ถ้ำหลวง-แม่สาย... บทเรียนยกระดับ "กู้ภัยแห่งชาติ"
ถ้ำหลวง-แม่สาย... บทเรียนยกระดับ "กู้ภัยแห่งชาติ" : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์
“เราอยากเห็นการยกระดับการรับรู้เรื่องความปลอดภัยของคนในชาติให้มากกว่านี้ แต่ปัญหาคือใครจะเป็นคนทำ?”
นี่คือคำถามของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ที่เฝ้าดูภารกิจการช่วยเหลือเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี่” ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานร่วมครึ่งเดือนแล้ว หากจะให้สรุปบทเรียนจากปรากฏการณ์ที่ยังไม่จบของปฏิบัติการนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยควรมีการจัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” อย่างจริงจังเสียที จากปัจจุบันที่มีเฉพาะ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” เท่านั้น
ความต่างระหว่าง 2 ศูนย์นี้ คือ “ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” ไม่ได้มีภารกิจแค่ “เตือนภัย” แต่ต้องมีความพร้อมในการ “กู้ภัย” เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหมือนกรณีเยาวชนและโค้ชฟุตบอลทีมหมูป่าหลงถ้ำ หาทางออกไม่ได้ ซึ่งกระบวนการ “กู้ภัย” ก็ต้องยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมสากลด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดก็คือ การจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทั้งทางบก ทางอากาศ ทางทะเล แม่น้ำ หรือแม้แต่ถ้ำต่างๆ ในประเทศไทย” พันธ์ศักดิ์ ระบุ พร้อมตั้งคำถาม
“เราอยากเห็นการยกระดับการรับรู้เรื่องความปลอดภัยของคนในชาติให้มากกว่านี้ แต่ปัญหาคือใครล่ะจะเป็นคนทำ ผมคิดว่าถ้ามีการยกระดับหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมาเป็น ‘ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ’ จากเดิมที่เป็นหน่วยงานซ่อนอยู่ตามกรมเล็กๆ ในกระทรวงต่างๆ ก็จะสามารถสร้างบทบาทการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น”
แนวคิดการจัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “หน่วยกู้ภัยระดับชาติ” เพื่อยกระดับปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์อย่าง ผศ.น้อม งามนิสัย อดีตอาจารย์ด้านภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่บอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะต้องมีบทบาทนำในการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติมีได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นหากปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้กันเองก็อาจจะเกิดความสูญเสียขึ้นได้
“สภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันรวดเร็วและหลายๆ ครั้งเกินคาดเดา ทำให้โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติมีได้ทุกเมื่อ อย่างกรณีของถ้ำหลวง เด็กๆ เข้าไปเพราะความเคยชิน ซึ่งเขาไม่คิดว่าฝนจะตกจนน้ำท่วมปิดปากถ้ำ ทุกวันนี้สภาพอากาศของโลกมันคาดเดาลำบาก ชาวบ้านก็คงไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ฉะนั้นหน่วยงานของรัฐควรจะต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะหากปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้กันเองก็อาจจะเกิดความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้”
“ปฏิบัติการช่วยเด็กๆ และโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำหลวงครั้งนี้ ทราบว่าภาครัฐใช้งบประมาณไปแล้วนับร้อยล้านบาท เงินจำนวนนี้หากนำมาใช้ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ หรือกู้ภัย ย่อมไม่คุ้มค่า เพราะใช้แล้วก็หมดไปตามเหตุการณ์ ฉะนั้นเราควรริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลปัญหานี้โดยตรง อาจจะเป็นระดับชาติ และมีกลไกในระดับภูมิภาค เรื่อยไปจนถึงระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีถ้ำ หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง” ผศ.น้อม เสนอ
แม้ปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวงยังไม่จบ แต่สำหรับประเทศไทยต้องบอกว่าได้เวลาถอดบทเรียนกันจริงๆ จังๆ ได้แล้ว
“วิกฤติการณ์ที่ถ้ำหลวงถือเป็นต้นแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เป็นต้นแบบการร่วมมือกันจากทุกหน่วยงาน ทั้งระดับประเทศและสากล ถ้าหากรัฐบาลสามารถกำหนดให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง เราก็จะทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น การทำแผนที่ถ้ำอย่างละเอียด การระบุตำแหน่งต่างๆ ภายในถ้ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของถ้ำตามฤดูกาล สุดท้ายคือ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มา ซึ่งอาจจะมาจากคนในท้องถิ่นนั้นๆ เองด้วย ควรมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสาธารณะ เพื่อบอกรายละเอียดและวิธีปฏิบัติต่างๆ หากจะเข้าไปในถ้ำหรือสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ผมคิดว่าหน่วยงานของรัฐควรจะตื่นตัวในการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านภัยพิบัติโดยตรง” นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ กล่าว
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อีกหนึ่งปรากฏการณ์จากวิกฤติที่ถ้ำหลวงซึ่งน่านำมาสรุปบทเรียนเช่นกัน ก็คือการใช้สื่อทั้งกระแสหลัก กระแสรอง และสื่อสังคมออนไลน์ อย่างมากมายเกือบจะตลอดเวลาของวิกฤติการณ์นี้ จนน่าจะเรียกได้ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องนี้ทำให้ พันธ์ศักดิ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร หยิบทฤษฎี “แบล็ก สวอน” หรือ “หงส์ดำ” ขึ้นมาอธิบาย
กล่าวแบบสรุปรวบยอด “ทฤษฎีหงส์ดำ” หรือ Black Swan เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน ไม่สามารถรับมือได้ และองค์ความรู้ที่เคยมีอยู่เดิม อาจไม่เพียงพอสำหรับการจัดการปัญหา
“เหตุการณ์เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ก่อผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก คล้ายกับสึนามิหรือน้ำท่วมใหญ่ ทั้งยังมีปัจจัยอ่อนไหวมากกว่าเดิม ก็คือผลกระทบทางจิตใจจากภาวะเครียดและมีอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอข่าวอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลัก หรือสื่อโซเชียลที่กระตุ้นความรู้สึกของคนที่เสพข่าวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมากเกินความจำเป็น”
“ลองคิดดูว่าปรากฏการณ์ช่วยเหลือเด็กติดถ้ำวันนี้เจ้าหน้าที่สามารถพบตัวเด็กได้ก็จริง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่พบเด็กหรือมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมา ความรู้สึกในทางกลับกันของคนที่เสพสื่อก็อาจจะแสดงความคิดเห็นไปกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้นเป็นทวีคูณ” พันธ์ศักดิ์ อธิบาย
ผศ.น้อม งามนิสัย
ปัญหาเรื่องบทบาทของสื่อและการเสพสื่อของประชาชนตามที่พันธ์ศักดิ์อธิบาย ยังขยายวงไปถึงการพยายามเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวบิดเบือน ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจด้วย ฉะนั้นในฐานะที่ทำงานด้านการสื่อสารซึ่งเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี พันธ์ศักดิ์ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องมี "ศูนย์ป้องกันภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ" ควบคู่ไปกับ "ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ด้วย เพราะแม้วันนี้บางหน่วยงานโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่ใช่หน่วยงานที่มีศักยภาพระดับชาติจริงๆ
“สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดก็คือ การที่รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นจริง เพราะประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อคนต่อวัน แต่บ้านเรากลับไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนาให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ 4.0”
“สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากก็คือเรื่องของการพัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้กับเทคโนโลยีการช่วยชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศเรายังไม่มีบุคลากรและอุปกรณ์ที่สามารถรับมือกับงานด้านนี้ได้อย่างเพียงพอ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้นานาชาติได้เลย”
ถือเป็น “วิกฤติ” บนความห่วงใยของทุกฝ่ายที่อยากให้รัฐบาลฉวยจังหวะนี้พลิกเป็น “โอกาส” เพื่อยกระดับงานกู้ภัยและป้องกันภัยพิบัติให้เทียบเท่ากับสากล!