คอลัมนิสต์

สู้ถึงฎีกา!  ผิดตรงไหน?  ชื่อ “คอมมิวนิสต์ไทย”

สู้ถึงฎีกา! ผิดตรงไหน? ชื่อ “คอมมิวนิสต์ไทย”

23 มี.ค. 2561

รู้ยัง! คณะบุคคลที่ก้าวออกมาขอจดแจ้งชื่อ พคท. เป็นองค์การนำชุดปัจจุบัน ที่ตัดสินใจก้าวเดินไปบนหนทาง “รัฐสภา” และขอเป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมาย!

          ในวันที่กฎหมายคอมมิวนิสต์ยกเลิกไปนานนับสิบปี สิ่งหลายคนไม่คาดคิด ก็บังเกิดขึ้น เมื่อนายปฐม ตันธิติ ได้ขอยื่นจดแจ้งชื่อ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” (พคท.) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเบื้องต้น กกต.จะไม่รับจดแจ้ง อ้างขัดรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายพรรคการเมืองชัดเจน

 

สู้ถึงฎีกา!  ผิดตรงไหน?  ชื่อ “คอมมิวนิสต์ไทย”

          ล่าสุด แฟนเพจ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย - 2485" ได้เผยแพร่คำชี้แจงถึงเหตุผลของ พคท. ที่ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อ กกต.ดังนี้

          "1. พคท. เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือแนวทางสังคมนิยม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2485 เพื่อร่วมกับประชาชนกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากการยึดครองของ จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น

          "2.หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พคท.เป็นพรรคถูกกฎหมาย และมีผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคในรัฐสภาปี 2489 แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร และการจับกุมคุกคาม เข่นฆ่าจากเผด็จการในยุคต่อมา พรรคต้องลงสู่ใต้ดิน สมาชิกพรรคแยกย้ายไปต่อสู้ตามอุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนด้วยรูปแบบต่างๆทั้งในเมือง ชนบท กระทั่งในเขตป่าเขา

          “3.ในปี 2523 รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งที่ 66/2523 เปิดโอกาสให้กองกำลังของ พคท. ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ดำเนินอยู่ในขอบเขตทั่วประเทศและเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ร่วมมือกับทางราชการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองกับประชาชนไทยทุกภาค”

          แหล่งข่าวในกลุ่มการเมืองปีกซ้ายกล่าวว่า หาก กกต.ตอบปฏิเสธการจดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนแล้ว ตัวแทน พคท. ก็จะเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป โดยจะอ้างถึงเหตุผล 3 ข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น

          สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของ “สหายอาวุโส” ทั้งหลายมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะรู้สึกงงๆ และคาดไม่ถึงว่า ยังมีกลุ่มบุคคลที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยม

          ก่อนอื่นขอลำดับความเคลื่อนไหวของ พคท.แบบคร่าวๆ เริ่มแต่วันที่ 1 ธ.ค.2485 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการหลังการประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 57 คน และดำเนินกิจกรรมการเมือง พร้อมการขยายสมาชิกอย่างปิดลับ

          ปี 2489 ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ส.ส.สุราษฏร์ธานี ได้เสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 และที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบ ประเสริฐจึงแจ้งต่อเลขาธิการรัฐสภาว่า ตนขอเป็น ส.ส.สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

          8 พ.ย.2490 คณะทหารก่อการรัฐประหาร ทำให้ พคท.กลับไปสู่การเคลื่อนไหวใต้ดินอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2495 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495

          นับแต่นั้นมา พคท.กลายเป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมาย และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

          7 ส.ค.2508 พคท.ประกาศวันเสียงปืนแตก และก่อตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)

          ยุครุ่งเรืองที่สุดของ พคท. มีกำลังพล(ทปท.) ราว 2 หมื่นคน จัดตั้งฐานที่มั่นหรือเขตจรยุทธใน 50 กว่าจังหวัดจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ

          ปี 2521-2523 เกิดความขัดแย้งในหมู่พรรคพี่น้อง จีนรบเวียดนาม เวียดนามรบเขมรแดง ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ พคท.ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็กดดัน พคท. ด้านหนึ่งปราบปรามทางทหาร อีกด้านหนึ่งประกาศนิรโทษกรรมทหารป่า

          ปี 2530 พคท.ต้องยุติการต่อสู้อาวุธ เพราะองค์การนำตกอยู่ในสภาพยากลำบาก กองจรยุทธ์และเขตจรยุทธ์หดแคบลง นักรบ ทปท.เข้ามอบตัวกลายเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”(ผรท.)

          ปี 2542 มิตรสหายกลุ่มหนึ่ง คิดอ่านฟื้นฟูพรรคฯ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งแต่ความเห็นยังไม่เป็นเอกภาพ จึงมิอาจบรรลุเป้าหมายเปิดประชุมสมัชชา พคท.ครั้งที่ 5

          หลังรัฐประหาร 2549 เกิดความแตกแยกทางความคิดภายในหมู่สหาย ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับนำ ฝ่ายหนึ่งเห็นดีเห็นงามกับการโค่นระบอบทักษิณ แต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับการยึดอำนาจของทหาร

          ด้วยเกิดความแตกแยกกันหนัก “ธง แจ่มศรี” เลขาธิการ พคท. จึงออกแถลงการณ์ “ยุบองค์การนำ แต่ไม่ยุบพรรค” ทำให้คณะกรรมการกลาง พคท.ชุดสมัชชาฯ 4 ไม่พอใจ และกดดันให้ธงลาออกจากเลขาธิการพรรคฯ

 

สู้ถึงฎีกา!  ผิดตรงไหน?  ชื่อ “คอมมิวนิสต์ไทย”

          ปี 2553 องค์การนำเสียงข้างมากได้ตั้งคณะกรรมการกลางชุดเฉพาะกิจ และแต่งตั้ง “สหายวิชัย ชูธรรม” เป็นเลขาธิการพรรคฯ คนใหม่แทนธง แจ่มศรี

          สรุปว่า ชาวคอมมิวนิสต์ไทยได้แตกแยกแบ่งฝ่ายกันชัดเจนคือ กลุ่มพรรคเก่า ภายใต้การชี้นำของ “วิชัย ชูธรรม” กับกลุ่ม “ธง แจ่มศรี” ที่ไม่ยอมรับองค์การนำชุดวิชัย ชูธรรม ซึ่งกลุ่มหลังได้แยกตัวไปตั้ง “พรรคใหม่” แล้ว

          คณะบุคคลที่ก้าวออกมาขอจดแจ้งชื่อ พคท. เป็นองค์การนำชุดปัจจุบัน ที่ตัดสินใจก้าวเดินไปบนหนทาง “รัฐสภา” และขอเป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมาย

          คณะกรรมการกลาง พคท.วิงวอนให้คนไทยได้เข้าใจว่า "พคท.ก็เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคเราสามารถดำเนินกิจกรรมที่รับใช้ชาติและประชาชนซึ่งเรากระทำอยู่เป็นประจำในทุกวันนี้ได้อย่างเปิดเผยและถูกกฎหมาย"

          ในอนาคต พคท.ยังมีความหวังที่จะได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติบ้านเมือง

 

สู้ถึงฎีกา!  ผิดตรงไหน?  ชื่อ “คอมมิวนิสต์ไทย”

 

          “พรรคเรามีความหวังว่าสังคมไทยจะต้องเปิดกว้างเพื่อระดมผู้รักชาติ รักความยุติธรรม และมีจิตสาธารณะที่เห็นแก่ส่วนรวม ร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อนำพาประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา ก้าวให้พ้นจากวังวนของปัญหาทั้งปวง” 

          พรรคคอมมิวนิิสต์แห่งประเทศไทย จะมีที่ยืนบนสมรภูมิเลือกตั้งหรือไม่นั้น? คาดว่า คงไม่จบที่ กกต.อย่างแน่นอน