
บทบาท"เทวัญ ลิปตพัลลภ "กับ"ศึกหนัก"บนสมรภูมิการเมือง
บทบาท "เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าชพน."กับ "ศึกหนัก" บนสมรภูมิการเมือง : บายไลน์ / ขนิษฐา เทพจร
“ชาติพัฒนา” เป็นอีกพรรคการเมืองที่ต้องจับตาถึงความเปลี่ยนแปลง หลังปรับเปลี่ยนแม่ทัพใหญ่ โดย “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และเป็นหัวหน้าพรรคลำดับที่ห้าต่อจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, กร ทัพพะรังสี, สุวัจน์ ลิปตพััลลภ, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
ปรากฏการณ์เลือกตั้งช่วง 11 ปีที่ผ่านมา “ชาติพัฒนา” หรือภายใต้ชื่อ “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” หรือ "รวมชาติพัฒนา" หรือ “รวมใจไทยชาติพัฒนา” ถูกทอนกำลังจากพรรคขนาดกลางกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก เพราะจำนวน “ส.ส.” ลดลงตามลำดับ โดยการเลือกตั้งล่าสุด (ปี 2554) ชาติพัฒนาได้ ส.ส.เพียง 7 ที่นั่ง หากเทียบกับยุครุ่งเรืองสุด (ปี 2535) ภายใต้การนำของ “น้าชาติมาดนักซิ่ง” ชพน.ได้ ส.ส.ถึง 60 คน
การคุมทัพ “ชาติพัฒนา” ของ “เทวัญ” ยามนี้ จะต้องปรับกระบวนทัศน์อย่างไร หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเปิดใจกับเครือเนชั่นถึงบทบาทที่ต้องเปลี่ยนจาก “นักธุรกิจ-บริหารสโมสรฟุตบอล” ไปเป็นผู้นำทัพเลือกตั้งเต็มตัว โดยระบุว่า "ไม่ต้องปรับตัวมากกับการหวนคืนลงสนามเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้เคยผ่านสนามเลือกตั้ง ได้เป็นผู้แทนฯ 3 สมัย และเคยเป็นรองเลขาธิการพรรคชาติพัฒนามาก่อน" แต่การเป็น “ผู้แทนราษฎร 3 สมัย” ตามที่ “เทวัญ” ระบุนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว และครั้งนั้นเทวัญยังอยู่ภายใต้สังกัด “พรรคไทยรักไทย”
ภายใต้บริบทของสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลง “หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา” จะกู้ความรุ่งโรจน์กลับคืนสู่พรรคได้หรือไม่ โดยประเด็นนี้ “เทวัญ” ยอมรับว่า “การเมืองนั้นยาก คนส่วนใหญ่มองว่าต้องอาศัยความช่ำชอง หมายถึง มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ในมุมมองของผม สิ่งที่จะเป็นโจทย์และใช้งานได้จริงหลังจากนี้ คือ ความจริงใจ ทำให้ประชาชนเห็นว่า ชาติพัฒนาคือที่พึ่งของประชาชน”
“นโยบายตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมและจะประกาศเมื่อ คสช.ปลดล็อกการเมือง ขณะที่สโลแกน “โน-พร็อบเบลม” ที่ประกาศไปคือสิ่งที่ต้องการสื่อให้สาธารณะทราบว่า ชาติพัฒนาจะไม่เป็นชนวนสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ และไม่ขัดแย้งกับใคร”
คำว่า "ชาติพัฒนา – NO PROBLEM" คอการเมืองตีความว่าคือ “วลี” ของ “ชพน.” ที่แสดงความพร้อมเข้าร่วมได้กับทุกฝ่าย เพื่อเป้าหมายเดียว “เป็นพรรคร่วมรัฐบาล” เทวัญตอบเรื่องนี้ว่า “ชาติพัฒนามีจุดยืนทางการเมือง แม้ผมจะบอกว่าไม่ขัดแย้งกับใคร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปซ้ายหรือไปขวาแบบไม่มีจุดยืน ผมยอมรับว่าหากได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โอกาสนำนโยบายของพรรคไปสร้างประโยชน์ได้ แต่หลังการเลือกตั้งแล้ว ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ความปกติของการเมืองและความสงบของบ้านเมือง ทุกวันนี้ผมยังถูกถาม และคอยถามผู้ใหญ่ทางการเมืองเช่นกันว่า เลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะสงบหรือไม่ จะเลิกขัดแย้งกันได้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นคือ เลือกตั้งแล้วจบ สงบ ไม่สร้างปัญหา”
...กว่าจะไปถึงปลายทางของการเลือกตั้ง คำถามถูกตั้งประเด็นว่า ภายใต้กติกาที่ “กรรมการ” เขียนเอง เล่นเอง และมีผู้คุมกฎเลือกตั้งที่ควบคุมได้จะ “แฟร์เพลย์” จนเกิดการยอมรับที่เป็นปัจจัยสำคัญของ “การเมืองไร้ปัญหา” หรือไม่ มุมนี้ “เทวัญ” ถอดบทเรียนจากประสบการณ์นักบริหารทีมฟุตบอลสะท้อนมุมการเมืองว่า “กรรมการเข้าข้างอาจจะมีบ้าง แต่คงไม่ทั้งหมด ตัวอย่าง ทีมสวาทแคท “นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี” ในไทยลีก ไปแข่งกับสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ทีมระดับโลก กรรมการคงไม่ช่วยอะไร ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ตัวเราเอง ทำนองเดียวกันในการเลือกตั้งหากจะมีในสิ่งที่ถามนั้น คงไม่เกิดในทุกเขต อีกอย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าถึง ประชาชนสามารถถ่ายทอดสดได้หมด คนที่จะทำแบบนั้นต้องคิดหนัก ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งยุคนี้น่าจะโปร่งใส”
“ศึกเลือกตั้ง” ที่จะมาถึงในปี 2562 สิ่งที่ “หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา” กังวลใจจริงๆนั้นกลับไม่ใช่เรื่อง “ผู้คุมกฎ-กติกาเลือกตั้งที่ซับซ้อน” แต่เป็นรูปแบบการใช้กลยุทธ์เพื่อขอคะแนนนิยม ภายใต้เงื่อนไข “บัตรเลือกตั้งใบเดียว – เบอร์ผู้สมัครของพรรคในแต่ละเขตไม่เหมือนกัน” ซึ่ง “เทวัญ” บอกว่า เป็นงานหนักของหัวหน้าพรรคที่ต้องจำเบอร์ผู้สมัครในเขตนั้นๆ ให้ได้ และต้องจำให้ได้ว่ารอยต่อของเขตเลือกตั้งอยู่ตรงไหน มีซอย มีถนนอะไรเป็นเส้นแบ่ง เพื่อจะชูหมายเลขผู้สมัครตอนขึ้นรถแห่ไม่ผิดพลาด และประชาชนจำได้ว่าผู้สมัครของพรรคในเขตนี้หมายเลขอะไร เพื่อเวลาเข้าคูหาเลือกตั้งจะได้กาไม่ผิดเบอร์
ส่วนการส่งผู้สมัคร ส.ส.บนฐานที่มั่นในถิ่น “ย่าโม” ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของชาติพัฒนานั้น “หัวหน้าพรรค” บอกว่า “โคราช 14 เขต ต้องมีคนของพรรคส่งสมัครครบแน่นอน ส่วนจะได้เท่าใดนั้น ตอนนี้หวัง 3 เขตคือ เขต 1 เขต 2 และเขต 3 เป็นหลัก” หัวหน้าพรรคคนนี้ยังคิดเล่นๆ ด้วยว่า “หากนครราชสีมา 14 เขต ชาติพัฒนาได้ส.ส.เต็มพิกัด จะส่งผลให้พรรคได้ ส.ส.เข้าสภา รวมระบบเขตและบัญชีรายชื่อ 25 ที่นั่งเป็นขั้นต่ำ”
เมื่อถามถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้และการรีแบรนด์ “น้าชาติ” เพื่อนำผลงานที่สำเร็จในอดีตผันเป็นคะแนนนิยมคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก...ภายใต้การ “ต่อสู้ทางการเมือง” ยุคปัจจุบันที่ทุกพรรคใช้ทุกความได้เปรียบขึ้นมาฟาดฟัน ขณะที่ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อเทียบกัน “ปอนด์ต่อปอนด์” ระดับหัวหน้าพรรคนั้นประเด็นนี้จะสู้อย่างไร “เทวัญ” บอกว่า แม้จะเพิ่งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ไม่หวั่นเมื่อจะลงสนามสู้กับใคร เมื่อจะลงสนามแข่งขัน สิ่งที่ยึดถือที่สุดคือ ไม่ประมาท นอกจากในเกมที่ต้องจัดตัวคนพร้อมที่สุดลงแข่งขันแล้ว ต้องประเมินคู่แข่งด้วย และวางกลยุทธ์เพื่อต่อสู้ เพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
“หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา” ถูกสังคมมองว่า เป็น “รุ่นใหม่” ในการเมือง ดังนั้นปัจจัยที่จะเป็น “ตัวช่วย” คือความเก๋าในเกมการเมืองภายใต้ “คีย์แมน” ที่ชื่อ “สุวัจน์” ซึ่งเป็นพี่ชายของเทวัญ โดยคอการเมืองมองว่าสุวัจน์เป็น “หัวหน้าพรรคตัวจริง”
“ผมมองว่าไม่เสียหายที่ได้คุณสุวัจน์ในฐานะนักการเมืองที่มีประสบการณ์มาช่วยในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค ยอมรับว่าการเมืองต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ อย่างเร็วๆ นี้เราคุยถึงการส่งผู้สมัคร ผมมองว่าต้องส่งคนนี้ลงเขตนี้ แต่พอได้คุยกัน คุณสุวัจน์บอกว่าต้องเอาอีกคนหนึ่งด้วยเหตุผลที่ผมคิดไม่ถึง การทำงานการเมืองไม่ใช่อาศัยแค่ประสบการณ์จากตัวหนังสือ แต่ต้องใช้ประสบการณ์จริง แต่ไม่ใช่ว่าคุณสุวัจน์จะเข้ามาแทรกแซง หรือครอบงำพรรค ผมในฐานะหัวหน้าพรรคย่อมมีแนวคิดและการตัดสินใจหลังจากฟังความเห็นแบบรอบด้าน” หัวหน้าพรรค ระบุ
กับผู้ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็น “ก๊วนการเมือง” เดียวกับ “สุวัจน์” อย่าง “ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” และ “พินิจ จารุสมบัติ” แม้ “เทวัญ” จะไม่ทราบความเคลื่อนไหว หรือทิศทางการเมืองของทั้ง 2 คน แต่ในงานสังคมทั่วไป มีโอกาสพบ “ปรีชา–พินิจ” อยู่บ้าง “พี่ปรีชา เป็นรุ่นพี่ของผมที่จุฬาฯ มีโอกาสพบเจอกันบ้าง ที่ผ่านมาผมได้คุยเรื่องการเมืองกันบ้าง ขอคำปรึกษาบ้างเกี่ยวกับพื้นที่อุดรธานี, อุบลราชธานี ส่วนพี่พินิจได้เจอแต่ไม่บ่อย ผมเคยถามพี่พินิจถึงเรื่องการเมืองบ้างว่า หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ยังขัดแย้งกันอยู่ไหม แต่พี่พินิจไม่ได้ตอบอะไร ดังนั้นที่ผ่านมาได้คุยกันบ้าง ขอความเห็นบ้าง แต่เป็นแบบไม่เป็นทางการ และหากมีโอกาสและท่านยังสนใจอาจจะเชิญมาเป็นที่ปรึกษาก็ได้”
อีกประเด็นหนึ่งที่ “ชาติพัฒนา” ถูกจับตาคือการได้ “เสธ.เอ็กซ์” พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก" ซึ่งมีความใกล้ชิด “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ คสช. มาร่วมทีม ทำให้ถูกตีความไปว่า "ชพน.เป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมเป็นส่วนประกอบนั่งร้านให้ “ทหาร” คัมแบ็กการเมือง" ซึ่ง “เทวัญ” มองภาพว่า ยอมรับว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองพอสมควร แต่กรณีของ พล.อ.ฐิติวัจน์นั้น เทวัญมองว่า มันคือการได้ทายาททางการเมืองกลับสู่บ้าน “พ่อของพี่เอ็กซ์คือ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ท่านเป็นทหารวีรบุรุษผ่านศึกสงครามมามาก และเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคชาติพัฒนาตั้งแต่เป็นพรรคปวงชนชาวไทย ซึ่งพี่เอ็กซ์แสดงเจตจำนงมาช่วยเหลือพรรค เพื่อใช้ประสบการณ์ร่วมกันทำงาน แต่ไม่ใช่การเอาท่านไปผูกกับฝ่ายทหาร”
“การเมือง” หลังจากนี้หลายคนบอกว่าต้องมองกันยาวๆ ด้วยปัจจัยภายในทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง แต่กับความชัดเจนในวันนี้ของชาติพัฒนาที่ได้ “เทวัญ” ถือธงนำสู้เลือกตั้งต้องจับตาว่าบทบาทของ "หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาคนที่ 5" จากนี้จะไปไกลแค่ไหน ระหว่างกู้ความรุ่งโรจน์สู่พรรค หรือแค่ประคองตัวไม่ให้ชื่อ “ชาติพัฒนา” หายไปจากสารบบการเมืองไทย
"แต่หลังการเลือกตั้งแล้ว ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ความปกติของการเมืองและความสงบของบ้านเมือง ทุกวันนี้ผมยังถูกถาม และคอยถามผู้ใหญ่ทางการเมืองเช่นกันว่า เลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะสงบหรือไม่ จะเลิกขัดแย้งกันได้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นคือ เลือกตั้งแล้วจบ สงบ ไม่สร้างปัญหา”