เปิดโลก“นวัตกรรม4M” ใช้“แอพพลิเคชั่น”ทำบัญชีครัวเรือน
เปิดโลก“นวัตกรรม4M” ใช้“แอพพลิเคชั่น”ทำบัญชีครัวเรือน
การเปลี่ยนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายเพื่อก้าวไปสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง พร้อมปรับสมดุลประเทศไปสู่ความยั่งยืน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สนองนโยบายดังกล่าว โดยการสร้างนวัตกรรมเพื่อข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณค่าสู่การพัฒนาองค์กรและผู้รับบริการให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยการพัฒนาระบบบัญชีด้วยนวัตกรรมนำสหกรณ์ก้าวหน้าด้วยคุณธรรม พร้อมเปิดตัว “นวัตกรรม 4M” ซึ่งเป็นโมบาย แอพพลิเคชั่น ที่ช่วยในการบริหารงานสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการและแสดงผลงานเชิงนวัตกรรมของสถาบันสหกรณ์และสมาชิก พร้อมมอบรางวัลแก่สหกรณ์และเกษตรกรดีเด่นด้านการทำบัญชีในระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร โดยการนำระบบบัญชีมาใช้บริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความโปร่งใส ส่งผลประโยชน์สู่สมาชิกและช่วยสร้างฐานรากเศรษฐกิจชุมชนที่ีมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง โดยได้สนองนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรมของรัฐบาล
“การให้ความรู้ในการจดบันทึกบัญชี นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจหรือวางแผนการผลิต เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีฐานะทางสังคมที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง พร้อมก้าวสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0”
บริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ย้ำว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ โดยการนำระบบบัญชีมาใช้บริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความโปร่งใส ส่งผลประโยชน์สู่สมาชิกและช่วยสร้างฐานรากเศรษฐกิจชุมชนไปสู่ความยั่งยืน โดยสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนกลยุทธ์ พ.ศ.2560-2564 ที่กำหนดโมเดลการพัฒนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ภายในปี 2564 เพื่อที่จะให้สหกรณ์และเกษตรกรมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ สร้างข้อมูลที่มีคุณค่าให้สหกรณ์มีเครื่องมือช่วยบริหารจัดการงานสหกรณ์ และผู้บริหารสหกรณ์สามารถนำข้อมูลสารสนเทศทางการเงินที่มีคุณภาพมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์
“ในปี 2560 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สร้างนวัตกรรมเพื่อข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณค่าสู่การพัฒนาองค์กรและผู้รับบริการให้มีความพร้อมก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยพัฒนาระบบบัญชีด้วยนวัตกรรมนำสหกรณ์ก้าวหน้าด้วยคุณธรรม พร้อมเปิดตัว “นวัตกรรม4M” ซึ่งเป็นโมบาย แอพพลิเคชั่นที่ช่วยในการบริหารงานสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์”
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เผยต่อว่า สำหรับ “นวัตกรรม4M” ที่ออกแบบขึ้นเพื่อนำไปใช้กับสถาบันสหกรณ์และเกษตรกรนั้นประกอบด้วย 4 รูปแบบ หรือ 4 M ได้แก่ สมาร์ท มี(Smart Me) สมาร์ท แมมเบอร์(Smart Member) สมาร์ท แมเนจ(Smart Manage) และ สมาร์ท มอนิเตอร์(Smart Monitor) สำหรับ “สมาร์ท มี” คือเรารู้ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ต่อยอดมาจากโปรแกรมบัญชีรายบุคคล(Smart Acc)โดยออกแบบให้ใช้งานง่ายขึ้นและทันสมัยมากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือที่รองรับทั้งระบบไอโอเอส และระบบแอนดรอยด์ ทำให้ผู้จดบันทึก รู้ตัวตนและวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เผยต่อว่า สำหรับ “สมาร์ท แมมเบอร์” คือสมาชิกรู้ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้แบบเรียลไทม์ รวดเร็ว ฉับไว สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่ดีให้สหกรณ์
ส่วนสมาร์ท แมเนจ กรรมการสหกรณ์รู้ เป็นแอพพลิเคชั่นทีี่ช่วยให้ผู้บริหารสหกรณ์สามารถตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ได้รายวันเพื่อให้มีระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารสหกรณ์ และเป็นเครื่องมือให้ผู้บริหารใช้ในการกำกับติดตามการทำงานของฝ่ายจัดการสหกรณ์ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์โมบาย ดีไวซ์ ทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ตัดสินใจในการบริหารงานสหกรณ์ได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“สุดท้ายคือ สมาร์ท มอนิเตอร์ ติดตามรู้ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ผู้สอบบัญชีและผู้กำกับดูแลติดตามความเคลื่อนไหว ความผิดปกติทางการเงินของสหกรณ์ได้แบบวันต่อวัน เกิดการติดตามรู้อย่างแท้จริงเพื่อนำมาวิเคราะห์และตรวจสอบสหกรณ์ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที”
บริสุทธิ์ ยอมรับว่านวัตกรรมที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาขึ้นมานี้จะเป็นเครื่องมือในการช่วยบริหารจัดการงานสหกรณ์ให้มีข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ สามารถรู้เท่าทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและช่วยให้ผู้บริหารสหกรณ์ใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์
ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยการใช้โมเดลนวัตกรรมเพื่อสร้างข้อมูลที่มีคุณค่าให้สามารถนำข้อมูลมาให้สนับสนุนการตัดสินใจและสนับสนุนสหกรณ์และเกษตรกรให้มีความพร้อมก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สะท้อนมุมมอง“เกษตรกร”ทำบัญชีครัวเรือน
ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการดำเนินชีวิตที่ได้ใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินของคนในชุมชน โดยใช้ข้อมูลจากการจดบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อลดต้นทุนการประกอบอาชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน สร้างคนต้นแบบให้เห็นเป็นรูปธรรมและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาให้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
บุญส่ง ชะเอม เกษตรกรทำสวนเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ แห่งบ้านน้ำทรัพย์ ได้กล่าวถึงข้อดีของการทำบัญชีครัวเรือนไว้ว่า
“บัญชีครัวเรือนเป็นต้นแบบให้แก่เรา เรารู้ยอดการใช้จ่ายพอถึงเดือนเราสามารถสรุปได้ มีเงินไว้ออมไม่นึกว่าจะสามารถทำให้มีวันนี้ ภูมิใจที่ได้เกิดมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 9”
ชอบ สังข์ทอง เกษตรกรเลี้ยงแพะบ้านน้ำทรัพย์ ได้ให้ข้อคิดของการทำบัญชีครัวเรือนไว้ว่า
“การทำบัญชีทำให้เรารู้จักใช้เงิน จากเคยฟุ่มเฟือย เราสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และอยู่ร่วมกันแบบพอเพียงแบบในหลวงท่านสอน”
สมพงษ์ จันทร์เพ็ญ เกษตรกรสวนมะนาวบ้านน้ำทรัพย์ กล่าวถึงจุดเด่นของการทำบัญชีครัวเรือน
“เริ่มทำบัญชีใช้ชีวิตตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ชีวิตดีขึ้น การใช้จ่ายน้อยลง สิ่งไม่จำเป็นเราก็ตัดมันออกไป”
“FAS”โปรแกรมบัญชียอดฮิตใช้กับสหกรณ์
โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร เป็นการนำหลักแนวคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาระบบสหกรณ์มาตั้งแต่ปี 2554 โดยสามารถใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร หรือ Cooperative Full Pack Accounting Software ซึ่งมีชื่อย่อคือ “FAS”
เป้าประสงค์ของการพัฒนาระบบสหกรณ์ใน 3 ประเด็น คือ 1.สร้างมาตรฐานระบบงานให้แก่สหกรณ์โดยการใช้ ระบบสมาชิกและหุ้น ระบบเงินให้กู้ ระบบสินค้า ระบบเงินรับฝาก และระบบสมาชิก ในขั้นนี้จะสามารถช่วยให้สหกรณ์สามารถให้บริการแก่สมาชิกให้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.สร้างมาตรฐานการบัญชีให้แก่สหกรณ์ โดยการใช้ระบบ GL ของ FAS ในการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ในขั้นนี้จะช่วยสหกรณ์สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินได้ตามมาตรฐานการบัญชี และการจัดทำงบการเงินได้ตามระเบียบของนายทะเบียนสหกรณ์
3.สร้างมาตรฐานงบการเงินให้แก่สหกรณ์ โดยการใช้ FAS ทั้ง 5 โมดูล คือ ระบบสมาชิกและหุ้น ระบบเงินให้กู้ ระบบเงินรับฝาก ระบบสินค้า และระบบบัญชีแยกประเภท ในการสร้าง ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะ MIS ใน GL จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถใช้ผลการวิเคราะห์งบการเงินไปเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหารสหกรณ์
สำหรับ FAS เป็นโปรแกรมระบบบัญชีที่ใช้สำหรับธุรกิจสหกรณ์แบบครบวงจร ประกอบด้วยระบบหลักๆ 5 ระบบ ได้แก่ ระบบสมาชิกและหุ้น (Member : Mem) ระบบเงินให้กู้ (Loan : Loan) ระบบเงินรับฝาก (Deposit : Dep) ระบบสินค้า (Inventory : Invent) และระบบบัญชีแยกประเภท (General Lager : GL) จุดเด่นคือแต่ละระบบจะต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เพื่อป้องกันการนำข้อมูลเข้าซ้ำซ้อน โดยมี GL เป็นศูนย์รวมด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงเอื้อให้สหกรณ์สามารถปิดบัญชีและดูงบการเงินได้ทุกวัน