คอลัมนิสต์

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

03 ก.ย. 2561

ชัดเจนแล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ปีหน้า จะไม่มีการทำไพรมารีโหวต

 

               ทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง “การทำไพรมารีโหวต” ก็คือการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อเลือกตัวแทนพรรคที่จะส่งลงสนามเลือกตั้งทั้ง ส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน จากเดิมคณะกรรมการบริหารพรรค หรือ “ผู้ใหญ่” ของพรรคจะเป็นคนกำหนดว่าจะให้ใครลงสมัครที่ไหน อย่างไร

               ในหลักการก็ต้องบอกว่า “ไพรมารีโหวต” คือกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นของนายทุน เป็นของผู้ใหญ่ในพรรค หรือเป็นเรื่องการแบ่งผลประโยชน์กันของกลุ่มก๊วน หรือมุ้งต่างๆ

               เพียงแต่ที่ไปที่มาของ “ไพรมารีโหวต” ที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง มาพร้อมข้อกังขาในเจตนาของผู้ร่างกติกานี้ คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” เป็นประธาน

               เป็น “พล.อ.สมเจตน์” ที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ฝ่ายทักษิณ” อย่างชัดเจน ซึ่งเขามีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ยุค คมช. มาจนถึงยุค คสช.

 

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

(อ่านต่อ...ยอมใจเลย “สมเจตน์ บุญถนอม” คนนี้แรงจริง!!)

 

               กติกานี้เพิ่งถูกกำหนดขึ้นในขั้นตอนของสนช. ในร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า กติกาใหม่ “ไพรมารีโหวต” ที่ถูกกำหนดขึ้นมาในขั้นตอนสนช.นี้ ก็เพื่อ “ตัดกำลัง” พรรคเพื่อไทย ที่มีปัญหาในระดับพื้นที่กันอยู่ไม่น้อย

               แต่ถึงวันนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจออกมาส่งสัญญาณชัดเจนผ่าน “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ มือกฎหมาย ว่าจะกลับไปใช้กติกาเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

               ความจริงพรรคการเมืองส่งเสียงมาตั้งนานแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับกติกานี้ เพราะมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อคสช.ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมือง และกกต.ยังไม่ได้แบ่งเขตเลือกตั้ง ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ “นำพา” ให้มีการทบทวนกติกานี้

 

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

(อ่านต่อ...“ไพรมารีโหวต” จะได้ใช้จริงหรือ !!?? )

 

               ล่าสุดเมื่อ “วิษณุ” ออกมาบอกว่าจะมีการออกมาตรา 44 มาแก้ไขเรื่องการทำไพรมารีโหวต จึงอดไม่ได้ที่จะมีการมองว่าที่ คสช.ยอม เพราะกติกานี้ไปกระทบ “พรรคพลังประชารัฐ” พรรคเกิดใหม่ ที่คาดว่าจะเป็นพรรคที่มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ ด้วยเช่นกัน

               สำหรับ “กติกาใหม่” ที่จะนำมาใช้แทน “ไพรมารีโหวต” นั้น รองฯวิษณุ บอกว่ายังไม่ได้สรุปว่าจะใช้วิธีใดแต่จะไม่ใช้วิธีตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมือง และบอกว่า “เบื้องต้นพบว่าวิธีการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอเข้าสนช. ไม่ขัดต่อมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.ไปปรับให้เป็นไพรมารีโหวต เมื่อมีปัญหาจึงอาจต้องถอยกลับไปเป็นสิ่งที่ กรธ.เคยเสนอ และมีความเป็นไปได้สูง”

               ไม่น่าเชื่อว่าเพิ่งมีการพบว่าวิธีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ในแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” มือร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธาน “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

               ทั้งนี้ในบทบัญญัติมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเรื่องพรรคการเมือง มีข้อความตอนหนึ่งกำหนดไว้ว่า “เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง"

               “วิษณุ” อธิบายคลุมๆ เครือๆ ให้เข้าใจว่านี่คือวิธีไพรมารีโหวตรูปแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่า “ไม่ใช่ไพรมารีโหวต” โดยสิ้นเชิง

 

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

(อ่านต่อ...วิษณุ เผย ไพรมารีโหวตใหม่ ให้เวลา 30 วันหลังกกต.แบ่งเขต)

 

               หลักสำคัญของการไพรมารีโหวต คือ ต้องมีการโหวตจริงโดยสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกบทเฉพาะกาลเขียนผ่อนผันให้เป็นสมาชิกพรรคในจังหวัดได้แต่ตามวิธีการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงให้ “รับฟังความเห็น” ของสมาชิกเท่านั้น และไม่ได้กำหนดว่ารับฟังแล้วต้องทำตาม

 

จบแล้ว !! ไพรมารีโหวต

 

               “รูปแบบคณะกรรมการสรรหาไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ ควรพูดความจริงกับประชาชน เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คณะกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครไปรับฟังความเห็น เพราะบทบัญญัติแบบนี้ รธน.ปี 2550 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวตหรือไพรมารีโหวตฉบับย่อ ดังนั้นการจะทำอะไรควรให้ความจริงต่อประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้วก็พูดตรงๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้

               อภิสิทธิ์ แสดงอาการ “ติดใจ” ว่า “ผมแค่ไม่เข้าใจว่าจากเดิมผู้มีอำนาจในปัจจุบันเข้ามาแล้วบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น หลายครั้งแสดงความรังเกียจแนวทางแบบเดิมๆ แต่ขณะนี้พอจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย 100% แต่ก็เจตนาที่จะทำ ผมว่าหลายพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำ แต่ยังไม่ทันปฏิบัติก็มาเปลี่ยนแปลง เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมืองเพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขา ต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันทำไม่ได้ เพราะว่าผู้สมัคร ส.ส.ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง”

               ทั้งนี้มีข้อมูลด้านหนึ่งระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ผู้มีอำนาจ” ยอมยกเลิกไพรมารีโหวต เพราะความยุ่งยากของการทำไพรมารีโหวตในส่วนของส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะจะไม่สามารถ “บล็อกโหวต” ได้ ว่าจะให้ใครอยู่ลำดับไหน เนื่องจากจะต้องโหวตจากสมาชิกทั่วประเทศ ไม่นับความยุ่งยากในการต้องไปตั้งสาขาพรรคในทุกจังหวัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคใหม่

               ถึงวันนี้เรื่องการทำ “ไพรมารีโหวต” จบแล้ว !!

 

=================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์