คอลัมนิสต์

"ไพรมารีโหวต" จะได้ใช้จริงหรือ !!??

"ไพรมารีโหวต" จะได้ใช้จริงหรือ !!??

15 มิ.ย. 2561

"ไพรมารีโหวต" คืออะไร? ต้องทำอย่างไร? ไพรมารีโหวตจะทำให้โรดแม็พเลือกตั้งเลื่อนหรือไม่? จะมีการใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกจริงหรือ?

 

                 “ไพรมารีโหวต” เป็นอีกคำที่พูดถึงกันมากในระยะนี้ นอกจากคำถามว่า “ไพรมารีโหวต” คืออะไร ต้องทำอย่างไร คำถามเหนือขั้นกว่า คือ ไพรมารีโหวตจะทำให้โรดแม็พเลือกตั้งเลื่อนหรือไม่ ไปจนถึงจะมีการใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกจริงหรือ?

                 ทำความเข้าใจง่ายๆ “ไพรมารีโหวต” ก็คือการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อเลือกตัวแทนพรรคที่จะส่งลงสนามแข่งขัน จากเดิมคณะกรรมการบริหารพรรค หรือผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคจะเป็นคนกำหนดว่าจะให้ใครลงสมัครที่ไหน อย่างไร ระบบใหม่จะไม่ใช่แล้ว

                 ถ้าพูดในหลักการก็ต้องบอกว่า “ไพรมารีโหวต” คือกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นของนายทุน เป็นของผู้ใหญ่ของพรรค หรือเป็นเรื่องการแบ่งผลประโยชน์กันของกลุ่มก๊วน หรือมุ้งต่างๆ

                 แต่ในฝั่งของผู้คัดค้านมีการบอกว่า “ไพรมารีโหวต” ไม่เหมาะสมกับสังคมไทยที่คนยังไม่ตื่นตัวที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค เรื่องนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกในพรรค บางคนพูดไปถึงว่านี่คือแผนทำลายพรรคการเมือง

 

\"ไพรมารีโหวต\" จะได้ใช้จริงหรือ !!??

(อ่านต่อ...‘ไพรมารี่โหวต’ ปฏิวัติ ‘นายทุน’ พรรคการเมือง?)

 

                 พรรคการเมืองเก่าไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับ “ไพรมารีโหวต”

                 “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยระบุผ่านจดหมายเปิดผนึกแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า พรรคเคยทดลองทำไพรมารีโหวตมาแล้วที่อยุธยา เมื่อปี 2556 ผลที่ออกมาพบว่าผู้ที่มาใช้สิทธิ์น้อย ผู้ที่ได้รับชัยชนะมีคะแนนเสียงค่อนข้างน้อย สิ่งที่ได้เป็นการสะท้อนความสามารถของแต่ละคนที่จะระดมคนใกล้ชิดของตัวเองมาลงคะแนน ซึ่งพรรคไม่พอใจต่อผลการทดลองดังกล่าว

                 สอดคล้องกับทางพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่าการทำไพรมารีโหวตเพื่อเลือกผู้ลงสมัครจะไม่สะท้อนความนิยมของประชาชน แต่จะเป็นเรื่องของสมาชิกจำนวนน้อยเท่านั้น

                 อีกเหตุผลที่ทำให้พรรคการเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยกับไพรมารีโหวต คือ ระยะเวลาที่จำกัด คสช.ยังไม่ปลดล็อก กกต.ยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ยังตั้งสาขาพรรคไม่ได้ ล้วนเป็นอุปสรรค และถึงที่สุดจะทำได้ก็ไม่มีคุณภาพ จะกลายเป็นเรื่องการเกณฑ์คนมาเป็นสมาชิกเพื่อทำไพรมารีโหวตเท่านั้น

                 ข้อกำหนดเรื่อง “ไพรมารีโหวต” นี้ อยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาในขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” เป็นประธานคณะกรรมาธิการ 

 

\"ไพรมารีโหวต\" จะได้ใช้จริงหรือ !!??

(อ่านต่อ...ยอมใจเลย "สมเจตน์ บุญถนอม" คนนี้แรงจริง!!)

                 ย้ำว่าเพิ่งเกิดขึ้นในขั้นของสนช. ส่วนตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของมีชัย ฤชุพันธุ์ ยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองขึ้นมา ยังไม่มีเรื่องนี้

                 ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่อง “ไพรมารีโหวต” ตรงๆ มีเพียงในมาตรา 45 เรื่องการตั้งพรรคการเมือง ที่กำหนดตอนหนึ่งไว้ว่า “เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง”

 

                 **การทำ “ไพรมารีโหวต”

 

\"ไพรมารีโหวต\" จะได้ใช้จริงหรือ !!??

 

                 กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวตทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในการทำไพรมารีโหวตจะต้องทำในที่ประชุมของสาขาพรรค หรือ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด นั่นหมายถึงว่าการจะทำไพรมารีโหวตได้ ก็ต้องมีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก่อน

 

                 **สาขาพรรค - ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

                 ถ้าดูชื่อก็อาจจะงงๆ สำหรับ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” แต่จริงๆ ก็เทียบได้กับ “สาขาย่อยของพรรค”

                 หากเป็น “สาขาพรรค” จะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่นั้นๆ เช่น อาจจะเป็นภาค หรือจังหวัด หรือเขต ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป แต่ถ้าเป็น “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” หรือ “สาขาย่อย” ให้มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน

                 ในการทำไพรมารีโหวต กำหนดว่าหากเป็น “สาขาพรรค” ให้มีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หากเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้มีสมาชิกมาประชุม 50 คนขึ้นไป

                 ในกฎหมายพรรคการเมืองมีข้อกำหนดอีกอย่างว่าพรรคที่จะส่งผู้สมัครส.ส.เขตลงเขตไหน จะต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่เขตนั้นด้วย และต้องทำไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น ดังนั้นการตั้งสาขาพรรคหรือสาขาย่อย จึงจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องเขตเลือกตั้งด้วย

                 อย่างไรก็ตามสำหรับการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองก็มีการผ่อนปรนไว้ คือ จากในบททั่วไปที่กำหนดว่าหากพรรคจะส่งผู้สมัครส.ส.เขตไหน จะต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตนั้นเพื่อทำไพรมารีโหวตด้วย ก็ผ่อนผันให้ว่า หากพรรคนั้นมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพียงเขตใดเขตหนึ่งในจังหวัดนั้น ก็สามารถทำไพรมารีโหวตเพื่อเลือกผู้สมัครในทุกเขตเลือกตั้งได้

                 แต่นั่นหมายความว่า จากปกติที่สมาชิก “สาขาพรรค” หรือ “สาขาย่อย” จะลงคะแนนในการทำไพรมารีโหวตคนละ 2 ครั้ง คือ ส.ส.เขตของตัวเอง กับส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ในครั้งแรกต้องคูณจำนวนเขตของจังหวัดนั้นเข้าไปด้วย

 

                 **คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร

                 ในกระบวนการทำไพรมารีโหวตจะต้องมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นฝ่ายธุรการ เช่น กำหนดวัน เวลา สถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งไปจนถึงการส่งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดสำหรับกรณีส.ส.เขต หรือบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้แก่กรรมการบริหารพรรค และร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารพรรคกรณีกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่ส่งไป

                 คณะกรรมการสรรหาจะประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งก็ไปพันกับเรื่องการตั้งสาขาพรรคที่ตอนนี้ยังทำไม่ได้

 

                 **การลงคะแนนในการทำไพรมารีโหวต

                 แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ไพรมารีโหวตเพื่อเลือกผู้สมัครส.ส.เขต กรณีนี้ให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้ 1 คน และกรณีไพรมารีโหวตเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้เลือกได้ 15 คน จากทั้งหมด 150 ชื่อ

                 เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว กรรมการสรรหามีหน้าที่ส่งรายชื่อ 2 คนที่ได้คะแนนสูงสุดของผู้สมัครส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อที่เรียงตามลำดับคะแนน 150 คน ไปให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิ์ที่จะไม่เลือกคนได้คะแนนสูงสุดได้แต่ต้องให้เหตุผล

                 ขั้นตอนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าในเมื่อจะให้สมาชิกเป็นคนเลือกผู้สมัคร ทำไมจึงให้อำนาจกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกรายชื่อตามนั้นได้

                 นั่นคือกระบวนการในการทำไพรมารีโหวต 

                 แต่เนื่องจากตอนนี้พรรคการเมืองยังตั้งสาขาพรรคไม่ได้ เพราะกกต.ยังไม่ได้แบ่งเขต เพราะกฎหมายเลือกตั้งยังไม่มีผลบังคับใช้ และพรรคการเมืองยังหาสมาชิกได้ เพราะคสช.ยังไม่ปลดล็อก พรรคการเมืองจึงออกมาโวยว่าอาจจะไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ทัน

                 มีเสียงเรียกร้องให้มีการยกเว้นการทำไพรมารีโหวตครั้งแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้กฎหมายพรรคการเมืองอีกครั้งด้วยการใช้มาตรา 44 หรือ สนช. ซึ่งก็จะใช้เวลาในการแก้ไขต่างกัน

                 จะมีไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่ ยังต้องรอดู “เกมต่อรอง” !!

 

===============

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์