ยาแรง'ทรามาดอล' เคลิ้มสุขแลกกับคุก-ลงโลง..!!
ยาแรง'ทรามาดอล' เคลิ้มสุขแลกกับคุก-ลงโลง..!! : ทีมข่าวอาชญากรรม
หลังก็ไม่ปวด ไข้ก็ไม่เป็น แต่วัยรุ่นไทยซื้อยาแก้ปวด ลดไข้ บรรเทาไอ ไปใช้เสพเป็นสิ่งเสพติดทดแทน เสมือนหนึ่งเป็นการ “เสพยาถูกกฎหมาย” โดยไม่กี่ปีมานี้มีข่าววัยรุ่นนำเอายาแก้ปวด “ทรามาดอล” หรือ “ยาแคปซูลเขียว-เหลือง” มาผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม จนกลายเป็นของมึนเมา
แต่ที่น่าสงสัยคือ ยาทรามาดอล เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แม้แต่แพทย์ยังสามารถสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยด้วยจำนวนจำกัด แต่กลับพบยาชนิดนี้ขายเกลื่อนตามโลกออนไลน์ โดยที่ไม่มีการสั่งจ่ายอย่างถูกต้องจากแพทย์ หรือจำหน่ายอย่างถูกต้องจากเภสัชกร รวมถึงร้านขายยาทั่วไปที่มีช่องโหว่ ปล่อยให้พนักงานที่ไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรมมาจำหน่ายยาอันตรายแบบนี้ให้แก่เหล่าวัยโจ๋ในพื้นที่นั้นๆ จนกลายเป็น “ร้านยาขาประจำ”
ตามปกติแล้ว ยาทรามาดอล เป็นยาแก้ปวด ที่ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ที่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้จากการใช้ยาแก้ปวดจำพวกพาราเซตามอล หรืออื่นๆทั่วไป นอกจากใช้ยาตัวนี้เดี่ยวๆ แล้ว อาจมีการใช้ร่วมกันกับยาแก้ปวดตัวอื่น เพื่อให้ออกฤทธิ์แก้ปวดได้ดียิ่งขึ้น แต่ด้วยความที่ทรามาดอลเป็นยาแก้ปวด จึงมีฤทธิ์กดการทำงานของประสาท มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข คล้ายกันกับการใช้มอร์ฟีน แต่จะมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า เลยทำให้ยาทรามาดอล ไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของยาเสพติดให้โทษเหมือนมอร์ฟีน แถมยังสามารถจำหน่ายตามร้านขายยาได้
จากฤทธิ์ของยาตัวนี้ทำให้มึนเมา มีอาการเคลิ้มสุข จึงทำให้เหล่าวัยทีนมีความคิดพิสดารมาประยุกต์ให้ตัวเองได้เมาเคลิ้มในราคาย่อมเยา ไม่ต้องซื้อแพงเหมือนเหล้า หรือยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ แต่ผลพวงคือทำให้โจ๋ที่อยู่ในวัยคะนองอยู่แล้วยิ่งฮึกเหิมเพิ่มขึ้น จนไปก่ออาชญากรรม “ลัก วิ่ง ชิง ปล้น” เรียกได้ว่าถ้าใช้ผิดก็เสี่ยงเข้าไปอยู่ในคุกหรือไม่ก็ลงโลง..!! เพราะอีกทางหนึ่งหากใช้ยาแรงเช่นนี้ไปนานๆ จะมีผลกระทบข้างเคียงอันตรายถึงชีวิต
เกี่ยวกับปัญหานี้ พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ ผู้กำกับกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล อธิบายว่า จริงอยู่ที่คนเสพหรือกินยาทรามาดอลจะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เพราะทรามาดอลไม่ได้อยู่ในประเภทของยาเสพติด แต่การนำมาผสมน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลัง จะทำให้มึนเมา ฮึกเหิม แล้วไปก่อเหตุอาชญากรรม เป็นปัญหาของสังคมได้ แถมยังเป็นยาอันตรายมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ซึ่งตามกฎกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้จัดทำระบบควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ว่าจะผลิตปริมาณเท่าไหร่ และร้านขายยาจะครอบครองยาชนิดนี้ได้ไม่เกิน 1,000 เม็ดต่อร้าน และจ่ายให้แก่ผู้บริโภคได้ไม่เกิน 20 เม็ด ที่สำคัญต้องไม่ขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี เด็ดขาด นอกจากนี้ ร้านขายยาจะต้องทำบัญชีรายงานการขายยาลงระบบออนไลน์สาธารณสุขทุกจังหวัด จะรู้ว่าร้านไหนซื้อยาไปเท่าไหร่ โดยสามารถขายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น หากพบไปขายในอินเทอร์เน็ต ตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย ฯลฯ ถือว่าผิดทั้งหมด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
“ทรามาดอลมีการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดในตอนนี้ แต่อาจถูกละเลยเห็นเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย เพราะไม่ใช่ยาเสพติด และไม่ใช่สารตั้งต้นไปทำยาเสพติดยอดฮิตต่างๆ โดยก่อนมาเป็น ผกก.ดส. ผมคลุกคลีทำงานด้านสืบสวนจับกุมคนร้ายฉกชิงวิ่งราว จี้ชิงทรัพย์ ฯลฯ ที่ผมจับได้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี แทบจะทุกคนจะรับสารภาพว่าก่อนมาก่อเหตุทำอะไรมา ซึ่งเขากินยาจำพวกนี้ผสมน้ำอัดลม ผสมเครื่องดื่มชูกำลัง ถ้าอัพเลเวลหน่อยก็ผสมใส่น้ำกระท่อม จากเดิมที่เคยได้ยิน สี่คูณร้อย ก็อาจจะกลายเป็น ห้าคูณร้อย หรือ หกคูณร้อย ก็ว่ากันไป เมื่อเมาฮึกเหิมก็มาก่อเหตุ ที่สำคัญกินยานี้ผสมน้ำอัดลมทำให้เมาแต่เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ไม่ขึ้น ตรวจฉี่ก็ไม่มีสีม่วง แถมราคาไม่แพง หาซื้อตามร้านขายยาทั่วไป ผมต้องการตัดวงจรอาชญากรรม จึงต้องกวดขันจับกุมร้านขายยาที่ทำผิด ปล่อยขายให้เด็กเยาวชน ซึ่งคนขายส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เภสัชกร ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม” พ.ต.อ.จิรกฤต ระบุ
ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่เป็นหัวเรือใหญ่ กก.ดส. ทาง พ.ต.อ.จิรกฤต ก็สั่งการเป็นนโยบายและลงมือปฏิบัติทันที เพียงแค่วันเดียวกวดขันจับกุมร้ายขายยาที่ลักลอบขายทรามาดอลให้เยาวชนในพื้นที่ได้ 3 ราย รายแรกจับหนุ่มใต้ที่ไม่ได้เป็นเภสัชกร คือ นายภวิศ พลายชุม อายุ 21 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช มาเปิดร้านขายยา “บ้านสวนหลวง” ตั้งอยู่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 48 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. ยึดยาทรามาดอล จำนวน 6,560 เม็ด รายที่สอง จับกุม นางนิราวรรณ ศรีเจริญ อายุ 38 ปี พร้อมด้วยของกลาง ยาทรามาดอล จำนวน 4,180 เม็ด ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ร้านขายยา “ขวัญเมืองเวชภัณฑ์” เลขที่ 3/7 หมู่ 7 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ส่วนรายที่สาม จับกุม นายบุญฤทธิ์ หนูคลัง อายุ 36 ปี พร้อมของกลางยาทรามาดอล จำนวน 1,180 เม็ด เป็นลูกจ้างที่ร้านขายยา “วาฬติณณ์” เลขที่ 67/6 อาคารเจริญ ตึก D ซ.ศรีนครินทร์ 40 ถ.ศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา จำหน่ายยาอันตรายเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้, ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่, ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง, ไม่จัดให้มีฉลากยาที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาตามที่กฎหมายกำหนด
พ.ต.อ.จิรกฤต บอกด้วยว่า เท่าที่มีการจับกุมร้านขายยาทั้ง 3 แห่ง ได้ทำผิดกฎการครอบครองเกิน 1,000 เม็ด ทั้งสิ้น ถือเป็นการกระทำผิด หนำซ้ำยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยร้านขายยาทั้ง 3 แห่งนี้เป็นร้านยาขาประจำของกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ และการจับกุมเกิดจากการล่อซื้อ หลังจากนี้จะมีมาตรการเชิงรุก นำข้อมูลไปหารือกับทาง อย. เพื่อป้องปรามไม่ให้ร้านขายยาละเมิดกฎ ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
ทั้งนี้การนำยาทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด ครั้งละหลายเม็ดต่อเนื่องกัน หรือนำไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทได้ เช่น ทำให้รู้สึกสบาย เคลิ้มสุขได้เร็วและแรง ส่งผลให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้ยาทุกวัน และเมื่อใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายจะต้องการยาเพิ่มมากขึ้นจนเกิดอาการติดยา หากไม่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ และถ้าใช้ยามากเกินไป ตัวยาก็จะไปกดระบบประสาทอย่างมากจนอาจทำให้ไม่รู้สึกตัว
นอกจากทรามาดอล ยังมียาอีกชนิดที่กลุ่มวัยรุ่นมักนำไปใช้ในทางที่ผิด คือ “โปรโคดิล” ช่วยบรรเทาอาการแพ้ ซึ่งอยู่ในหมวดของยาอันตราย ดังนั้นในเมื่อตำรวจกวดขัน ผู้ปกครองก็ต้องสอดส่อง ร้ายขายยาจะต้องมีจรรยาบรรณ อย่าใช้ช่องโหว่เห็นแก่การค้า ถ้าไม่อยากเป็นสะพานส่งคนเข้าคุกกับลงโลงศพ
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาทามาดอลจัดเป็นยาอันตราย ที่อนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่เท่านั้น การส่งมอบยาให้ผู้ซื้อจะต้องกระทำโดยเภสัชกร จำหน่ายให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ไม่เกิน 20 แคปซูล/เม็ด ต่อรายต่อครั้ง ห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี และต้องทำบัญชีการรับ-จ่ายยาอย่างเข้มงวดให้แก่อย. หากร้านขายยาใดไม่ปฏิบัติตามอย.จะเข้าตรวจสอบและอายัดทันที
ปัจจุบันมีราว 10 กว่าบริษัทที่นำเข้าบริษัทที่ขายไม่ปรากฏในบัญชีที่รายงานอย. ถือว่ามีความผิด จะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่หากไม่พบบริษัทใดเกี่ยวข้องก็จะต้องสงสัยว่าเป็นการลักลอบนำเข้า ก็จะประสานไปยังศุลกากรต่อไปเพื่อหาว่ามีการลักลอบนำเข้าทางไหน อย่างไร
ทั้งนี้เมื่ออย.เข้มงวดในการซื้อขายยาทามาดอลผ่านทางร้านขายยา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทำให้หาซื้อยาชนิดนี้ยากมากขึ้นจึงมีการลักลอบขายผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งผิดกฎหมายเพราะยากฎหมายห้ามไม่ให้มีการขายออนไลน์
สำหรับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กรณีผลิตยาปลอม ฝ่าฝืน มาตรา 72(1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000–50,000 บาท ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืน มาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ฝ่าฝืน มาตรา 19(1) ต้องระวางโทษปรับ 2,000–5,000 บาท
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษาอย. กล่าวว่า ยาทามาดอลเป็นยาระงับปวดที่ใช้ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการสั่งของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัด เป็นต้น หากใช้เป็นเวลานานหรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ติดยาตัวนี้ได้ เพราะจะกดประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะระบบหายใจ ทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจอาจจะหัวใจล้มเหลว ที่ผ่านมา อย่างกรณีเด็กชายคนหนึ่งที่ใช้ยาตัวนี้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์จนกล้ามเนื้อขาลีบ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะยาไปสลายกล้ามเนื้อ ดังนั้นผู้ที่ไม่มีความจำเป็นไม่ต้องใช้ หากผู้บริโภคเจอร้านขายยาที่กระทำความผิดนี้สามารถแจ้งเบาะแสให้อย.ได้ที่สายด่วน 1556