"ดนตรีสายโหด" กับการเมืองไทย
"ดนตรีสายโหด" กับการเมืองไทย : คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง
ในที่สุด ผู้มีอำนาจ ก็แถลงข่าวว่า เพลง “ประเทศกูมี” แชร์ได้ ฟังได้ไม่ผิด หลังยอดวิวทะลุฟ้า
จะว่าไปแล้ว แนวคิดที่กลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship (RAD) คิดขึ้นมานั้น มันคือภาพของสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถาม ด้วยความคลางแคลงใจปนผิดหวังไปพร้อมๆ กัน
การตั้งใจปล่อยเพลงประเทศกูมี ในวันที่ 14 ตุลา สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจ หลงไปเล่นเกมแรงจึงเรียกยอดวิวให้ศิลปินกลุ่มนี้ จากหลักแสนเป็นหลักสิบล้านยี่สิบล้านชั่วข้ามคืน
อันที่จริง เคยมีกิจกรรมทางดนตรีต่อต้านเผด็จการทหารมาแล้ว โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อแฟนเพจ “จะ 4 ปีแล้วนะไอ้..” พวกเขารวมตัวกันจัดงานดนตรีพังก์ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เนื่องในวาระที่ คสช.ทำการรัฐประหารครบรอบ 4 ปี
จะว่าไปแล้ว กลุ่มที่จัดดนตรีพังก์ตอนนั้น ก็ต้องการให้เป็นอีเวนท์หนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้อง คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งองค์กรนำชื่อ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” แต่แปลกตรงที่คนจัดงานเลือกใช้ดนตรีพังก์
แนวเพลงพังก์ เกิดขึ้นในช่วงยุค 1970 จากชนชั้นกรรมกร ผู้ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของสังคม การเรียกร้องโดยการชูป้ายหรือตะโกน ดนตรีแนวพังก์จึงเต็มไปด้วยความก้าวร้าวและแข็งกระด้าง
จากการรวมตัวของชาวพังก์ แถวบาร์เล็กๆ ย่านรางน้ำ มาสู่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จึงถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคง
สำหรับวงดนตรีพังก์ ที่มาแสดงในวันนั้นประกอบด้วยวง Killing Fields, Blood Soaked Street of Social Decay และวงอนาธิปไตย
จริงๆ แล้ว ก็มีคนมาร่วมชมวงใต้ดินเหล่านี้ ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะแนวเพลงจะออกเอะอะโวยวาย เสียงดัง และบางวงเล่นเพลงฝรั่งล้วนๆ
แต่การโชว์ของ Blood Soaked Street of Social Decay เข้าตาตำรวจ ทหารและสันติบาล ที่มายืนฟังเสียเหลือเกิน เพราะเนื้อเพลงง่ายๆ ดิบๆ ทำเอาร้อนระอุไปทั้งอนุสรณ์สถานฯ
วงปิดท้ายคือ วงอนาธิปไตย ที่มาพร้อมหน้ากากปิดบังใบหน้า ช่วงท้ายมีการจุดไฟเผาป้ายไวนิล ซึ่งเป็นภาพผู้นำรัฐบาล และมีการกระทืบใบหน้าเล่นระบายอารมณ์กันเต็มที่
จบงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัว Blood Soaked Street of Social Decay ไปยัง สน.ชนะสงคราม เพื่อทำประวัติทุกคนในวงพังก์ดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้น มีนักร้องพังก์อย่าง “เกื้อ เพียวพังก์” รวมอยู่ด้วย
หลังจากวันนั้น “เกื้อ เพียวพังก์” ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “...กีตาร์และเสียงสับกลอง มันทำให้พวกท่านต้องเจ็บช้ำใช่ไหม ความคิดทางดนตรีก่อให้เกิดการจลาจลได้ด้วยเหรอ ผมอยากรู้มากเลย ท่านใช้อะไรวัด ตลับเมตรหรือไม้บรรทัด..”
ผ่านมาถึงวันที่เพลง “ประเทศกูมี” โด่งดังลั่นประเทศ กลุ่มเพจ “จะ 4 ปี แล้วนะไอ้..” ได้ประกาศการจัดฟรีคอนเสิร์ต “BNK 44” ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
“การจัดงานครั้งนี้ แน่นอนว่า เราได้ดำเนินการขออนุญาตทั้งทางมหาวิทยาลัย และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม โดยที่เราได้ให้ฝ่ายกฎหมายของเรา ทำเอกสารชี้แจงตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งผลตอบรับเป็นที่น่ายินดี”
คนในแวดวงดนตรี ตั้งข้อสังเกตการจัดดนตรีพังก์ เป็นอีเวนท์ที่น่าสนใจ เพราะไม่ค่อยได้เห็นดนตรีสายโหด มีเนื้อหาเป็นเรื่องการเมือง แต่การด่าทอ คำหยาบ ก็เป็นจุดอ่อนของวงดนตรีแนวนี้
เลยไม่แปลกใจว่า ทำไมแร็พการเมืองอย่าง “ประเทศกูมี” จึงมีผู้ติดตามเข้าชมผ่านยูทูบมากมายปานนั้น
น่าติดตาม 3 พฤศจิกายนนี้ จะมีคนมาร่วมกิจกรรมดนตรีพังก์มากกว่าครั้งก่อนหรือไม่ ? กระแสเพลงประเทศกูมี จะกระตุ้นผู้คนให้มาชุมนุมกันจนฝ่ายความมั่นคงตกอกตกใจหรือไม่ ?
"ดนตรีพังก์และเด็กพังก์ สามารถสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองด้วยมือของเราเอง มาแสดงพลังร่วมกันนะสหาย” นี่คือคำเชิญชวนของพวกเขา