คอลัมนิสต์

เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าหรือล่าถอย?

เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าหรือล่าถอย?

27 ส.ค. 2561

เปลี่ยนตัว "ผู้อำนวยความสะดวก"พูดคุยดับไฟใต้...เดินหน้าหรือล่าถอย? : รายงาน 


          กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยลุ้นขยับเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง เมื่อมีข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตั้งผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่แล้ว

          ผู้อำนวยความสะดวกฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯ มาเลเซีย คือ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ สื่อมาเลย์เรียกสั้นๆ ว่า “อับดุล ราฮิม นูร์” เขาเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย โดย ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทน ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียอ้างว่าหมดวาระการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

          ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน เป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองมาเลเซีย และเป็นคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาตั้งแต่ปี 55 ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ตัวแทนของรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น แต่โต๊ะพูดคุยต้องล้มเลิกไปเพราะความผันแปรทางการเมืองในประเทศไทยช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 57

          ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยให้รัฐบาลมาเลเซียช่วยอำนวยความสะดวกเช่นเดิม ซึ่งรัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ก็มอบหมายให้ ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน ทำหน้าที่เดิม โดยฝ่ายไทยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมตัวกันมาในนาม “มารา ปาตานี”

 

เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าหรือล่าถอย?

 

          การพูดคุยดำเนินมาด้วยดี กระทั่งใกล้บรรลุข้อตกลงเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรกร่วมกัน แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในมาเลเซีย เมื่อพรรครัฐบาลที่นำโดย นายนาจิบ ราซัค พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ทำให้กระบวนการพูดคุยต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง

          ดร.มหาธีร์ ในวัย 92 ปี ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และยืนยันอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลไทยว่า จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกจาก ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน เป็นบุคคลอื่น เนื่องจาก ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน มีความใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค

          กระทั่งล่าสุด ก็มีข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ดร.มหาธีร์ แต่งตั้งให้ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ของไทยแทน ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน โดยอดีตผู้บัญชาการตำรวจรายนี้มีความใกล้ชิดกับ ดร.มหาธีร์ และมีบทบาทสำคัญในช่วงที่ ดร.มหาธีร์ เคยเรืองอำนาจ ช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบแรก ระหว่างปี 2524 ถึงปี 2546 ด้วย

          ภาพจำของเขาในสายตาคนทั่วโลกก็คือ การชกหน้า อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ช่วงที่ถูกจับหลังขัดแย้งกับ ดร.มหาธีร์ สมัยที่ยังรั้งตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยแรก

          จากหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดูแลงานด้านความมั่นคงมานาน ทำให้ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้คนใหม่ มีความรู้จักสนิทสนม และเคยร่วมงานกับอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเคยทำงานด้านความมั่นคงชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทย-มาเลเซียมาเนิ่นนาน

          พล.อ.อกนิษฐ์ เรียกขานอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลย์รายนี้ว่า “ตัน สรี ราฮิม” เขาเล่าว่ารู้จักกับ “ตัน สรี ราฮิม” เป็นอย่างดี เป็นคนที่เชี่ยวชาญงานความมั่นคงมาก ปฏิบัติการข่าวลับมาโดยตลอด กระทั่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซียในที่สุด

 

เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าหรือล่าถอย?

 

          ในมิติการประสานงานร่วมกับไทย “ตัน สรี ราฮิม” ทำงานร่วมกับ พล.อ.อกนิษฐ์ มาตั้งแต่ปี 29-30 เพื่อแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. เมื่อประสบความสำเร็จ และมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยปะทุขึ้นมา ดร.มหาธีร์ ก็มอบหมายให้ “ตัน สรี ราฮิม” มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ และมุ่งมั่นถึงขนาดว่าต้องแก้ให้สำเร็จภายในเวลา 2 ปี

          “ตัน สรี ราฮิม เป็นมือขวาของ ดร.มหาธีร์ เมื่อได้ไฟเขียวให้มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ ก็เคยบินมาพบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายครั้ง ช่วงนั้นเป็นยุครัฐบาลคุณชวน หลีกภัย มี พล.ท.กิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 (ยศในขณะนั้น) แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และเปลี่ยนตัวแม่ทัพ ก็ล้มกระดานความร่วมมือนี้ไป นโยบายการแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 2 ปีก็ยุติลง” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว

          อดีตนายทหารซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อย จปร. กับนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังบอกอีกว่า ตัน สรี ราฮิม เป็นคนเอาจริงเอาจัง ตรงไปตรงมา และไม่ค่อยมีเล่ห์เหลี่ยม เมื่อพิจารณาบวกกับ ดร.มหาธีร์ ที่กลับมาเป็นนายกฯ อีก 1 สมัย และมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาภาคใต้ของเราให้ได้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ปัญหาภาคใต้จะได้รับความสนใจ และแก้ไขอย่างจริงจังอีกครั้ง

          ความเห็นของ พล.อ.อกนิษฐ์ สอดคล้องกับแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงของไทย ที่ประเมินว่า การใช้อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลอย่าง “ตัน สรี ราฮิม” มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีความเหมาะสมมากกว่า ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง เพราะตำรวจสันติบาลมาเลเซียมีอำนาจเต็มตามกฎหมายความมั่นคงภายใน และรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากชายแดนภาคใต้ของไทยที่เข้าไปกบดานอยู่ในมาเลเซียเป็นอย่างดี การตั้งอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก จะช่วยให้กระบวนการพูดคุยและการแก้ไขปัญหาไฟใต้ของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น

          อย่างไรก็ดี แม้โต๊ะพูดคุยมีแนวโน้มสดใสที่จะเดินหน้าต่อไป แต่ก็มีข่าวจากหลายกระแสว่า อาจมีการเปลี่ยนคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยลดบทบาทกลุ่มมารา ปาตานีลง และเพิ่มน้ำหนักให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

          และที่สำคัญต้องจับตาว่า คณะพูดคุยฝ่ายไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลด้วยหรือไม่ เพราะอาจต้องปรับทีมเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น “ของจริง” ในงานด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันก็มีข่าวกระเส็นกระสายมาจากฝั่งมาเลย์ว่า อยากให้ไทยหาหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ที่มีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องได้ทันที ไม่ต้องคอยกลับมาถามนายกรัฐมนตรีทุกเรื่องเหมือนที่ผ่านมา

          ดูเหมือนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในฝั่งไทยจะมีอะไรให้ลุ้นระทึกกว่าฝั่งมาเลเซีย !