ทบทวน ไม่แน่ใจว่าประธานนโยบายทำหนังสือส่งให้กรรมการสรรหาพิจารณาอย่างไรหรือไม่

 

        เมื่อถามว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีกรรมการนโยบายส่วนหนึ่งต้องการเลือกคนที่ไม่ผ่านการสรรหาใช่หรือไม่ นายณรงค์กล่าวว่า คนที่เข้ารับการสรรหาตนรู้จักเพียงสองคนนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และ รศ.ดร. วิลาสินี พิพิธกุล โดยนายอดิศักดิ์รู้จักในฐานะที่ร่วมก่อตั้งนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ที่ตนบุกเบิกและเขียนคอลัมน์ ส่วน รศ.ดร.วิลาสินีรู้จักในฐานะที่ทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน

---------