คอลัมนิสต์

กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”

กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”

25 ต.ค. 2560

กว่าจะเป็น“กองทหารม้าเกียรติยศ”เชิญพระบรมราชสรีรางคาร

          ทุกย่างก้าวกองทหารม้าเกียรติยศ ริ้วขบวนที่ 6 ของกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ (ม.พัน 29 รอ.) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ผ่านการฝึกซ้อมเป็นเวลา 3 เดือนเศษ ในพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร  ในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 ให้สมพระเกียรติที่สุด

                กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”
          การถวายงานครั้งสุดท้ายนี้ ม.พัน 29 รอ. เลือกม้าที่สง่างามที่สุด ดีที่สุด และคัดสีที่ใกล้เคียงกันเพื่อความสวยงาม เช่น สีขาว สีเข้ม  สีอ่อน สีจาง จาก 200 ม้า เหลือ 78 ม้า และสำรองไว้อีก 10 ม้า กรณีฉุกเฉิน โดยม้าทุกตัวมีความสามารถในการบังคับใช้งานเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คือ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้า ถอยหลัง  แต่ต้องนำไปออกกำลังกายเพื่อให้ได้ท่าทางแปลกๆ เช่น การเดินทางข้าง การวิ่งในลักษณะวงกลมแคบ วงกลมอันใหญ่ 
          โดยธรรมชาติม้าจะถูกสร้างมาไม่ให้รองรับน้ำหนักใดๆ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสังกัดของม.พัน 29 รอ.แล้ว ม้าทุกตัวจะต้องถูกส่งเข้าฟิตเนส เพื่อฝึกให้เกิดความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและสร้างกร้ามเนื้อใหม่ๆ โดยเฉพาะกร้ามเนื้อบริเวณหลัง เพื่อรองรับน้ำหนักคนขี่ 
          ปกติแล้วม้ารับน้ำหนักคนได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของน้ำหนักตัวม้า หากม้าจะมีน้ำหนัก 500 กก. คนขี่จะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กก.

          กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”
          ส่วนการคัดเลือกกำลังพลนั้น มีทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ดูจากค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมคือ 25-26 มีพื้นฐานการขี่ม้าและทักษะการบังคับม้าที่ดี เพราะต้องบังคับม้ามือเดียว ส่วนอีกมือใช้อาวุธ รวมถึงบุคลิกภาพและท่วงท่าต้องสง่า ดังนั้นกำลังพลทุกคนต้องออกกำลังกายในทุกเช้าให้มีความพร้อมและแข็งแรงเพื่อให้เป็นไปตามกระแสรับสั่ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เรื่องการคัดเลือกกำลังพลว่า “คนที่ขี่ม้าต้องมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง” 
          ขณะที่ม้าแต่ละตัวล้วนมีนิสัยที่แตกต่างกันไป บางตัวขี้หงุดหงิด บางตัวขี้รำคาญ บางตัวชอบกัด เตะ ม้าตัวอื่น หรือบางตัววิ่งไปสักระยะขาจะเริ่มอ่อน ดังนั้นการจับคู่ระหว่างคนกับม้าจะต้องทดสอบขี่และเรียนรู้ลักษณะนิสัยจนกว่าจะเจอม้าที่ใช่ และคนขี่ต้องสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากตัวม้าได้ นั่นหมายความว่า คนกับม้าต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”
          การสื่อสารนับเป็นหัวใจสำคัญ คนบนหลังม้าต้องสื่อสารกับม้าให้ได้ว่าต้องการให้ม้าทำอะไร โดยการนำความคิดมาเปลี่ยนเป็นลักษณะท่าทาง โดยใช้การบังคับส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อสื่อข้อความที่ชัดเจนให้แก่ม้า เพื่อให้ม้าเข้าใจ ทำตามอย่างถูกต้อง เช่น ต้องการให้ม้าก้าวไปด้านซ้ายเล็กๆ สองก้าว ให้เดินไปข้างหน้า หรือข้างหลัง เดินเฉียงไปทางซ้าย และตบท้ายด้วยการให้รางวัลม้า
          และเมื่อคนกับม้าเจอคู่ที่เหมาะสมแล้ว เป็นขั้นตอนการประกอบเป็นรูปแถว จะพบปัญหา เนื่องจากปกติม้าจะไม่อยู่ใกล้กัน แต่เมื่อมาอยู่ในแถวเกิดความไม่เข้ากัน จะออกอาการทั้ง  “ดีด เตะ ถีบ กัด” ม้าที่อยู่ใกล้เคียงจึงต้องสลับตำแหน่งเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ 
          นอกจากนี้การบาดเจ็บจากการซักซ้อมเป็นปัญหาสำคัญ เพราะต้องใช้เวลารักษายาวนาน จึงจำเป็นต้องมีม้าตัวแทน ซึ่งอาจจะเข้ากับม้าตัวข้างๆ ที่ซ้อมอยู่เดิมไม่ได้ ก็ต้องทดลอง ปรับเปลี่ยนกันไป

          กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”
          เมื่อได้รูปขบวนที่เหมาะสมจะเริ่มซักซ้อม ประกอบด้วย แถวหน้า 1.หมู่แตรเดี่ยว 6 นาย ใช้ม้าสีขาว หรือสีแซม 2.ผู้บังคับกองทหารเกียรติยศ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งจะทรงม้ามีลักษณะพิเศษ 3.ทหารคนสนิท หรือทหารฝ่ายธุรการ จำนวน 1 นาย ใช้ม้าอีกสีหนึ่ง  4.หมู่เชิญธงไชยเฉลิมพล 4 นาย 5.ผู้บังคับกองร้อย 2 นาย ใช้ม้าสีเข้ม 6.ผู้บังคับหมวด 4 นาย ใช้ม้าสีแดง หรือสีอ่อน 7.กองทหารเกียรติยศ 60 นาย เป็นม้าสีเข้ม
          ส่วนเครื่องแบบเต็มยศทหารม้ารักษาพระองค์ ประกอบด้วย หมวกยอดมีพู่สีน้ำเงินหม่น ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 เสื้อสักหลาดสีน้ำเงินหม่น แผงอกมีกระดุมสีทอง 2 แถว แผงคอและข้อมือทำด้วยสักหลาดสีแดง มีช่อชัยพฤกษ์ประดับดอกพุดตานดิ้นทอง ที่ข้อมือมีเครื่องหมายอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. ภายใต้พระมหามงกุฎกางเกงสักหลาดสีน้ำเงินหม่น มีแถบสีเหลืองข้างละ 1 แถบประดับเครื่องหมายพระปรมาภิไธย ภปร. ทำด้วยโลหะสีทอง ที่อกเสื้อเบื้องขวา 
ส่วนเครื่องแบบเต็มยศม้ามี บังเหรียญ คาน ผ้าปูหลัง ทับทรวง พวงมาลัย สลับแข้ง ครอบกีบ

             กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”


          พ.ท.ธารา ฉลาด ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ให้ข้อมูลว่า ม.พัน 29 รอ. ดำเนินการเตรียมการฝึกซ้อมกองทหารม้าเกียรติยศ ในการเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาเป็นเวลากว่า 3 เดือน โดยเป็นการฝึกซ้อมการเคลื่อนที่ ท่าทาง และขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ในพระราชพิธี 
          พ.ท.ธารา ยังบอกอีกว่า ม.พัน 29 รอ. คัดเลือกม้าที่มีความสง่างามตามแบบโบราณประเพณีในขบวน เช่น หมู่แตรเดี่ยว ต้องเป็นม้าสีขาว หรือสีแซม  ม้าในแถวต้องเป็นม้าสีเข้ม เพื่อให้เกิดความสวยงาม นอกจากนี้เรายังมีการดูแลปรับปรุงม้าให้พร้อมใช้งานในพระราชพิธี ส่วนผู้ขี่กับม้าจะต้องมีความสอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การบังคับม้าคนขี่ต้องรู้ใจม้า ว่าม้าเป็นอย่างไร บางครั้งม้าดื้อ พยศ คนขี่ต้องศึกษานิสัยและระมัดระวัง
          “การฝึกซ้อมครั้งนี้เพื่อถวายงานพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย โดยกำลังพลในกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ มีความตั้งใจ เต็มใจ ในการทำหน้าที่ ฝึกซ้อมกันทุกวัน เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เพราะพระองค์ท่านทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมาย และหน่วยของผมเป็นกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้งานพระราชพิธีสมพระเกียรติที่สุด” พ.ท.ธารา กล่าว

           กว่าจะเป็น “กองทหารม้าเกียรติยศ”
          กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ เป็นหน่วยทหารม้ารักษาพระองค์ (ใช้ม้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้ม้าจริงเข้าร่วมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เป็นประจำทุกปี และเป็นหน่วยทหารม้าเกียรติยศของกองทัพบกไทย ขึ้นตรงต่อกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ 
          กองพันทหารม้านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกองทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับลดและขยายอัตรากำลังพลของหน่วยหลายครั้ง จนถึง พ.ศ.2531 กองทัพบกจึงได้อนุมัติจัดตั้งกองพันทหารม้าที่ 29 ขึ้น โดยขยายหน่วยจากกองร้อยทหารม้ารักษาพระองค์ที่มีอยู่เดิมของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และมอบอำนาจการบังคับบัญชาไว้กับกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกขึ้นเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2535

จิตตราภรณ์ เสนวงค์