
"อาหารเขมร"..ปรับกลยุทธ์ท่องเที่ยวกัมพูชา
"อาหารเขมร"..ปรับกลยุทธ์ท่องเที่ยวกัมพูชา : รายงาน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ความเป็นสายเลือดอาเซียนเหมือนกัน ทำให้คนไทยกับคนกัมพูชาติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านาน ระยะหลังๆ ความสัมพันธ์เริ่มแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางละครทีวีและการสื่อสารยุคโซเชียลมีเดีย แม้ว่าจะพูดภาษาต่างกันแต่ก็เข้าใจกันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ...
ล่าสุด วันที่ 7–11 พฤศจิกายน ตัวแทนนักข่าวจากประเทศไทยได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมเยือน “สมาคมนักข่าวกัมพูชา” (Club of Cambodia Journalists) โดยตัวแทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ได้เข้าพบปะสนทนากับผู้นำกระทรวงต่างๆ ของกัมพูชาทั้งแบบเป็นทางการและแบบเจาะลึกสไตล์พี่น้องพรมแดนติดกัน หัวข้อสนทนาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง การค้าขาย การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านละครทีวี ฯลฯ โดยหนึ่งในหัวข้อที่ตัวแทนหน่วยงานรัฐกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ “เทคนิคโปรโมทการท่องเที่ยว” โดยเฉพาะ วิธีการโปรโมทอย่างไร ให้โดนใจ “นักเที่ยวชาวไทย” ?
เนื่องจากประเทศไทยมีชายแดนอยู่ติดกัมพูชา แต่นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวประมาณปีละ 3 แสนคนเท่านั้น
“ทิด จันธา” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา อธิบายให้ฟังว่า เรามีพรมแดนติดกัน และในวันนี้การเดินทางข้ามชายแดนสะดวกสบายขึ้นมาก หากมาจับมือร่วมใจกันพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โปรโมทส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมากัมพูชาและเดินทางไปเที่ยวต่อไทยแลนด์ หรือจากไทยมาเที่ยวต่อกัมพูชา เทคนิคส่งเสริมท่องเที่ยวแบบทวิภาคีนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างมาก
“ตอนนี้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นิยมเที่ยวหลายๆ ประเทศในทริปเดียวกัน ไม่ค่อยมีใครมาเที่ยวแค่ประเทศเดียว ในเมื่อกัมพูชา–ไทยมีพรมแดนติดกัน รวมถึงประเทศอาเซียนอื่นๆ หากร่วมมือกันทำวีซ่าแบบพิเศษหรือวีซ่าแบบเหมารวม หรือเป็นวีซ่าประเภทที่ยื่นขอครั้งเดียวแล้วไปเที่ยวประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้หมด จะยิ่งอำนวยความสะดวกทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวมากขึ้นอีก”
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ให้ข้อมูลอีกว่า ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งหมด 5.6 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนจีนมากกว่า 1.2 ล้านคน ลำดับต่อไปคือเวียดนามประมาณ 8 แสนคน อันดับสามและอันดับสี่เป็นลาวกับไทยประมาณ 3 แสนกว่าคนเท่ากัน ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 11 สิ้นปีนี้อาจมีจำนวนถึง 6.2 ล้านคน อีก 2 ปีข้างหน้าในปี 2020 รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 7.3 ล้านคน และอีก 12 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030 อยากให้มาเพิ่มอีกเป็น 13-15 ล้านคน
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชากล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นนั้น ต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมแรงกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ทั้งจากนักข่าวหรือสื่อมวลชนของกัมพูชาและของประเทศไทย การทำงานของสื่อมวลชน 2 ประเทศ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนทั้ง 2 ประเทศ ทำให้รู้สึกดีต่อกัน ช่วยกันส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน
ในค่ำคืนของวันที่ 8 พฤศจิกายน ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ทบ โสเพรียก รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ที่เปิดเผยความรู้สึกให้ฟังว่า ช่วงนี้กระทรวงพยายามโปรโมทการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ มีการสร้างความร่วมมือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญคือการพยายามศึกษาเรียนรู้จากประเทศไทย เรื่องการให้บริการและอาหารการกิน เพราะประเทศไทยมีตัวอย่างการโปรโมทและพัฒนาโครงการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
“มิสเตอร์พีพี”แนะนำให้ชิมกุ้งเล็กทอดกรอบ
“โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เราก็มีสตรีทฟู้ดหรืออาหารรถเข็นตามท้องถนน มีงานเทศกาลอาหารระดับชาติ มีการเชิญนักข่าว สื่อมวลชนมาเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ของกัมพูชา เพราะหลายแห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเปิดใหม่ มีอาหารท้องถิ่นปรุงจากปลาน้ำจืดที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา หรือวัตถุดิบอาหารจากธรรมชาติหลากหลายรูปแบบให้ทดลองรับประทาน”
มาถึงจุดนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า ไอเดียโปรโมทอาหารของไทยนั้นขั้นสุดยอด ทั้ง ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง โดยเฉพาะ ต้มยำกุ้งนั้น กลายเป็นไฮไลท์ ใครๆ ก็จำได้ติดปาก ไม่ว่าคนฝรั่ง จีน อินเดีย ยุโรป ก้าวเข้ามาถึงไทยแลนด์ ต้องเอ่ยปากสั่งมาเป็นอาหารจานแรกก่อนเปิดเมนูเลยทีเดียว
อามก(ห่อหมก)
แต่ถ้ากล่าวถึง “อาหารกัมพูชา” มีอะไรที่โดดเด่นจำได้บ้าง หลายคนคงนึกไม่ออก... แตกต่างจากอาหารของประเทศอื่นๆ เช่น เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเวียดนามหรือลาว คนไทยนึกออกทันทีว่ามีแหนมเนืองเวียดนาม เฝอหรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เปาะเปี๊ยะทอด และถ้าเอ่ยถึงอาหารลาว จะน้ำลายสอจินตนาการถึง ส้มตำน้ำนัวสีดำรสแซบ ไก่บ้านตัวเล็กย่างหนังจนกรอบนอกเนื้อนุ่มใน หรือแกงหน่อไม้ แกงอ่อม ที่คล้ายคลึงกับอาหารอีสานบ้านเฮา
ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ได้ไปสำรวจอาหารท้องถิ่นของชาวเขมรจนพบว่า อาหารหลายอย่างมีความอร่อยแบบกลมกล่อม แม้ไม่ได้มีรสชาติเผ็ด หวาน เปรี้ยวที่โดดเด่นออกมาแบบอาหารไทย ที่แค่เห็นชื่อในเมนูก็บอกรสชาติได้เลย เช่น แกงเขียวหวาน ผัดเปรี้ยวหวาน ยำวุ้นเส้น ปลาทอดน้ำปลา ฯลฯ
แกงเนื้อใส่ผักโขม “สัมลอร์ มะจู”
หลังจากตระเวนชิมอาหารเขมรหลายมื้อ ทำให้สรุปเบื้องต้นได้ว่า อาหารจานเด่นที่ทุกร้านต้องมีคือห่ อหมก หรือ อามก ออกเสียงคล้ายๆ ภาษาไทย มีส่วนผสมหลายอย่างคล้ายห่อหมกไทย สามารถใส่เนื้อปลาน้ำจืดหรือไก่ก็ได้ โดยมีใบยอวางซ้อนอยู่ข้างล่าง แล้วข้างบนโรยใบมะกรูดหั่นฝอยราดด้วยหัวกะทิสด ส่วนใหญ่ชาวเขมรจะสั่ง “อามกปลา” แต่ปลาของเขาไม่ได้ผสมเป็นเนื้อเดียวกันแบบห่อหมกไทย แต่แยกเนื้อปลาออกมาสามารถตักเนื้อปลาสีขาวชิ้นโตๆ รับประทานได้เลย
ส่วนอีกหนึ่งเมนูที่เพื่อนนักข่าวกัมพูชาอยากให้ลองชิมมาก ชื่อว่า "สัมลอร์ กอร์โก"(Somlaw Kor Ko) หรือแกงผักรวมมิตร เคล็ดลับอยู่ที่ส่วนผสมของปลาร้า ถือเป็นแกงยอดนิยมแม่บ้านทำเองในครัวได้ไม่ยาก ขอให้ใส่ผักหลายๆ ชนิดลงไปผสมกับเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ คล้ายแกงเลียงบ้านเรา เพื่อนเล่าให้ฟังว่าภรรยาที่บ้านทำให้กินเป็นประจำ เคล็ดลับนอกจากปลาร้าแล้วยังต้องสลับเปลี่ยนผักไปตามฤดูกาล แต่ต้องใส่ผักหลายชนิดมากๆ เพื่อให้น้ำซุปมีรสชาติหอมหวาน
แกงผักรวมมิตร "สัมลอร์ กอร์โก"
ใครที่ชอบกินเนื้อวัวต้องไม่พลาดจานนี้ “สัมลอร์ มะจู” (Somlaw Machou Kroeung) หรือแกงส้มเนื้อใส่ผักโขม กัมพูชามีชื่อเสียงเรื่องปลาน้ำจืดจากทะเลสาบเขมร หรือโตนเลสาบ ผืนน้ำกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดของกัมพูชา ทำให้อาหารส่วนใหญ่ทำมาจากเนื้อปลา นอกจากปลาแล้วอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อวัวหารับประทานได้ง่ายกว่าเนื้อหมู แต่หากใครไม่กินเนื้อจะเปลี่ยนแกงสัมลอร์มะจูเป็นกระดูกหมูแทนก็ได้ รสชาติแกงนี้ออกไปทางเค็มนิดๆ แต่ผักโขมที่ต้มจนนิ่มเมื่อกินกับเนื้อนุ่มๆ ราดบนข้าวสวยร้อนๆ อร่อยทีเดียว แต่จะให้ดีต้องสั่ง “ไข่เจียวปลาร้า” หรือ ปร็อฮก ของขึ้นชื่อมารับประทานคู่กัน
ส่วนคนไม่ชอบอาหารหนักแต่เน้นพวก “กับแกล้ม” ต้องสั่งจานนี้เลย กุ้งตัวเล็กๆ ลวกมากับตะไคร้กับมะกรูด หรือ กุ้งเล็กทอดกรอบ คนเขมรจะหักหัวกุ้งทิ้งแล้วจิ้มกับพริกไทยผสมมะนาวลงไปนิดๆ ไม่น่าเชื่อว่ารสชาติน้ำจิ้มง่ายๆ แบบนี้จะอร่อยล้ำ ขอเก็บเป็นไอเดียเวลาเดินทางเข้าป่าหรือไปทะเลแล้วไม่มีแม่ครัวทำน้ำจิ้มซีฟู้ด ก็สามารถใช้พริกไทยบีบมะนาวแบบนี้ได้เลย
ขนมตาลราดกะทิ” หรือขนมอาโก
สำหรับขนมหวานที่น่าโปรโมทให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทดลองชิมคือ “ขนมตาลราดกะทิ” (Nom Akor Ktis) หรือขนมอาโก มีขายตามท้องถนนทั่วไป ต้องชื่นชมไอเดียชาวเขมรที่นำขนมตาลแบบของไทยมาราดด้วยน้ำกะทิเข้มข้น เพราะปกติขนมตาลนึ่ง หากกินไม่หมดปล่อยไว้สักพักเนื้อขนมจะแข็งจนกินแทบไม่ได้ แต่พอใช้น้ำกะทิมาราด ทำให้เนื้อนุ่มและมีรสชาติเค็มนิดๆ ของกะทิเข้าไปผสม กินได้หลายคำโดยไม่รู้สึกเลี่ยน
Mr.Pheap Pea รองผู้อำนวยการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา หรือที่พวกเราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “มิสเตอร์พีพี” เปิดใจให้ฟังว่า อาหารท้องถิ่นเขมรมีหลากหลายประเภท โดยเฉพาะปลาและกุ้งจากโตนเลสาบ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องโปรโมทให้หนักมากกว่านี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวอยากมาทดลองชิม และราคายังไม่แพงด้วย
มิสเตอร์พีพีเคยไปสำรวจตลาดการท่องเที่ยวมาแล้วหลายประเทศเช่น ยุโรป สเปน รัสเซีย ไทย ฯลฯ ทำให้ยืนยันได้ว่าอาหารกัมพูชามีความอร่อย และดีต่อสุขภาพ แถมราคาถูกกว่ามาก เช่น กุ้งตัวเล็กๆ นึ่งหรือทอดกับสมุนไพร ชาวประมงขายกุ้งกิโลกรัมละแค่ 60 กว่าบาท ทำให้ร้านอาหารสามารถเลือกสรรมาปรุงให้นักท่องเที่ยวได้ในราคามิตรภาพ
หน่วยงานโปรโมทท่องเที่ยวและสื่อมวลชนในกัมพูชากำลังช่วยกันขับเคลื่อนไอเดีย “อาหารเขมรจานเด็ด” เพราะรู้ดีว่า นอกจากการเยี่ยมเยือนสถานที่ท่องเที่ยวระดับนครวัดที่เป็นมรดกโลกแล้ว นักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการลิ้มรสอาหารหรือขนมที่ตบแต่งสวยงาม โดยเฉพาะ “นักเที่ยวชาวไทย” ที่กำลังคลั่งไคล้ถ่ายรูปเซลฟี่กับของกินอวดกันบนโลกโซเชียล...
ประเทศไทยชูธงโปรโมท “ต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง” จนกลายเป็นส่วนสำคัญทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนแดนสยามปีละกว่า 35 ล้านคน วันใดที่รัฐบาลเขมรปรับกลยุทธ์โปรโมทการตะลุยกินอาหารเขมรได้สำเร็จ เชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ปีละไม่ต่ำกว่าสิบล้านคน คงไม่ใช่เรื่องยาก...