"ชวน หลีกภัย" รีเทิร์น ??
ที่มาของกระแส "ชวน รีเทิร์น" หลักๆ เกิดจาก 2 สมมุติฐาน คำถามคือ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ??
ระยะหลังมีกระแสหนาหูเรื่อง “ชวน หลีกภัย” จะกลับมา ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้
วิเคราะห์ถึงที่มาของกระแส “ชวน รีเทิร์น” หลักๆ เกิดจาก 2 สมมุติฐาน
สมมุติฐานแรก คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจับมือกัน เพื่อสู้กับ “ทหาร” ซึ่งก็คือฝ่ายคสช. ที่ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ที่ปัจจุบันสวมหมวกเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย จะลงสนามต่อ
ต้องบอกว่ามีความพยายามในการปั่นกระแสข่าวนี้ไม่น้อย ทั้งจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเอง จุดประสงค์ถ้ามองง่ายๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องของเกมต่อรองทางการเมือง
เพื่อไทยอาจปล่อยข่าวเพื่อแซะประชาธิปัตย์ สร้างความคลางแคลงใจให้ คสช. ขณะที่ปชป. อาจปั่นข่าวนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของตัวเอง และอย่างน้อยการมีข่าวจับมือกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก็น่าจะดีต่อ “หลักการ” มากกว่าจับมือกับ “ฝ่ายเผด็จการทหาร”
มีการวิเคราะห์ต่อไปว่าหาก 2 พรรคนี้จับมือกันจริงๆ จากความหลังในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ไม่มีทางที่เพื่อไทยจะยอมสนับสนุนให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ
จึงมีการมองกันว่า “ชวน หลีกภัย” น่าจะเป็นตัวเลือกที่พรรคเพื่อไทย “รับได้” ทำให้มีการวิเคราะห์และมีกระแสข่าวที่ออกมาว่าในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ น่าจะต้องมีชื่อ “ชวน หลีกภัย” รวมอยู่ด้วย
สมมุติฐานที่ 2 ของการกลับมาของ “ชวน” คือกลับมาในฐานะ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” นำทัพลงสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้าจริงๆ
สูตรนี้หลักๆ มาจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็น “ตัวเลือก” ของประชาชนที่จะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ และมีเสียงเรียกร้องให้พรรคนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนสิ่งที่ง่ายที่สุดในการทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนหัวหน้าพรรค
แต่เมื่อหันซ้ายหันขวามองดูในพรรค เหมือนจะไม่มีใคร โดยเฉพาะเมื่อสิ้น “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าจะเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนต่อไป หวยจึงมาตกที่ “ชวน”
ทีนี้มาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการกลับมาของ “ชวน” ตามทั้ง 2 สมมุติฐานนี้ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
สมมุติฐานแรก “ชวน” จะกลับมาเมื่อประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทย
ถามว่า เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ 2 พรรคนี้จะจับมือกัน?
หากมองในกระดานการเมืองตอนนี้ ขั้วการเมืองมีอยู่ 3 ขั้ว คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และ ฝ่ายหนุนประยุทธ์ ซึ่งก็อาจจะเป็นพรรคใหม่ที่จะเกิดขึ้น พรรคขนาดกลาง และพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นพรรคของจังหวัดหรือตระกูล
รัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะต้องอย่างน้อยมี 2 ขั้วมาจับมือกัน
สำหรับพรรคเพื่อไทย ถ้าให้เลือกระหว่างประชาธิปัตย์ กับ ฝ่ายประยุทธ์ น่าจะเลือกฝ่ายแรกมากกว่า
แต่ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ล่ะ จะเลือกใคร ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับประยุทธ์
แม้ตอนนี้พรรคในพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาขย่มรัฐบาล คสช.อยู่เนืองๆ แต่หากถึงจุดที่ต้องเลือก “คนในพรรค” ก็ยังมองว่า ความเป็นไปได้ที่ประชาธิปัตย์จะเลือกหนุน “ประยุทธ์” ก็น่าจะมีมากกว่า
นั่นคือความยากในการกลับมาตามสมมุติฐานแรกของ “ชวน”
ยังไม่รวมถึงคำถามว่า “ชวน” จะยอมจับมือกับเพื่อไทยได้จริงหรือ?
อย่างไรก็ตาม สูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้งแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาแบบ “แลนสไลด์” ซึ่งถึงวันนี้ ยังมีนักการเมืองจากพรรคอื่นจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้
และที่สำคัญ ในความเป็นจริง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ตัวเลข” หลังการเลือกตั้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาลทั้งนั้น
สมมุติฐานที่ 2 คือการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง
จับกระแสในพรรคตอนนี้ มีความพยายาม “ตีกัน” อดีตนายกฯชวน อยู่ไม่น้อย
“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ในพรรคยังไม่มีสัญญาณใดๆที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค
“ผมว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคที่ดี มีความสามารถในการนำพรรค ซึ่งสมาชิกพรรคหลายๆคนยังคงให้การยอมรับ และคุณอภิสิทธิ์เองก็ยังมีความตั้งใจที่จะนำทัพประชาธิปัตย์สู้กับศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ด้วย”
องอาจ ให้ความเห็นอีกว่า ข้อเสนอที่ให้ “ชวน” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย “ท่านชวนบอกชัดเจนแล้วว่าไม่ประสงค์จะเป็นหัวหน้าพรรคอีก และท่านเองยังสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ให้เป็นหัวหน้าพรรคด้วย ซึ่งท่านคงอยากจะสนับสนุนพรรคในด้านอื่นมากกว่า เช่น เป็นที่ปรึกษาพรรค”
นอกจาก “องอาจ” แล้ว ยังมีอีกหลายคนในพรรคที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านกระแสข่าวนี้
และนอกจากเรื่อง “ความคิดเห็น” ของคนในพรรคแล้ว ในแง่ของข้อมูล มีรายงานว่าจากการเก็บข้อมูลของพรรค พบว่า “อภิสิทธิ์” มีคะแนนนิยมสูงกว่า “ชวน”
แต่ถ้ามองถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ของ “ชวน” และ “อภิสิทธิ์” ในการเป็นหัวหน้าพรรค
จุดอ่อนของ “ชวน” น่าจะเป็นเรื่อง “วัย” ที่จะครบ 80 ปีในกลางปีนี้
แต่จุดอ่อนของ “ชวน” ก็เป็นจุดแข็งเช่นกัน เพราะ หาก “ชวน” เป็นผู้นำพรรค รวมไปถึงหากก้าวไปถึง “นายกฯ” อีกครั้ง การจะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ เข้ามาช่วยงาน ก็น่าง่ายกว่า
สำหรับ “อภิสิทธิ์” นั้น หากไม่นับกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ก็ไม่ได้มีจุดอ่อนที่ชัดเจน เพียงแต่ว่า “จุดแข็ง” ก็ไม่ปรากฏชัดเจนเช่นกัน
อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกอย่าง คือ ในเดือนเมษายนนี้ ตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์” และกรรมการบริหารพรรคจะหมดวาระลง จะต้องมีการเลือกกันใหม่ ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าข้อบังคับพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคใหม่จะออกมาอย่างไร
และถึงวันนั้น อาจจะไม่ใช่ “ชวน” ที่จะมาเป็นตัวเลือกแข่งกับ “อภิสิทธิ์”
อาจจะเป็น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ลูกรักอีกคนของ “ชวน” หรือ “กรณ์ จาติกวณิช” นักการเมืองที่ “คนนอกพรรค” มองว่ามีภาพลักษณ์ดี หรือแม้กระทั่ง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่า กทม. ของพรรค
ถึงวันนี้ จึงยังไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ว่า “ชวน” จะรีเทิร์น !!
เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์
(ขอบคุณภาพจากไลน์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)