เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง
บันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่การเลือกตั้งกำลังเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง สำรวจไฮไลท์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในวันสองวันนี้ จะมีการประกาศร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายลงราชกิจจานุเบกษา
คือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
สำหรับอีก 2 ฉบับที่มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย กกต.
ในตัวเนื้อหาของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่กำลังจะลงราชกิจจาฯ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะรู้กันหมดแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอไปอีก 90 วัน นั่นคือ การเริ่มนับ 150 วันไปสู่การเลือกตั้งก็ต้องรอไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม จึงจะเริ่มนับได้
แต่การประกาศกฎหมายทั้งสองฉบับลงราชกิจจานุเบกษาจะเป็นเหมือน “บันไดขั้นแรก” ของการก้าวไปสู่การเลือกตั้งอย่างจริงจัง
“บันไดขั้นที่สอง” คือ การคลายล็อกพรรคการเมือง
ปัจจุบันพรรคการเมืองถูกล็อกไว้ด้วย 3 คำสั่ง คือประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคประชุม หรือทำกิจกรรมทางการเมือง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ประเด็นสำคัญคือห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ออกมาแก้กฎหมายพรรคการเมือง ล็อกพรรคการเมืองเก่าไว้ว่าห้ามประชุมจนกว่าจะมีการยกเลิก 2 คำสั่งแรกแล้ว
การจะคลายล็อกให้พรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมาแก้ไขคำสั่งต่างๆ ข้างต้น
แม้พรรคการเมืองจะพยายามเรียกร้องให้ คสช. “ปลดล็อก” อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ต้องบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลย
เรื่องหลักๆ ที่ คสช.จะคลายล็อกให้พรรคการเมือง คือ ให้ประชุมพรรคการเมืองเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคได้ และคลายล็อกเรื่องระยะเวลาในการเดินตามกฎ เช่นเรื่องการหาทุนประเดิม 1 ล้านบาท การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน จากเดิมให้เริ่มต้นนับตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา (ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560) ก็ให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่คำสั่งฉบับใหม่ออกมา
การคลายล็อกทางการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่าจะตามมาหลังการคลายล็อก ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก การประกาศอนาคตทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
เมื่อวันก่อนนายกฯ บอกชัดเจนว่า หลังมีการคลายล็อกทางการเมืองแล้วจะบอก
“เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว และเมื่อมีคำสั่ง ม.44 คลายล็อกพรรคการเมืองจากนั้นขั้นตอนต่อไปคือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่จะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ในช่วงนั้นผมจะตัดสินใจว่าจำเป็นต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าจำเป็นแล้วจะเป็นได้อย่างไร ผมจะตัดสินใจอีกครั้งในสถานการณ์ช่วงนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนนำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูปและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา
คำถามใหญ่ คือ “บิ๊กตู่” จะก้าวสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวหรือไม่ ซึ่งหากดูจาก “ลีลา” ที่ผ่านมาของ “บิ๊กตู่” ส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาจะก้าวสู่การเมืองด้วยการอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ
แม้ ณ ตอนนี้จะมีการมองตรงกันว่า “บิ๊กตู่” คงอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่เอาเข้าจริงก็ต้องบอกว่า ช่วงนี้บิ๊กตู่ “ยังไม่จำเป็น” ที่จะต้องบอกให้ชัดเจนว่าเขาจะเลือกเส้นทางนี้
อย่างมากหัวหน้า คสช. คงแค่บอกว่า “เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนนำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูปและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หากจำเป็นก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ต่อ แต่จะด้วยกลไกไหนก็ไปว่ากันมา”
เรื่องที่สองเป็นความเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายของ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือ "การเลือกหัวหน้าพรรค”
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น “หัวหน้าพรรค” อาจไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาพรรคนี้ให้บทบาทหัวหน้าพรรคเพียงแค่ผู้ทำหน้าที่ทางธุรการเท่านั้น และครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน
แม้ตามกติกาใหม่กำหนดให้หัวหน้าพรรคต้องอยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง (หากหัวหน้าพรรครายนั้นลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ) เพื่อป้องกันไม่ให้เอา “คนอื่น” มาลงบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง เหมือนกรณีที่เคยเกิดกับพรรคเพื่อไทย ที่ใส่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง แทนที่จะเป็น “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตอนนั้น
แต่จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละพรรคเสนอ “บัญชีรายชื่อคนที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ” พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ซึ่ง 3 คนนี้จะเป็นใครก็ได้ ขอเพียงแค่เจ้าตัวยินยอมและให้มีชื่ออยู่ได้เพียงพรรคเดียว ชื่อคนที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทยจึงคงไม่ใช่คนสำคัญที่สุด
แตกต่างกับฝั่งประชาธิปัตย์ ที่คนเป็นหัวหน้าพรรคจะมีความสำคัญที่สุด คนที่เป็นหัวหน้าพรรคคือคนที่จะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง และจะเป็นเบอร์หนึ่งในบัญชีที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีความปั่นป่วนในกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะนอกจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันที่แสดงตัวชัดเจนว่าจะลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง เริ่มมีชื่อใหม่ๆ ที่ชวนให้เกิดความสงสัยถึง “ที่มา”
(อ่านต่อ...เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์)
(อ่านต่อ..."อลงกรณ์" ยันไม่ใช่นอมินี คสช.)
(อ่านต่อ..."มาร์ค" เล็งแก้ข้อบังคับพรรค เปิดคนนอกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค)
ล่าสุดเป็นคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง คือ “วัชระ เพชรทอง” ที่ออกมาแฉชัดๆ แบบไม่ต้องแปลว่า มีความพยายามที่จะส่ง “นอมินีของ คสช.” เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแทนอภิสิทธิ์ เพราะอภิสิทธิ์เป็นอุปสรรคสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์
คอการเมืองย่อมรู้ดีว่า เกมการกลับสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าสูตรไหน จำเป็นต้องมีพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนด้วย ขณะที่ “อภิสิทธิ์” แสดงท่าทีตรงกันข้าม
โดยเฉพาะล่าสุดที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดชัดเจนว่า คนที่จะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ควรจะมาจากฝั่งที่สามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนฯ ได้มากที่สุด แถมบอกด้วยว่า “หากนายกฯ ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วม”
ย้ำว่ารวมเสียง ส.ส.ได้มากที่สุด ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.
เมื่อเป็นอย่างนี้ เกมในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงจะมีความดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน รวมทั้งในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศได้หยั่งเสียงในการเลือกหัวหน้าพรรคด้วย
“บันไดขั้นที่สาม” คือ การประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม ปีหน้า ซึ่งจะออกมาหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม
ช่วงนี้จะเป็นไฮไลท์ที่สุด เพราะแต่ละพรรคจะต้องเปิดชื่อผู้ที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ออกมา
ที่ต้องจับตามากที่สุดก็ต้องเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ที่จำเป็นต้องตัดสินใจและแสดงตัวออกมาว่าจะเลือกทางเดินไหน จะไปอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองใดหรือไม่
จะเลือกหนทางที่กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งอย่างสง่างามที่สุดเท่าที่จะทำได้ตอนนี้ด้วยการอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค เพื่อเปิดหน้าให้ประชาชนใช้สิทธิเลือก (หรือไม่เลือก) หรือจะรอเป็น “นายกฯ ตาอยู่”
(อ่านต่อ...3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่")
ขณะเดียวกันแต่ละพรรคที่จะส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าประกวด ก็ต้องเปิดออกมาในช่วงนั้น แน่นอนไฮไลท์อยู่ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับเพื่อไทย ก็จะเปิดคนที่พรรคยกให้เป็น “ผู้นำ” เป็น “จุดขาย” ของพรรคอย่างแท้จริงออกมา
ขณะที่ประชาธิปัตย์ แม้ด้วยระบบพรรคที่เข้มแข็งที่คงจะใส่ชื่อหัวหน้าพรรคมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 แต่ก็ยังน่าสนใจว่า จะมีการเสนอชื่อคนที่สองและสามหรือไม่ ถ้ามี จะเป็น “ใคร”
จะมีชื่อ “ชวน หลีกภัย” ที่คาดกันว่าจะเป็น “นายกฯ ทางเลือก” ของพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีที่ไม่สามารถดัน “อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ ได้หรือไม่
อีกส่วนที่เกี่ยวพันอยู่ในช่วงนี้คือระยะเวลาไปสู่การเลือกตั้ง ตอนนี้มีการพูดถึงตัวเลข “70 วัน” จากที่รัฐธรรมนูญเขียนเปิดทางไว้ให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน
ด้านหนึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา
ถ้าพูดตามข้อเท็จจริงก็ต้องบอกว่า 70 วัน ไม่ถือเป็นระยะเวลาที่สั้นไป ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งไหนที่ใช้เวลาถึง 70 วัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ในกรณียุบสภา และหากสภาอยู่ครบวาระให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน
แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่อง 70 วัน แต่อยู่ที่การยังไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างอิสระและเท่าเทียมมากกว่า
ซึ่งหลังจากจะมีการคลายล็อกครั้งแรกเพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมได้หลังกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในสัปดาห์นี้แล้ว ก็จะต้องมีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองอีกครั้งในช่วงมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ย้ำว่าคงเป็นแค่การคลายล็อก คือ คลายอย่างมีเงื่อนไข มิใช่การปลดล็อกให้มีอิสระเต็มที่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยแสดงท่าทีไว้ชัดเจนแล้วว่า คงไม่ปล่อยให้มีการหาเสียงได้อย่างเสรีเหมือนเมื่อก่อน
(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่"ลั่นปลดบางล็อค-หวั่นหาเสียงปลุกระดมเผชิญหน้า)
อาจไม่ได้เห็นการตั้งเวทีปราศรัยหาเสียง รวมทั้งอาจจะเป็นการเลือกตั้งที่คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ยังคงอยู่
การไม่ทอดเวลาช่วงหาเสียงเลือกตั้งนานนัก รวมทั้งการไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างอิสรเสรีเหมือนเมื่อก่อน คงมีการหยิบยกเรื่อง “ความสงบเรียบร้อยของประเทศ” มาเป็นเหตุผล แต่ในอีกด้านก็ต้องบอกว่า เพื่อปิดช่องทางโจมตี คสช.
บรรยากาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งอาจจะเหมือนช่วงการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือช่วงการเลือกตั้ง ส.ว. คือ ให้ทำได้เท่าที่อนุญาต ให้หาเสียงได้ตามที่กำหนด
"การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอ บางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ” พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา
(อ่านต่อ...ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??)
ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยในสายตาของ คสช. ก็ก้าวไปสู่ “บันไดขั้นสุดท้าย” คือ การเลือกตั้ง ซึ่งเบื้องต้นปักหมุดไว้ที่ 4 ตัวเลือก คือ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน และ 5 พฤษภาคม
อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้นแล้ว !!
===================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
(12 ก.ย. - ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายแล้ว...คลิกอ่านต่อ)