"พรรคสามัญชน"..ขออาสาเป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์
"พรรคสามัญชน"..ขออาสาเป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ : คมชัดลึก...ลุยเลือกตั้ง
"นี่คืออรุณรุ่งแห่งยุคสมัยของสามัญชน
ท่ามกลางความมืดมนหม่นเศร้า
เราจะเดินคลำทางไปด้วยกัน
ให้แสงไฟฝันนั้นนำทาง"
เสนอตัวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยกลุ่มที่กำลังรู้สึกเบื่อหน่ายเอือมระอาการเมืองหรือพรรคการเมืองแบบเดิมๆ...ทางเลือกที่ว่านี้ มาจากกลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่คลุกคลีอยู่กับชุมชนและผู้บริโภคมายาวนานหลายสิบปี
“พรรคสามัญชน” ถูกให้คำจำกัดความโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งว่า หมายถึงความเป็นคนไทยธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์จากอำนาจสะสมใดๆ เหมือนบางพรรคที่ถูกมองว่า มีกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง พวกเขาเป็นใครกันบ้างมาดูกัน...
ความเป็นมาของกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค พวกเขาส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทำงานในพื้นที่ภาคส่วนต่างๆ ของไทย จัดอยู่ในระดับ “จิตอาสารุ่นเดอะ” หรือที่รุ่นทำกิจกรรมเพื่อเด็กๆ หรือชาวบ้านมาตั้งแต่สมัย 20-30 ปีที่แล้ว หลายคนทำมาตั้งแต่ก่อนคำว่า “เอ็นจีโอ” จะฮิตแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน
อุดมการณ์หรือแนวคิดหลักของพรรคมีแค่ 3 ข้อคือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม
หลังจากทีมผู้ก่อตั้งไปซุ่มแอบจีบนักกิจกรรมที่มีใจเดียวกันมาร่วมทำงานการเมือง ช่วงแรกอาจติดขัดเล็กน้อย เพราะหลายคนไม่มั่นใจว่าพรรคสามัญชนเป็นตัวแทนของกลุ่มเสื้อแดง หรือกลุ่มเสื้อเหลือง หรือเปล่า หลายคนรู้สึกเอือมระอาไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นตัวแทนของกีฬาสีทางการเมือง หรือไม่อยากยุ่งการเมืองเอาเสียเลย อยากทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า
แต่หลังจากค่อยๆ ระดมความคิด และทำความเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายในการตั้งพรรคสามัญชนว่า เป็นการเรียกร้องสิทธิเพื่อชุมชนหรือชาวบ้านหรือผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อาจถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว จากที่ไปยืนถือป้ายประท้วงเรียกร้องหน้ารัฐสภาหรือหน้าทำเนียบรัฐบาล ควรขยับการเคลื่อนไหวด้วยการขออำนาจจากประชาชนคนไทยไปเป็นตัวแทนของพวกเขาในสภาผู้แทนราษฎร ดั่งคำประกาศว่า
“เราคือเมล็ดพันธุ์ที่เคยถูกเหยียบย่ำจมดิน บัดนี้เราแตกรากแทงยอดขึ้นสู่พื้น พร้อมจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่ยึดโยงกับผืนดิน”
“กิติชัย งามชัยพิสิฐ” หรือ “พี่อ้วนวายที” ของน้องๆ ในกลุ่มนักกิจกรรมเด็กและเยาวชน (Youth Training Center) ในวันนี้ต้องมารับหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค พี่อ้วนวายทีเล่าว่า ช่วงแรกค่อนข้างลำบากในการหาเงิน 1 ล้านบาทและสมาชิกก่อตั้งพรรค 500 คน
“ชาวบ้านหรือคนที่ชอบทำกิจกรรมกับร่วมกับชาวบ้านจริงๆ ส่วนใหญ่รังเกียจคำว่านักการเมือง พวกเขาขีดเส้นไว้เลยว่าถ้าใครเป็นเอ็นจีโอแท้ๆ ต้องไม่ยุ่งกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็น อบต. ส.ส. กรรมการหน่วยงานต่างๆ เราก็พยายามไปทำความเข้าใจว่า ถึงเวลาแล้วที่การเมืองภาคประชาชนในสังคมไทยต้องเกิดขึ้น ต้องมีพลังในการไปร่วมสร้างกติกา ที่ผ่านมาเราเป็นเหมือนคนที่คอยทำตามกติกาที่คนอื่นกำหนดขึ้นมา เราต้องเข้าไปในสภาโดยไม่ต้องกังวลว่านายทุนหรือระบบจะทำให้อุดมการณ์ของเราเปลี่ยนแปลงไป”
กิตติชัย ยอมรับว่าช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หลังร่วมทำกิจกรรม “คาราวานสามัญชน” เพื่อรับฟังความเห็นของชาวบ้านเพื่อนำมาจัดทำเป็นนโยบายของพรรคจากล่างสู่บน ทำให้ได้เห็นปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำ เขื่อน เหมืองแร่ พลังงาน การแต่งงานของเพศเดียวกัน ฯลฯ และปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างยั่งยืนได้จริง อาจต้องร่วมมือกันทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ของตัวเอง แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทั้งหมดของประเทศไทย
“น่าจะเรียกว่าเรามาทะเลาะกันให้เสร็จๆ ไปเลยดีกว่า ขัดแย้งกันมานานแล้ว มาลองช่วยกันตั้งเป้าลงสนามใหญ่ มาเรียนรู้ว่านักการเมืองทำงานอย่างไร เราอาจไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่คนเก่ง คนดี แต่เรายืนในหลักการของสิทธิมนุษยชน และหลักการให้ทุกภาคส่วนเท่าเทียมเป็นธรรม เช่น ชาวบ้านพูดถึงปัญหานี้ ชาวบ้านก็ต้องคิดเองว่าจะมีนโยบายอะไรไปแก้ได้ ถ้านโยบายที่เสนอมาแก้ไม่ได้จริง หรือผิดถูกก็เรียนรู้เติบโตไปด้วยกัน เจ็บปวดไปด้วยกัน เราไม่ต้องการแค่ของแจกฟรี เงินแจกฟรี กองทุนหมู่บ้านฟรี รถไฟฟรีจากพรรคการเมืองอื่นๆ แล้ว เราต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจที่จะแจกของเหล่านั้นมากกว่า” พี่อ้วนพูดด้วยสีหน้าอมยิ้ม
ปัญหาที่พรรคสามัญชนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ความเคลือบแคลงสงสัยว่าพรรคสามัญชนอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มเครือข่ายเสื้อแดงหรือเปล่า ???...
จากการพูดคุยกับตัวแทนผู้ก่อตั้งพรรคหลายคน ทำให้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง หากมีอุดมการณ์ร่วมกันในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร พรรคก็ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้ไปห้ามเขามาร่วม แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้ที่เจอคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถของพรรค กำลังถูกดึงตัวไปช่วยพรรคการเมืองเสื้อแดง และพรรคการเมืองเสื้อเหลือง หรือพรรคอื่นๆ พี่น้องหลายคนจากไปร่วมกับพรรคอื่นด้วยความรู้สึกเสียดาย แต่ก็กลัวว่าพรรคสามัญชนจะไม่สามารถลงสนามแข่งขันจนมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้หวั่นไหว เพราะรู้ดีว่าจุดมุ่งหมายของพรรคคือต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน จะถูกใครครหาว่าเป็น ร่างทรงของเสื้อสีอะไรก็ตาม แต่ความจริงแล้วพวกเขาก็คือสามัญชนคนธรรมดา ที่อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
กับคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยต้องไปลงคะแนนเสียงเลือกพรรคสามัญชน ?
น้องเดียร์ หรือ “ลลิตา เพ็ชรพวง” รองเลขาธิการพรรคอายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 23 ปี กล่าวว่า เพราะพรรคนี้ขายนโยบายว่า จะทำให้พวกเรากำหนดอนาคตตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน เพศใด อาชีพอะไร อยู่พื้นที่ใด
“เหมือนเขาตอบโจทย์ที่เราต้องการได้ว่า ทุกคนควรได้ทุกอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ในมหาวิทยาลัยทำไมนักศึกษาที่เรียนด้านสังคมศาสตร์ไม่มีเงินทุนการศึกษาให้เหมือนคนที่เรียนในคณะวิศวะฯ หรือปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม เราเห็นความไม่เท่าเทียมกันมีอยู่ทุกที่ และที่สำคัญคือ ไม่ค่อยชอบที่นักการเมืองหรือรัฐบาลชอบมาเรียกร้องบอกว่า เด็ก วัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่คืออนาคตของชาติ เป็นผู้กำหนดชะตาประเทศไทยในวันหน้า อยากบอกว่า พวกคุณทุกคนในวันนี้ไม่ว่าอายุเท่าไร ก็คือคนที่กำหนดอนาคตของประเทศไทยในวันหน้าต่างหาก วันนี้ทำอย่างไรวันหน้าอนาคตประเทศก็เป็นแบบนั้น อย่าโยนภาระให้คนรุ่นใหม่รับผิดชอบฝ่ายเดียวนะคะ”
น้องเดียร์ยอมรับว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ชอบการเมือง และไม่ค่อยชินกับการเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนตัวเองรู้สึกชอบพรรคสามัญชน เพราะไม่มีการวางอำนาจ มาแข่งบารมีว่าใครเป็นผู้อาวุโสมากกว่ากัน ส่วนใหญ่มาประชุมกันแล้วให้ทุกคนเสนอว่าอยากให้พรรคทำอย่างไร รับฟังซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะหาข้อสรุปที่เป็นมติร่วมกัน
ขณะที่ “ชุมาพร แต่งเกลี้ยง” รองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่ง เล่าถึงจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของตัวเองในการเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคสามัญชน ก็เพื่อต้องการผลักดันประเด็นที่สนใจ คือ กฎหมายรับรองให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้โดยมีสิทธิทุกอย่างเหมือนที่ชายหญิงแต่งงานกัน
คนไทยมีกลุ่มความหลากหลายทางเพศ พวกเขาไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกมองว่าเป็นประชาชนพลเมืองชั้น 2 และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้มีแค่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ในต่างจังหวัดก็มีกลุ่มคนที่เรียกว่า กะเทยภูธร เกย์บ้านนอก พวกเขาถูกกดทับจากคนอื่นๆ ในชุมชน
“นี่คือความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคนไทยที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงแต่งงานกันได้ พวกเขาก็ต้องแต่งงานกันได้เหมือนกันใช่ไหม เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน ทำไมต้องมีกฎหมายห้ามด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่องการใช้คำนำหน้าชื่อ นางสาว นาย นาง ก็ควรยกเลิก ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนเลือกได้ว่า จะใส่คำนำหน้าชื่อตัวเองเป็นอะไร หรือจะไม่ใส่ก็ได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”
เช่นเดียวกับ "จินตนา ศรีนุเดช" เหรัญญิกพรรค สาวตัวแทนผู้บริโภคจากกาฬสินธุ์ เคยเป็นแกนนำชาวบ้านเรียกร้องต่อสู้ความไม่เป็นธรรมจากบริษัทเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ป่าดงมูล ซึ่งการขุดเจาะสำรวจและทดลองเผาก๊าซทำให้แปลงพืชไร่ของชาวบ้านได้รับความเสียหาย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
“เราเป็นชาวบ้านธรรมดา ในวันนั้นก็เข้าร่วมเรียกร้องจนสำเร็จ โครงการถูกยกเลิกไป ทำให้เห็นถึงพลังการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยรับรู้กลไกการมีส่วนร่วมเลย อบต. เทศบาล อยู่ภายใต้อำนาจของมหาดไทย ทุกวันนี้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้เพราะผู้บริโภคไม่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบ ตอนนี้เริ่มเรียนรู้ว่าถ้าอยากแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย ก็ต้องขอให้ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนพวกเขาในสภาฯ”
จินตนาเผยว่า วินาทีนี้พรรคสามัญชนสามารถรวบรวมสมาชิกก่อตั้งพรรคได้ 500 คน พร้อมด้วยทุนประเดิม 1 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 16 พฤศจิกายน จะไปยื่นเอกสารตั้งพรรคที่ กกต.
พรรคสามัญชนยืนยันตัวตนของพวกเขาว่า สมาชิกพรรคนี้ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนดัง คำว่า “สามัญชน” เป็นแนวคิดในการทำหน้าที่แทนมวลชนคนธรรมดา ที่อยากมีใครสักคนไปเคลื่อนไหวเป็นตัวแทนของพวกเขาในสภาผู้แทนราษฎร
“สามัญชนคือคนเท่ากัน อะไรที่ยังไม่เท่ากัน สามัญชนกำลังทำหน้าที่นั้น”
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว คนธรรมดาที่ชื่อ “จำลอง ศรีเมือง” ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” สามารถกวาดคะแนนเสียงคนกรุงเทพฯ ถล่มทลายชนะพรรคการเมืองยักษ์ใหญ่ อย่างสะใจกองเชียร์ เป็นกรณีตัวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย...นั่นเพราะคำพูดของยักษ์ใหญ่คู่แข่งขันที่ดูแคลน “ความธรรมดาสามัญ” เป็นสินค้าแบกะดิน
ชั่วโมงนี้ “พรรคสามัญชน” ปรากฏโฉมเพื่อแสดงจุดยืน ประสบการณ์และความสามารถเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เหมือนที่ขันอาสาเข้ามาเป็น...แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ยุคใหม่
กลุ่มจัดตั้งพรรคสามัญชนคือใคร ?
คือ เกษตรกร นักศึกษา ผู้ประกอบการ นักข่าว นักดนตรี ครู กรรมกรผู้ใช้แรงงาน นักการศึกษา นักพัฒนา อาจารย์ เจ้าของกิจการ แรงงานนอกระบบ ที่มารวมตัวกันเพราะอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศสำหรับทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พรรคสามัญชนคืออะไร ?
คือสะพานเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวของพี่น้องบนท้องถนน ในหมู่บ้าน ในที่ประชุม ในวงสนทนา ให้มีช่องทางเข้าสู่ระบบการเมืองที่เป็นทางการ เป็นพื้นที่ในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมค้นหาหนทางที่จะนำพาประเทศไทยให้ดีขึ้น
หลักการพรรคสามัญชน
เป้าหมายของพรรคสามัญชนคือ “ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง”