คอลัมนิสต์

5G กับประเด็นด้านสังคม

5G กับประเด็นด้านสังคม

26 พ.ย. 2561

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ


 

          ทั่วโลกกำลังคึกคักเตรียมรับการเข้ามาของยุค 5G อย่างเต็มรูปแบบ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าผู้คนทั่วโลกมากกวา 5 พันล้านคนจะสามารถติดต่อสื่อสารแบบเสมือนจริงด้วยการมองเห็นแบบสามมิติ ด้วยความเร็วสูงแบบกิกะบิตต่อวินาที เทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายในระบบ 5G จะเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสื่อ ธุรกิจการค้า การเงินการธนาคาร ยานยนต์และการขนส่ง การแพทย์การสาธารณสุข และแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

          ลองคิดเล่นๆ ว่าจะดีแค่ไหนถ้าตู้ขายสินค้าแบบหยอดเหรียญสามารถพูดคุยกับเราได้ แนะนำสินค้าในตู้ที่เหมาะกับความต้องการไปจนถึงจดจำใบหน้า เรียกชื่อเราถูกและทายใจเราได้ว่าอยากซื้ออะไร จะสุดยอดแค่ไหนถ้าตู้เย็นที่บ้านเราฉลาดมากพอที่จะบอกเราได้ว่าของอะไรในตู้เย็นใกล้หมด และได้แจ้งไปที่ร้านค้าให้มาส่งของแล้วโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปตลาดหรือช็อปปิ้ง เพราะอุปการณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เหล่านี้จะมีความเป็นอัจฉริยะ มีระบบช่วยจดจำและมีข้อมูลพฤติกรรมของเราอยู่ในระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมทั่วทั้งโลกนั่นเอง


          ปัญหาคือการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุค 5G นี้จะทำให้เราสูญเสียความเป็นส่วนตัวไหม เมื่อฐานข้อมูลประชากรของเราได้ถูกบันทึก จดจำ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ผ่านการเชื่อมต่อกับเครือข่ายการสื่อสารทั่วโลก การมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับความต้องการของเราอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นคำถามส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา “กลยุทธ์ 5G สำหรับประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

          “การตั้งคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการยับยั้งหรือปฏิเสธเทคโนโลยี เพราะมันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การใช้เทคโนโลยีในทางผิดและการละเมิดก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น” ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 



          ดร.โสรัจจ์ ยกตัวอย่างในประเทศจีนว่า รัฐบาลใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อจัดลำดับความน่าเชื่อถือของประชากรแต่ละคน โดยดูจากประวัติการซื้อของ การจับจ่าย การชำระภาษี เป็นต้น การที่รัฐบาลใดก็ตามมีฐานข้อมูลของพลเมือง ความเป็นส่วนตัวจะได้รับปกป้องอย่างไร จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ และหากรัฐบาลมีคู่แข่งทางการเมือง จะจับจ้อง จัดการคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิด


          ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เล่าย้อนให้เห็นถึงภาพของสังคมไทยในการเปิดรับเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านยุคการสื่อสารต่างๆ ว่าเป็นการพัฒนาเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ กล่าวคือในยุค 3G เน้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการวางโครงข่าย ซึ่งภายใน 10 ปีมีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีสูงมากขึ้นจาก 10% ถึง 60% แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องของการพัฒนา การบริหารจัดการโครงข่าย ครั้นในห้วงปัจจุบันประเทศไทยมาถึงยุค 4G ซึ่งเน้นเรื่องความเร็ว ประสิทธิภาพ “แต่เราได้ประโยชน์แค่ไหนจากเทคโนโลยียุคปัจจุบัน เรามีการสร้างแอพพลิเคชั่นของคนไทยมากแค่ไหนนวัตกรรม (การสื่อสาร) ของไทยพัฒนาไปได้แค่ไหน หรือคนไทยบริโภคของนอกเก่งขึ้นแต่ไม่ได้ผลิตขึ้นใช้เอง ไม่ต้องพูดถึงจำนวนสิทธิบัตรเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยเห็น” ดร.พัชรสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกต


          “แล้วในปัจจุบันเรามาคุยกันเรื่อง 5G ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เรามีนโยบายที่สร้างความพร้อมของประเทศไทยในการเร่งพัฒนาไปสู่ยุค 5G อย่างไรที่จะช่วยให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีแพลตฟอร์มและโครงข่ายพื้นฐานที่จำเป็น มีนวัตกรรมและแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาไปสู่ 5G” ดร.พัชรสุทธิ์ ตั้งประเด็นให้คิดเพิ่มเติม


          ดร.พัชรสุทธิ์ กล่าวต่อว่า การคุยเรื่องเทคโนโลยี 5G เป็นมากกว่าแค่เรื่องการเชื่อมต่อ แต่ยังต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส ยุติธรรมของการบริหารจัดการและปฏิบัติการ เช่น การประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ควรจะเน้นที่เฉพาะเรื่องของการประมูลว่าใครให้เงินค่าตอบแทนมากแค่ไหน แต่เน้นว่า ในทางปฏิบัติสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วถึง มีนโยบายในการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย ไปจนถึงการรักษาเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการด้วย


          “หากจะให้ใช้ระบบการตลาดก็มีหลายรูปแบบ และควรจะต้องพิจารณาให้ทุกคนเข้าถึงได้ ส่วนรูปแบบการประมูลควรต้องพิจารณาถึงหลักการนโยบายตัวนักความก้าวหน้าของนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่โปร่งใส การประมูลต้องมีประสิทธิภาพไม่ใช่ดูแค่ตัวราคา มิฉะนั้นก็จะซ้ำกับปัญหาที่อยู่ในปัจจุบัน” ดร.พัชรสุทธิ์ กล่าวสรุป


          ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การมาถึงของเทคโนโลยี 5G จะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่    ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบว่า “เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดหรือถ่างช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กันแน่ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ความยากจนลดลงเสมอไป”
  

          ดร.พิรงรอง เพิ่มเติมว่าระบบทุนนิยมเน้นการแสวงหากำไรให้สูงสุดจากการจับจ่ายใช้สอย การบริโภค ตลอดจนการ หมุนเวียนของทุนในเวลาอันรวดเร็ว 5G จึงตอบโจทย์เหล่านี้ เพราะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการขยายและทบทวีของทุน จึงเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย เครือข่ายโทรคมนาคม และเครือข่ายออนไลน์ถูกพัฒนามาเพื่อ สร้างการบริโภคเนื้อหารูปแบบต่างๆ ในปริมาณสูง เป็นประจำ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง วิดีโอ เพลงและเกม ที่จะเติบโตขึ้นเป็นระดับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

          “ในปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลปริมาณมาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมถึงใช้ควบคุมพฤติกรรมผู้ใช้ได้ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลเหล่านั้น ที่ถูกนำไปขยายผลทางการเมือง การเศรษฐกิจ น่าสงสัยว่าข้อมูลที่ท่วมท้นที่จะมาพร้อมการสื่อสารในยุค 5G จะทำให้เราฉลาดขึ้น ใจกว้างรับฟังคนอื่นมากขึ้นได้ไหม” ดร.พิรงรอง กล่าว


          เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยียุค 5G จะทำให้การบริโภคข่าวสารเปลี่ยนไปทั่วโลก สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ก็คือความพร้อมด้านสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังว่าในยุค 5G ที่ข้อมูลปริมาณมากจะถูกนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์นั้น จะสร้างวัฒนธรรมการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสร้างคนในสังคมที่ฉลาดเทียมเทคโนโลยีได้หรือไม่ ดร.พิรงรอง ทิ้งประเด็นคำถามนี้ไว้