คอลัมนิสต์

โศกนาฏกรรม'ตูบ'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้'ดุ'!?

โศกนาฏกรรม'ตูบ'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้'ดุ'!?

27 ก.ย. 2561

โศกนาฏกรรม'ตูบ'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้'ดุ'!? : รายงาน  โดย...   ทีมข่าวอาชญากรรม

 

          สัตว์มีเขี้ยวชนิดเชื่องที่เรียกว่า “หมา” หรือจะเรียกให้สุภาพว่า “สุนัข” ซึ่งแต่ละตัวหรือแต่ละสายพันธุ์ ต่างมีสัญชาตญาณของตนเอง นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลง จาก “หมาป่า” มาเป็น “หมาเลี้ยง” โดยได้มีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์หมาสืบทอดกันมามากกว่า 4,000 ชั่วอายุ ทำให้ลักษณะร่างกายของหมาหลายสายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงไปจากบรรพบุรุษของพวกมันอย่างมาก แต่หมาแต่ละสายพันธุ์ยังคงรักษาลักษณะพฤติกรรมของหมาป่าที่มันเคยเป็นไว้ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งหมาป่าและหมาเลี้ยงมีวิธีสื่อสารโดยการเห่า การใช้ภาษากาย และสัญชาตญาณในการรวมกลุ่ม และหมามีพฤติกรรมการสร้างอาณาเขตของมัน เช่น การฉี่รดตามที่ต่างๆ เพื่อบอกว่าตรงนี้เป็นเจ้าของ และการเดินเป็นวงกลมก่อนนอนเพื่อกระจายกลิ่นตัวไปรอบๆ เพื่อกำหนดอาณาเขตไม่ให้สัตว์ตัวอื่นเข้ามารบกวน

          จะว่าไปแล้วหมาเป็นสัตว์กินเนื้อ มีต้นทุนเป็น “สัตว์นักล่า” ฉะนั้นความ “ดุ” จากการเป็นนักล่า จึงแฝงอยู่ในสัญชาตญาณดิบของหมาทุกตัวไม่จำกัดสายพันธุ์และขนาด ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการเลี้ยงดูว่าจะเป็นตัวกระตุ้น หรือกดดันให้หมาเหล่านั้นระเบิดความร้ายกาจตามสัญชาตญาณออกมาเมื่อไร และอันตรายที่เกิดจากสัญชาตญาณของสัตว์มีเขี้ยวชนิดเชื่องที่ว่านี้ มักเกิดขึ้นกับเด็ก ดังเช่นโศกนาฏกรรม “เจ้าตูบ” รุมขย้ำเด็กเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.ชัยภูมิ

 

โศกนาฏกรรม\'ตูบ\'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้\'ดุ\'!?

 

          เย็นวันที่ 18 กันยายน ภายในซอยบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 194/5 หมู่ 2 ต.บ้านเขว้า อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ได้เกิดเรื่องสุดเศร้าขึ้นกับ “น้องตวงข้าว” เด็กหญิงวัยเพียง 4 ขวบ ซึ่งถูกหมา 3 ตัวรุมขย้ำจนเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา ขณะกำลังปั่นจักรยานอยู่ กลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจทั้งฝ่ายผู้ปกครองเด็กและเจ้าของหมาที่ก่อเหตุ แม้หลังเกิดเหตุเจ้าของจะออกมาขอโทษ พร้อมรับผิดชอบช่วยเหลือทุกอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ไม่สามารถเอาชีวิตของ “น้องตวงข้าว” กลับคืนมาได้ แต่โศกนาฏกรรมครั้งนี้สามารถเป็น “อุทาหรณ์” ให้แก่คนเลี้ยงหมาว่า เลี้ยงอย่างไรไม่ให้ดุ !? ​

          ขึ้นชื่อว่าหมาไม่ว่าสายพันธุ์ไหนก็ “ดุ” ได้ ถ้าเลี้ยงผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นหมาไทย หรือหมาเทศ พันธุ์แท้ หรือพันทาง ลูกผสม หูตั้ง หรือหูตูบ จะเป็นพี่ใหญ่บึ๊กเบิ้ม หรือน้องหนูตัวจิ๋ว หน้าซื่อ(บื้อ)ขี้เล่น ก็มีสิทธิ์เป็นหมาดุได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพการเลี้ยงดูของคน 

          “หมอจุ๋ม” สพญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกบ้านสัตว์เลี้ยง และสัตวแพทย์ฝ่ายกฎหมายประจำ “WATCHDOG THAILAND” บอกว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัว ลักษณะขน หรือแม้แต่นิสัย สุนัขบางพันธุ์มีความเป็นมิตร เนื่องจากถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อให้เป็นเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่สุนัขบางพันธุ์กลับมีนิสัยดุร้าย เนื่องจากถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อใช้ในการต่อสู้ ซึ่งเป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมในอดีตของคนบางกลุ่ม ส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ นิสัยเหล่านี้ยังคงถ่ายทอดสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผู้ที่จะนำสุนัขมาเลี้ยง จำเป็นจะต้องศึกษาลักษณะนิสัยของสุนัขแต่ละพันธุ์ให้ดีก่อน

 

โศกนาฏกรรม\'ตูบ\'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้\'ดุ\'!?

 

 

          หมอจุ๋ม อธิบายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนำสุนัขบางพันธุ์เข้ามาในราชอาณาจักร เช่น สุนัขพันธุ์ พิตบูลเทอร์เรีย สุนัขพันธุ์ อเมริกัน สแตฟฟอร์ดไชร์เทอร์เรีย สุนัขพันธุ์ ฟิล่า บราซิลเลียโร โดยสุนัขพันธุ์ที่ดุร้ายจะมีกฎหมายควบคุมสุนัขพันธุ์ควบคุมพิเศษอย่างเคร่งครัด โดยต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่มีรั้วกั้นมิดชิด ต้องควบคุมไม่ให้ออกนอกสถานที่โดยไม่มีผู้ควบคุม หากจะนำออกนอกสถานที่เลี้ยงจะต้องมีเครื่องควบคุมที่แข็งแรง ต้องสวมใส่อุปกรณ์ครอบปากตลอดเวลา ต้องมีสายจูงโดยที่ผู้ควบคุมจะต้องจูงห่างตัวได้ไม่เกิน 50 เซนติเมตร สำหรับสุนัขควบคุมพิเศษของบ้านเราจะมีหลักๆ 5 พันธุ์ ได้แก่ 1.ฟิล่า บราซิลเลียโร 2.พิตบูลเทอร์เรีย 3. ร็อตไวเลอร์ 4.สแตฟฟอร์ดไชร์ บูล เทอร์เรียร์ และ 5.บูลเทอร์เรีย แต่ไม่จำเป็นเลยที่สุนัขดุ จะต้องเป็นสุนัขตัวใหญ่หน้าโหดเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมดุร้าย ก้าวร้าว ของสุนัข มักจะเกิดมาจากลักษณะการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยง ที่มีความเข้าใจผิดๆ ในการเลี้ยง ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวน่าเศร้าที่ปรากฏขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสุนัขที่ก่อเหตุเป็นพันธุ์ไทย ตัวไม่ใหญ่ แถมหนึ่งในนั้นมีพันธุ์ “พุดเดิ้ล” ผสมโรงด้วย ทั้งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุร้าย ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

          หมอจุ๋ม บอกอีกว่า การเลี้ยงสัตว์บ้านเรายังห่างไกลจากต่างประเทศ ไม่ได้เข้าใจ ไม่รู้กฎหมาย หลายคนยังขาดความรับผิดชอบ เลี้ยงโดยขาดการผูกพัน ดูแลเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรม และฝึกฝน เพราะสัตว์ไม่มีความยับยั้งชั่งใจเหมือนมนุษย์ ไม่รู้ว่าการกระทำแบบนี้ผิด เพราะสิ่งที่ทำของสุนัขล้วนเกิดจากสัญชาตญาณ คนที่เลี้ยงต้องสังเกตพฤติกรรม หากเริ่มมีความก้าวร้าวดุร้าย ต้องรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือพบสัตวแพทย์ได้ทุกแห่ง เพื่อขอคำแนะนำการเลี้ยงดูและปรับพฤติกรรม เพราะสุนัขสามารถฝึกฝนให้เชื่อฟังคำสั่งได้ มีโรงเรียนสอน ดังเช่น สุนัขตำรวจ ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี สามารถทำตามคำสั่งได้หมด 

 

โศกนาฏกรรม\'ตูบ\'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้\'ดุ\'!?

 

          “เมื่อสุนัขที่เลี้ยงทำผิด อาจกัดรองเท้า กัดเป็ด กัดไก่ หรือไล่เห่า ไล่งับคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของ พฤติกรรมพวกนี้อาจติดมาตั้งแต่เด็ก ที่คนเลี้ยงหรือคนอื่นชอบแหย่ ชอบแกล้ง เล่นแรงๆ ให้กัด ให้งับสิ่งของ มองเป็นเรื่องสนุก แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการปลูกฝังหรือกระตุ้นพฤติกรรมดุร้ายของสัตว์เลี้ยงโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการทำโทษด้วยการตี ไม่ได้แก้อะไร การกักขังล่ามโซ่ยิ่งไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้น เพิ่มแรงกดดัน เมื่อไหร่ที่หลุดออกมาได้ ก็จะระบายความรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีทางสู้ และเป็นปกติของสุนัขที่เป็นสัตว์สังคม เมื่อไหร่ที่รวมฝูงก็จะช่วยกันรุมกัดตามสัญชาตญาณ อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวเศร้าสลดกับหนูน้อยวัยเพียง 4 ขวบ” สัตวแพทย์หญิง กล่าวย้ำ

 

โศกนาฏกรรม\'ตูบ\'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้\'ดุ\'!?

 

          สอดคล้องกับเนื้อหาในบทความทางเว็บไซต์ “dogilike.com” ที่ระบุว่าหากคนเลี้ยงเลือกที่จะขัง หรือกักบริเวณสุนัขเอาไว้เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสี่ยงต่อการรับผิดชอบต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้ว พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัขแบบนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลให้สุนัขมีนิสัยดุและก้าวร้าว เนื่องจาก สุนัขนั้นเป็นสัตว์สังคม การที่สุนัขไม่ได้พบปะผู้คน หรือสุนัขตัวอื่นๆ บวกกับการที่ถูกกักขัง หรือล่ามไว้ตลอดเวลา จะทำให้สุนัขเกิดความระแวงต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่เต็มไปด้วยความกดดัน ทำให้สุนัขเกิดความเครียด เมื่อได้รับอิสระสุนัขอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวและดุร้ายได้ 

 

โศกนาฏกรรม\'ตูบ\'ขย้ำเด็ก...เลี้ยงยังไงไม่ให้\'ดุ\'!?

 

          ถ้าการเลี้ยงสุนัขโดยไม่ให้เขารู้จักเข้าสังคม ยังทำให้สุนัขขาดการเรียนรู้และการใช้สัญชาตญาณต่างๆ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันสุนัขตัวอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัว (หรือบริเวณใกล้บ้าน) สุนัขอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู ฉะนั้นด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเข้าสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสุนัข ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม หรือในกรณีที่ผู้เลี้ยงสุนัขสายพันธุ์เล็ก ที่ชอบเลี้ยงสุนัขของตัวเองเหมือนเลี้ยงเด็กตัวเล็กๆ ชอบโอ๋ ชอบตามใจ เวลาสุนัขเห่า ส่งเสียงดังโวยวาย หรือมีท่าทีที่จะทำร้ายคนแปลกหน้า ก็มักจะไม่ดุหรือห้าม เพราะคิดว่าเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก คงไม่สามารถทำอันตรายต่อใครได้ ซึ่งการปล่อยให้สุนัขมีนิสัยแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ดุ ไม่เตือน ไม่หาวิธีควบคุม จะทำให้สุนัขเคยตัว คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง ในระยะยาวก็จะส่งผลให้เขากลายเป็นสุนัขตัวเล็กๆ ที่มีนิสัยความดุร้ายได้เช่นกัน

          เจ้าตูบจะดุหรือไม่ส่วนใหญ่อยู่ที่พฤติกรรมคนเลี้ยง ต่อให้ขึ้นชื่อว่าดุแค่ไหน ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมให้เป็นมิตรต่อคนได้ แต่ถ้าเลี้ยงผิดวิธี “หมาพุดเดิ้ล” ก็ยังอันตราย..!!