คอลัมนิสต์

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน

20 ก.พ. 2561

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ


 
          คนไทยกำลังกลายเป็น “ลูกค้าแสนอร่อย” ของโรงพยาบาลเอกชน หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างให้ทำธุรกิจโดยไม่มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มจำนวนและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในมิติด้านเศรษฐกิจ เทคนิคการทำกำไรสูงสุดกลายเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนมิติด้านคุณธรรมกลายเป็นคำเตือนไร้สาระ ที่กลุ่มคุณหมอนักบริหารมือทองไม่อยากรับฟัง

          ผู้ป่วยและญาติจำนวนมากร้องเรียนและเรียกร้องให้มีกลไกตรวจสอบควบคุม หลังเจอบิลค่ารักษาพยาบาลสุดโหด ตัวเลขหลักแสนถึงหลักล้านบาทขึ้นไป ค่าบิลเหล่านี้สร้างกำไรให้เจ้าของโรงพยาบาลปีละหลักพันล้านบาทขึ้นไป

          “ครูประเสริฐ อชินีทองคำ” หนึ่งในญาติของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนแล้วประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูง เพียง 3 คืน ยอดชำระ 4.6 แสนบาท ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ยังทำผิดพลาดด้วยการโยนเศษชิ้นส่วนกะโหลกคนไข้ทิ้งไป และไม่อนุญาตให้คนไข้ย้ายออกไปโรงพยาบาลรัฐหากชำระค่ารักษายังไม่หมด

          “เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 นางสุภัคคินี ภรรยาของผมได้รับอุบัติเหตุบนถนน มีคนส่งไปโรงพยาบาลเอกชน เขาให้ผมไปเซ็นชื่อก่อนรักษา รายละเอียดในใบเสร็จเป็นค่ายา 9 หมื่น ค่าเวชภัณฑ์แสนกว่าบาท ที่เหลือเป็นค่าหมอผ่าตัด ค่าหมอมาเยี่ยม ผมจ่ายไม่ไหวขอย้ายโรงพยาบาลเพราะผมเป็นข้าราชการใช้สิทธิได้ แต่เขาไม่ยอม ต้องจ่ายให้ครบก่อน ตอนนั้นวิ่งยืมเงินเพื่อนๆ กับญาติๆ แล้วค่อยเอาบ้านไปจำนองใช้หนี้สิน”

          ครูประเสริฐเล่าต่อว่า สิ่งที่ครอบครัวรับไม่ได้คือโรงพยาบาลแห่งนี้เอาชิ้นส่วนกะโหลกของภรรยาทิ้งไป ทั้งที่หากเก็บเอาไว้ อาจนำมาประกอบเข้าไปใหม่ได้ จดหมายชี้แจงจากโรงพยาบาล “ไม่กล้าลงความเห็นว่าเป็นของเคสใด จึงทิ้งไป” ถือเป็นการรักษาแบบขาดความรับผิดชอบ เพราะไม่เชื่อว่าจะมีคนไข้มาผ่ากะโหลกจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่จำไม่ได้ว่าเป็นของใครบ้าง

          ในที่สุดศาลสั่งให้จ่ายชดใช้มา 2 แสนกว่าบาท แต่คดีฟ้องร้องของครูประเสริฐยังไม่จบ เพราะถ้าโรงพยาบาลแห่งนี้รักษาเต็มที่ รักษาอย่างดีและได้มาตรฐานตั้งแต่วินาทีแรกที่รับผู้ป่วย โดยไม่ต้องรอญาติมาเซ็นชื่อภรรยาอาจไม่ต้องอยู่ในสภาพเจ้าหญิงนิทราที่ลืมตาได้เหมือนทุกวันนี้

          หลายคนถกเถียงกันว่า การเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนถือเป็น “ทางเลือก” ของผู้บริโภค หากไม่พร้อมควักกระเป๋าจ่ายแพง ควรไปรอคิวใช้บัตรทอง 30 บาทในโรงพยาบาลรัฐ ขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาล “เอกชน” ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำ “กำไร”

          “ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์อธิบายถึงเทคนิคของโรงพยาบาลเอกชนว่า เมื่อใครเข้าไปรักษา เจ้าหน้าที่จะให้เซ็นชื่อยินยอมรับชำระค่ารักษาทุกอย่างตั้งแต่ต้น มีคนเดือดร้อนมาร้องเรียนเป็นระยะๆ ว่าโดนคิดค่ายาราคาแพง หรือมีค่าใช้จ่ายในบิลรักษาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น คนป่วยนอนไอซียูแต่มีค่าทำฟันรวมในใบเสร็จ

          "ค่ารักษาแพงเข้าใจได้ แต่ใบเสร็จต้องไม่โกง ไม่มั่ว เครือข่ายของพวกเราก่อตั้งมา 16 ปีแล้ว รับเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนมาตลอด ปัญหาพบบ่อยคือโดนเรียกเก็บเกินจริง เคยมีคดีตัวอย่างฟ้องถึงขั้นต้องพิสูจน์ในชั้นศาลมาแล้ว เช่นกรณีคนไข้ชายเจ็บหน้าอกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ที่โฆษณาว่ามีหมอหัวใจ 24 ชม. เข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึง 8 โมงเช้า แต่ไม่มีหมอหัวใจมาดูแล สุดท้าย คนไข้รายนี้เสียชีวิตลง มีการฟ้องร้องและพิสูจน์ใบเสร็จค่ารักษา เพราะญาติพบรายการเก็บค่าอะดรีนาลีนถึง 148 หลอด รวมเป็นเงิน 29,600 บาท ทั้งที่ใช้จริงเพียง 30 หลอด และมีรายการยาอีกสองรายการที่ไม่ได้ใช้และใช้ไม่ได้กับคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อญาตินำเรื่องไปร้องเรียนแพทยสภา กลายเป็นว่าผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น มีตำแหน่งเป็นประธานสอบสวนกรณีโรงพยาบาลของตนเอง"

 

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน

 

          ตัวแทนเครือข่าย ยกตัวอย่างให้ฟังต่อว่า กรณีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 คนไข้เข้ารักษาโรคถุงลมโป่งพองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วกลายเป็นเจ้าชายนิทรา มียอดค่าใช้จ่ายประมาณ 1.7 ล้านบาท โรงพยาบาลทยอยเรียกเก็บ แต่ญาติสงสัยว่าการรักษาน่าจะไม่ได้มาตรฐาน และยอดเรียกเก็บเงินไม่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นวันที่คนไข้นอนไม่รู้สึกตัวแต่ในบิลค่ารักษามีรายการทำฟัน ญาติจึงขอประวัติการรักษาเพื่อนำไปตรวจสอบแต่ทางโรงพยาบาลไม่ให้ ญาติยังไม่ยอมจ่ายเพราะอยากตรวจสอบความถูกต้องว่าค่ารักษาโปร่งใสตรงไปตรงมาหรือไม่ แต่สุดท้ายได้รับโนติสจากทนายของโรงพยาบาล

          นอกจากนี้ ปัญหาที่พบประจำคือ คนไข้ส่วนใหญ่มักจ่ายเงินไปโดยไม่รู้ว่าตัวเองจ่ายค่าอะไรบ้าง เพราะรูปแบบใบเสร็จของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งแตกต่างกันไป มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือมีสองภาษาปนกัน บางทีใส่คำศัพท์แพทย์ยากๆ บางรายการมียอดรวมสูงมาก เช่น เวชภัณฑ์ 1 และเวชภัณฑ์ 2 แต่ไม่มีการแจงรายละเอียดว่าคือค่าอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ สำหรับการฟ้องร้องนั้น ตัวแทนผู้ป่วยยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ 

          “ใบเสร็จ” 1 ใบ ต้องร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เช่น ค่ายาแพงต้องไปที่กระทรวงพาณิชย์ ค่าหมอไม่ถูกต้องต้องไปแพทยสภา การรักษาไม่ได้มาตรฐานต้องไปสำนักสถานพยาบาล ฯลฯ

          “แต่ละหน่วยงานไม่มีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจน บางหน่วยงานล่าช้า กว่าจะรู้ผลก็ไม่ทันกาล คนไข้ถูกฟ้องคดี ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเสียเปรียบด้วย เพราะเซ็นยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาตั้งแต่ต้นแล้ว บางคนขายที่ดินหรือเอาบ้านไปจำนองมาจ่าย พวกเราเข้าใจดีว่าโรงพยาบาลเอกชนต้องการกำไร แต่ประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่าราคาสมเหตุสมผลไหม สรุปว่าตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนสามารถหมกเม็ดโกงคนไข้ได้อย่างเสรี เพราะยังไม่มีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ”

          วิธีการที่เครือข่ายฯ เสนอคือ การจัดตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล” ตอนนี้รวบรวมรายชื่อกว่า 3 หมื่นคนยื่นเรื่องให้รัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 และกำลังระดมให้ได้ 5 หมื่นคนไปยื่นซ้ำอีกครั้ง หวังให้เป็นที่พึ่งของประชาชน เมื่อต้องการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ฯลฯ ถูกต้องสมเหตุสมผลหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกลางมาช่วยดูแลให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งคนไข้ แพทย์ และโรงพยาบาล

          ตัวเลขสถิติจาก “บทความวิเคราะห์แนวโน้มโรงพยาบาลเอกชนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เผยแพร่เดือนพฤศจิกายน 2560 ระบุว่า ไทยมีโรงพยาบาลรัฐจำนวน 294 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวน 343 แห่ง หลายแห่งมีชื่อเสียงขนาดใหญ่บริการระดับโรงแรมห้าดาว สามารถทำกำไรไม่ต่ำกว่า 3-7 พันล้านบาทต่อปี และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ทำกำไรสุทธิ (Net profit margin) เฉลี่ยร้อยละ 13-16 ต่อปี

 

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน


          โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 130 แห่ง หรือร้อยละ 40 สัดส่วนรายได้หลักมาจาก “ค่ายา” สูงสุดถึงร้อยละ 35 ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ “ค่าบริการทางการแพทย์” ร้อยละ 20 “ค่าห้องปฏิบัติการและห้องเอกซเรย์” ร้อยละ 13.7 “ค่าห้องพักผู้ป่วย” ร้อยละ 8.5 และอื่นๆ ร้อยละ 22.6 เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับแรงจูงใจด้านภาษีจากรัฐจึงมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการพร้อมรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฯลฯ

          ข้อมูลจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ระบุว่า ผลประกอบการของธุรกิจโรงพยาบาลจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงปี 2558-2559 ทำกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง เช่น รพ.เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ กำไรสุทธิ 7,917 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาท, รพ.บำรุงราษฎร์ กำไรสุทธิ 3,435 ล้านบาท และ 3,626 ล้านบาท, รพ.จุฬารัตน์ กำไรสุทธิ 538 ล้านบาท และ 564 ล้านบาท, รพ.ลาดพร้าว กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท และ 155 ล้านบาท

          “นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” แพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ยอมรับว่าการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องทำกำไรให้มากที่สุด นายทุนทยอยซื้อโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางอย่างต่อเนื่อง ราคายาแพงขึ้นหลายเท่าโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางและเล็ก สร้างผลกระทบให้คนที่มีรายได้ปานกลาง จากที่เคยเข้าโรงพยาบาลเอกชนต้องหันไปพึ่งโรงพยาบาลรัฐแทนเพราะจ่ายค่ารักษาไม่ไหว

 

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน

 

          "ปัญหาคือโรงพยาบาลรัฐต้องรับภาระคนกลุ่มนี้ไปด้วย แต่ก่อนรักษาเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ส่วนเรื่องค่ารักษาที่แพงขึ้นก็เพราะบวกค่ายาเข้าไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ายาราคาถูกเม็ดละ 1 บาท บวกเพิ่มเป็น 5-10 บาท ก็พอรับได้ แต่ยาบางตัวหลายร้อย หลายพันบาทบวกเข้าไปหลายเท่าคนไข้ก็เดือดร้อน แล้วยังมีค่าสำลี ค่าเข็ม ค่าน้ำเกลือ ค่าอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ บวกเข้าไปอย่างน้อย 30-100 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่นโยบายคิดราคาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทางที่ดีควรกำหนดราคากลางกำกับไปเลยว่า อนุญาตให้บวกราคาเพิ่มได้กี่เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่อเมริกามีราคากลางมาตรฐานไว้ให้เปรียบเทียบว่า ค่ายาค่าตรวจห้องแล็บไม่ควรเกินเท่าไร ยาตัวเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ควรคิดราคาต่างกันมาก แต่พวกค่าห้องอาจแตกต่างกันได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ อันนี้คนไข้เลือกได้ว่าอยากได้รับบริการระดับไหน"

          นพ.มนูญกล่าวต่อว่า ช่วงต้นปี 2560 ได้รับเชิญจาก “คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข” ให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้เหมาะสมและเป็นธรรม จึงเสนอไปว่าต้องมีการควบคุมและมีการตั้งกรรมการกลางมาช่วยดูแลเพดานค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าเอกซเรย์ ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และค่าวิชาชีพแพทย์ จากนั้นเรื่องนี้เหมือนเงียบหายไป ไม่รู้ว่าดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว อยากให้ควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนไทยบางกลุ่ม ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นราคาเท่าไหร่ก็ได้

          ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยดูแลควบคุม กำกับ และรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล อธิบายว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณปีละ 300 กว่าเรื่อง เช่น ค่ารักษาแพง โฆษณาโอ้อวดเกินจริง บริการไม่ดี ฯลฯ เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน การควบคุมราคาหรือกำหนดราคาตายตัวอาจทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้คือบังคับให้มีการติดป้ายแจกแจงอัตราค่าบริการอย่างชัดเจน เช่น ค่าหมอ ค่ายา ค่าห้องพัก ค่าผ่าตัด ฯลฯ

 

“กรรมการอิสระ”...กลไกคุม“ค่ายามั่ว”รพ.เอกชน

 

          "ตอนนี้กำลังแก้ไขกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการดูแลให้ยาเป็นสินค้าควบคุมราคา โรงพยาบาลต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล เป็นสิทธิและหน้าที่คนไข้ต้องถามว่าโรคนี้ค่ารักษาเท่าไร ระเบียบใหม่น่าจะรออีกไม่นาน ตอนนี้เป็นขั้นตอนเสนอให้ผู้มีอำนาจลงนาม เร็วๆ นี้จะมีข่าวดีประชาชนจะทราบค่ายาและค่ารักษาที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนเรื่องตั้งคณะกรรมการอิสระ ผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องดี จะให้มุมมองช่วยเหลือผู้บริโภคหลากหลายมากขึ้น เชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องการกลไกทำงานแบบนี้ เพราะถ้าประชาชนอยู่ไม่ได้เขาก็อยู่ไม่ได้" ผอ.สำนักสถานพยาบาลฯ กล่าวแสดงความเห็น

          ในแต่ละปีโรงพยาบาลเอกชน 340 กว่าแห่งแข่งขันกันเพื่อทำกำไรให้ได้ในระดับร้อยล้านถึงเกือบหมื่นล้านบาท การสร้างกลไกดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แบบนี้ ต้องอาศัยรัฐบาลที่เข้มแข็งกล้าท้าทายอำนาจของ “กลุ่มแพทย์พาณิชย์”

          ผู้ป่วยและญาติก็หวังเพียงได้เห็น “คณะกรรมการอิสระ” มาช่วยเป็นตรวจสอบควบคุม “ค่ายามั่ว” ให้เร็วที่สุด