คอลัมนิสต์

"กูมี" หลบไป..รู้จักมั้ย "บักจีเหลิน"

"กูมี" หลบไป..รู้จักมั้ย "บักจีเหลิน"

06 พ.ย. 2561

"กูมี" หลบไป..รู้จักมั้ย "บักจีเหลิน" : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา..บางปะกง 


 

          สงครามเพลงแร็พ ระหว่าง “ประเทศกูมี” กับ “Thailand 4.0” สู้กันสนุกในโลกออนไลน์ ต่างฝ่ายต่างเกทับบลัฟแหลกเรื่องยอดวิว ยอดไลค์ กดแชร์ 

 

          วันก่อน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปพูดในงาน FutureFest เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมยุค 4.0 ได้ยกตัวอย่างเพลง “รักควายควาย” ของนักร้องชื่อประหลาดๆ มิน เฉาก๊วย ที่มียอดวิวในยูทูบ 200 ล้านวิวแล้ว

 

 

          “เสี่ยธนาธร” เลี่ยงที่จะพูดถึงเพลงประเทศกูมี เพราะหวั่นประเดี๋ยวจะถูกจับโยงเป็นสปอนเซอร์ทำเอ็มวีเพลงดังเพลงนี้


          อันที่จริง กระแสเพลงแบบรักควายควายนั้น ได้ยึดพื้นที่ “แนวรบวัฒนธรรมมหาชน" มานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่เซเลบการเมืองเพิ่งรู้จัก และ “เทคโนแครตการเมือง” ที่ปรึกษาของเหล่าเสนาบดี ก็ไม่เคยได้ฟังเพลงเหล่านี้

 

\"กูมี\" หลบไป..รู้จักมั้ย \"บักจีเหลิน\"

 


          กองเชียร์แร็พหนุ่ม Liberate P รู้สึกปลื้มปริ่มกับยอดวิว 20-30 ล้าน แต่พลเมืองรากหญ้ากลับรู้สึกเฉยๆ เพราะเพลงของพวกเขา มียอดวิวในยูทูบหลักร้อยล้านวิวขึ้นไป 


          ยกตัวอย่างเพลง “บักจีเหลิน” ตอนนี้ทะลุ 90 ล้านวิวไปแล้ว หลายคนอาจถามไถ่กันเซ็งแซ่ว่า เพลงอะไรวะ ? 


          เพลงบักจีเหลิน ร้องโดย “จีเหลิน สายหมอบ” นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนไผ่งามพิทยาคม อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ


          ปรากฏการณ์ "บักจีเหลิน" ก็คล้ายกับเพลง "ห่อหมกฮวกไปฝากป้า“ ผลงานของนักเรียน ม.ปลาย อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ชื่อ "เต๊ะ ตระกูลตอ" วัยรุ่นไทบ้าน มาดกวนโอ๊ย ตอนนี้ยอดวิวเพลงนี้ ผ่าน 150 ล้านวิวไปแล้ว


          มิน เฉาก๊วย, จีเหลิน สายหมอบ, เต๊ะ ตระกูลตอ และนักร้องหน้าใหม่อีกมากมาย แจ้งเกิดบนถนนสายดิจิทัลคอนเทนต์ จะเรียกพวกเขาว่า ศิลปินอินดี้หรืออะไรก็แล้วแต่ บอกได้คำเดียวว่า คนตัวเล็กๆ มีทางเลือกมากมายในเส้นทางดนตรี พ.ศ.นี้ 


          ยุคสมัยมนต์รักเฟซบุ๊ก หรือสงครามเพลงยูทูบ ใครก็เป็นนักร้องได้ ส่งผลให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ บางค่ายพลิกไปขายครีมเป็นหลัก ขายเพลงเป็นรอง บางค่ายยอมลดตัวลงมาร่วมงานกับค่ายเล็ก ทิ้งอัตตาขาใหญ่ไว้ข้างหลัง

 

 

\"กูมี\" หลบไป..รู้จักมั้ย \"บักจีเหลิน\"

 



          ค่ายเพลงเล็กๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และสร้างงานเพลง 200-300 ล้านวิว ได้ภายในไม่กี่เดือน หมดยุคผูกขาดคลื่นวิทยุ ปิดฉากวงจรอุบาทว์ “เพลงละพัน วันละเพลง”


          การเปิดกว้างทางเทคโนโลยีสื่อสาร ส่งผลให้เกิดบรรยากาศ “ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก ร้อยสำนักประชันแข่งใจ”


          แร็พใต้ดิน Liberate The People ก็เห็นช่องทางดิจิทัล จึงเดินแนวทาง “ออนไลน์ล้อมเมือง” ตั้งใจทำสงครามเพลงใต้ดิน มาตั้งแต่ปี 2558 เมื่อโพสต์เพลง OC(T)YGEN ลงยูทูบ เนื้อหาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19


          โปรเจกต์เพลงต้านเผด็จทหารก็ตามมา โดยมีเป้าหมายของวิพากษ์ระบบเผด็จการโดยตรง โจทย์ของพวกเขา คือทำอย่างไรให้คนชั้นกลางที่ยังเกลียดและกลัวนักการเมืองเปิดอกมาคุยกันได้ ทำอย่างไรให้คนที่เห็นความเลวร้ายของทหาร แต่ไม่กล้าแสดงออก

 

          อย่างไรก็ตาม เพลงประเทศกูมี ก็ยังไม่ใช่ลักษณะดนตรีวัฒนธรรมมหาชน หากแต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ปีกหนึ่ง และคนที่เกลียดชัง คสช.


          ทำนองเดียวกัน เพลง “Thailand 4.0” ก็ไม่ต่างจากวรรณกรรมโปสเตอร์ หรือวัฒนธรรมชนชั้นปกครอง ที่พยายามยัดเยียดให้คนเสพ

 

          คนคิดทำงานการเมือง อยากเข้าถึงวัฒนธรรมมหาชน...ควรเลิกหมกมุ่นกับประเทศกูมี แล้วหันไปฟังเพลงบักจีเหลินดูบ้าง จะได้รู้จักความเป็นจริงของประเทศนี้ ไม่ใช่รอฟังแต่ลูกน้องสอพลอปอปั้น