พักยก "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์"เอกภาพกองทัพสู้การเมือง
พักยก "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์"เอกภาพกองทัพสู้การเมือง : บายไลน์... นลิน สิงหพุทธาวกูร - อัญชลี อริยกิจเจริญ
บัญชีแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลวาระกลางปี ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญที่หลายฝ่ายจับตา 2 ตำแหน่ง คือ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งขยับมาจาก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) แล้วโยกผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.ร.11) มานั่งเก้าอี้ ผบ.พล.1 รอ.แทนนั้น
การเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้ถูกมองจากนักวิชาการที่สนใจด้านโครงสร้างกองทัพอย่าง ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า เป็นการปรับย้ายกรณีพิเศษ เพราะหากพิจารณาย้อนหลังไปอย่างต่ำๆ 20 ปี แทบไม่เคยมีมาก่อนที่จะมีการขยับตำแหน่งสำคัญนี้ในการปรับย้ายวาระกลางปี ที่สำคัญนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจล่าสุด ยังไม่ใช่นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์อีกด้วย
“ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ 20 ปีหลัง ไม่มีการย้ายตำแหน่งนี้ในวาระกลางปีเดือนเมษาฯ นั่นหมายความว่าคนที่ถูกเลือกขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 มีความเป็นไปได้สูงที่จะรองรับการเติบโตในกองทัพภาคที่ 1 และเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อไป”
“ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่าในรอบ 1 ทศวรรษ จะมีการแต่งตั้งนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ในลักษณะที่เรียกกันว่าแลนด์สไลด์ คือมากเป็นพิเศษ แต่สัญญาณนี้เริ่มเปลี่ยนไป เห็นได้จากการโยกย้ายครั้งนี้ และ 2-3 ครั้งก่อนหน้านี้ในตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพบก และ 5 เสือ ทบ.” อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ
ในมุมมองของคนนอกกองทัพและสื่อมวลชนทั่วไป เชื่อว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการแบ่งสายกันของนายทหารแห่งกองทัพบก คือ “สายบูรพาพยัคฆ์” หรือ “นักรบบูรพา” ที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ร.2 รอ.) กับ “สายวงศ์เทวัญ” ที่เติบโตมาจากทหารรักษาพระองค์ในสังกัด พล.1 รอ.
แม้นายทหารในกองทัพเองจะยืนยันกับ “ล่าความจริง” ว่า การแบ่งสายเป็น “บูรพาพยัคฆ์” กับ “วงศ์เทวัญ” น่าจะเป็นเรื่อง "ที่ตั้งหน่วย" เท่านั้น และเป็นการมองจากมุมคนนอกที่ไม่เข้าใจกองทัพอย่างแท้จริง เพราะในกองทัพไม่ได้คิดกันแบบนี้ คิดเพียงว่าทุกคนเป็น จปร.เหมือนกันก็ตาม
ทว่า ผศ.วันวิชิต ชี้ว่าการแบ่งสายนายทหารเป็น 2 สายใหญ่ๆ นั้นมีอยู่จริง โดยเฉพาะในห้วง 10 ปีหลัง จากการขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองและในกองทัพของ "นายพลกลุ่ม 3 ป." คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (บิ๊กป้อม) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (บิ๊กป๊อก) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (บิ๊กตู่) ซึ่งทั้งหมดเป็นสาย “บูรพาพยัคฆ์” ทำให้บรรดา “นักรบบูรพา” เบียดสายวงศ์เทวัญ ผงาดขึ้นคุมตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพได้มากกว่ามาตลอด
ปรากฏการณ์เช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เกิดการแข่งขันและปรากฏรอยร้าวในกองทัพบก
“ท้ายที่สุดความรู้สึกมันหนีไม่พ้น หากจะรักษาเอกภาพในกองทัพไว้ก็ต้องสลายเรื่องนี้ เพราะเป็นการทำลายเอกภาพในกองทัพจริงๆ และการเยียวยาปัญหาก็เริ่มต้นจากการเอาคนกลางอย่างทหารรบพิเศษมาดามความรู้สึก (หมายถึงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท)” อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยกตัวอย่าง
การปรับย้ายนายทหารวาระกลางปีที่เพิ่งผ่านพ้นไป บวกกับสัญญาณการเปิดทางให้ "คนกลางจากรบพิเศษ" อย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และยังได้นั่งเก้าอี้นี้ 2 ปีต่อเนื่องกัน ทำให้บรรยากาศเขม็งเกลียวระหว่าง "บูรพาพยัคฆ์” กับ “วงศ์เทวัญ" คลี่คลายลง
และนั่นทำให้ ผศ.วันวิชิตมองว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า คสช.จะอยู่ยาว เนื่องจากผู้นำทางทหารและการเมืองพยายามสร้าง "เอกภาพในกองทัพ" ให้แข็งแกร่งที่สุด เพื่อค้ำยันสถานการณ์การเมืองในระยะต่อไป เพราะหากต้องการลงจากอำนาจหรือลงจากหลังเสือแบบเบ็ดเสร็จจริงๆ ก็น่าจะตั้งคนของตนเองทิ้งทวนในทุกตำแหน่งสำคัญไปเลย
“ผมคิดว่าต่อไปการแข่งขันในตำแหน่งสำคัญๆ อย่างตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 หรือแม้แต่ 5 เสือ ทบ.จะลดความสำคัญลงไป เพราะทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนท่าทีอย่างชัดเจน ใครๆ ก็ทราบว่าท่านมาจากสายบูรพาพยัคฆ์ และวันนี้ท่านก็ยังมีอำนาจสูงสุดในบ้านเมือง สามารถผลักดันพรรคพวกน้องนุ่งขึ้นสู่ตำแหน่งหลักได้อยู่ แต่ก็เลือกที่จะประนีประนอมกับทหารกลุ่มอื่นๆ ในกองทัพบก”
“ผมมองว่าสัญญาณนี้ไม่ใช่สัญญาณถดถอยของบูรพาพยัคฆ์ ที่หลายคนเรียกว่า ‘บูรพาพยัคฆ์อัสดง’ แต่เป็นสัญญาณของการรอมชอม สมานฉันท์ เพื่อสร้างเอกภาพในกองทัพมากกว่า เริ่มมาตั้งแต่ ผบ.ทบ.คนนี้ (พล.อ.เฉลิมชัย) ขึ้นดำรงตำแหน่งได้ ผมเรียกว่าเป็นสัญญาณขอความร่วมมือ เพื่อรักษาเอกภาพของกองทัพและประคับประคองบ้านเมืองต่อไป”
“ผมมองว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เตรียมจัดการเลือกตั้งโดยไม่สืบทอดอำนาจ คือจะโบกมือลาการเมืองจริงๆ ท่านจะต้องทิ้งทวน เลือกคนที่มาจากหน่วยเดียวกัน สายเดียวกัน แต่นี่ท่านเลือกสร้างความร่วมมือ ให้นายทหารจากรบพิเศษ จากกองทัพภาคที่ 3 มาเติบโตใน 5 เสือ ทบ. สะท้อนว่า คสช.ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป ดูย้อนหลังจากปี 59 ที่ตั้ง พล.อ.เฉลิมชัย ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มาถึงปี 61 รัฐบาล คสช.ก็ยังอยู่ นี่คือภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งว่าผู้ใหญ่ใน คสช.เลือกเล่นไพ่ใบนี้เพื่ออะไร”
“ผมเชื่อว่าสุดท้าย การลดพื้นที่ให้คนเฝ้าจับตามองด้วยอารมณ์หมั่นไส้จากการเติบโตของนายทหารบูรพาพยัคฆ์ในรอบ 1 ทศวรรษจะคลี่คลายลง เพราะผู้นำนายทหารสายนี้ เลือกเล่นไพ่ใบนี้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะ พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม” ผศ.วันวิชิต ระบุ
บทสรุปของการปรับย้ายนายทหาร และการวางกำลังในกองทัพของ คสช. ณ ห้วงเวลานี้ก็คือ การพยายาม "ลดพื้นที่ทางการเมืองในกองทัพลง" เพื่อความพร้อมสำหรับสู้ศึกการเมืองนอกกองทัพ !