ไทยมีเด็กแอลดี37%จาก3แสนคนแนะร.ร.สร้างห้องเรียน-พัฒนาได้
ไทยมีเด็กแอลดี37%จาก3แสนคนแนะร.ร.สร้างห้องเรียน-พัฒนาได้ : เจาะประเด็นร้อน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร - [email protected]
ปัจจุบันไม่มีระบบการจัดการศึกษาให้เด็กโรคการเรียนรู้บกพร่อง (แอลดี)และพฤติกรรม เด็กที่มีปัญหาทางการสื่อสาร เด็กสมาธิสั้นอย่างชัดเจน จากข้อมูลที่ระบุว่าไทยมีเด็กแอลดี 3 แสนกว่าคน แต่เมื่อวิเคราะห์พบเพียง 37% ที่เป็นแอลดี ซึ่งหากมีระบบที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้อย่างถูกต้องจะสามารถพัฒนาเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพได้ กอปศ.เสนอให้บรรจุเด็กพิเศษกลุ่มนี้ไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... เพื่อช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษา เพราะเชื่อว่าพวกเขาสามารถพัฒนาไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและบางคนเป็นถึงขั้นอัจฉริยะได้
เมื่อวันที่ 22 พฤาภาคม คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มีการประชุมหารือถึงการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่ง กอปศ.ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กพิเศษ เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะมีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 ซึ่งดูแลเด็กกลุ่มพิการ 9 ประเภท ดังนี้ 1.บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น 2.บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน 3.บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
4.บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ 5.บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ 6.บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา 7.บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ 8.บุคคลออทิสติก และ 9.บุคคลที่พิการซ้อน แต่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... นี้ จะมีการแบ่งเป็น 10 ประเภท โดยจะเพิ่มบุคคลที่มีความพิการทั้งหูหนวกและตาบอดในคนคนเดียวกัน ซึ่งเดิมอยู่ในความพิการซ้ำซ้อน
ก.ม.เด็กพิเศษดูแลไม่ครอบคลุม
นางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธาน กอปศ. กล่าวว่า ในสภาพความเป็นจริงการดูแลยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้เด็กพิการ หรือเด็กพิเศษยังไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้มีเด็กพิการที่เกิดความพิการแบบไม่เห็นเด่นชัด ได้แก่ เด็กโรคการเรียนรู้บกพร่อง(แอลดี) เด็กที่มีความบกพร่องและพฤติกรรมมีปัญหาทางการสื่อสาร เด็กสมาธิสั้น เป็นต้น ดังนั้น ในการบรรจุร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... จะมีการบรรจุเด็กพิเศษอย่างชัดเจน
แอลดี-ออทิสติกพัฒนาเป็นอัจฉริยะได้
ขณะนี้ประเทศไทยระบุว่ามีเด็กแอลดี จำนวน 3 แสนคน แต่เมื่อคณะทำงานได้สำรวจเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่าเด็กที่เป็นแอลดีจริงๆ มีเพียง 37% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่มีเด็กแอลดีจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนไม่มีระบบคัดกรอง และเมื่อเห็นว่าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ระบุว่าเป็นเด็กแอลดีทั้งหมด เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ต้องผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) อีกทั้งยังพบว่า โรงเรียนผลักให้เด็กแอลดีไปอยู่ในกลุ่มพิการ เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเด็กพิการ 2,000 บาท
"หรือในส่วนของเด็กออทิสติก ในโรงเรียนยังขาดครูที่คอยดูแล ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้หลายคนมีความอัจฉริยะ แต่เมื่อโรงเรียนไม่สามารถดูแลได้ก็จะผลักเด็กกลุ่มนี้ออกจากโรงเรียน หรือเด็กสมาธิสั้น ที่ตอนนี้มีจำนวนเพิ่มจากเดิม 5-10% เมื่อครูไม่เข้าใจพยายามผลักเด็กกลุ่มนี้ออกจากโรงเรียนเช่นกัน ทั้งที่เด็กกลุ่มแอลดี เด็กออทิสติก และเด็กสมาธิสั้น มีความสามารถสูง บางคนเป็นเด็กอัจฉริยะ ดังนั้นจึงถือว่าเด็กเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ หากได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง” นางดารณี กล่าว
มอบ
เขตสพท.สร้างห้องเรียนพิเศษ
ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษา กอปศ.ให้ความสำคัญกับระบบคัดกรองเด็ก ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ โดยจะมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม เพื่อสร้างห้องเรียนพิเศษให้แก่เด็กเหล่านี้ที่อยู่ในบริบทของโรงเรียนทั่วไปก่อนเคลื่อนเด็กเข้าสู่ระบบการเรียนร่วมปกติ
พร้อมกับให้ สพท.จัดหานักจิตวิทยาประจำโรงเรียน รวมถึงอาจมีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ครูแนะแนวในเรื่องนี้ และการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ กอปศ.จะบรรจุเรื่องกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ด้วย
บรรจุในร่างพ.ร.บ.การศึกษาใหม่
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษามุ่งดูแลและให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้ให้มีคุณภาพและควรได้โอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงดูแลไปถึงเด็กทีมีความเปราะบางทางสังคม เช่น พ่อแม่หย่าร้าง ลูกติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งต้องหาวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างอย่างหลากหลาย พร้อมกับหากระบวนการคัดกรองที่ถูกต้อง หรือจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาเฉพาะกลุ่มเด็กเหล่านี้
เพราะไม่อยากให้เด็กเหล่านี้เป็นตัวปัญหาของสังคมอย่างที่พบปัญหาคือ มีโรงเรียนบางแห่งอยากให้โรงเรียนมีลำดับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาต่างๆ ที่สูง ก็พยายามกันเด็กเหล่านี้ไม่ให้มาเข้าสอบ เพื่อเป็นตัวถ่วง ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ที่กำลังจัดทำจะมีการกำหนดเป็นมาตราหนึ่งสำหรับดูแลเด็กพิการ เด็กความสามารถพิเศษ และเด็กกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษา ปี 2542 ได้กำหนดในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กพิการ กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี การจัดการศึกษาเด็กพิการเป็นไปอย่างดี แต่ในกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสกลับไม่ได้รับการดูแล ตอบสนองตามความต้องการเท่าที่ควร
ดูแลพัฒนาทักษะตั้งแต่แรกเกิด
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า กอปศ. และกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ทำงานร่วมกัน และพิจารณาว่าจะดูแลเด็กทั้ง 3 กลุ่มอย่างจริงจัง โดยในกลุ่มของที่ 3 หรือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ได้มีนิยามใช้ชื่อใหม่ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขึ้น มีหลักการดูแลเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตลอดชีวิต โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ภายใต้เป้าหมายเน้นเรื่องการเรียนร่วมกัน พัฒนาให้ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งเรื่องหลักสูตร การสอน การดูแล สนับสนุนส่งเสริมต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ พร้อมจัดระบบการสนับสนุนให้เอื้อ ทั้งระบบการคัดกรอง การวินิจฉัย มีครูและนักวิชาชีพ การบริหารจัดการที่จะเอื้อการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้
แนะตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกจังหวัด
จีรพันธ์ ตันมณี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก เสนอว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจะจัด “งบลงทุน” พัฒนาและจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก ประจำจังหวัด” ซึ่งขณะนี้ มีอยู่เพียงสองแห่ง คือที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นนทบุรี มูลนิธิออทิสติกไทยมีสัดส่วนของบุคลากรที่เหมาะสมซึ่งมีความรู้และเชียวชาญที่เหมาะสม มีสหวิชาชีพมาร่วมด้วยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีสถานที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับบุคคลออทิสติกที่เหมาะสมกว้างขวาง โดยได้รับทรัพยากรทั้งในด้านเม็ดเงินและบุคลากร ใช้ในการจัดสถานที่เพื่อให้เป็นที่ทำกิจกรรมของบุคคลออทิสติกในการจ่ายค่าตอบแทนสหวิชาชีพ เพราะพ่อแม่หรือมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอ มีแต่รัฐบาลเท่านั้นถึงจะตอบโจทย์คนออทิสติกได้ทั้งประเทศ