'เรี่ยไร'ไม่ขออนุญาต='ฉ้อโกง'!?
'เรี่ยไร'ไม่ขออนุญาต='ฉ้อโกง'!? : คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
แทบจะเป็นภาพชินตาที่มีเหล่าผู้คนอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิ โน่น นี่ นั่น เดินถือกล่อง “เรี่ยไร” ขอรับเงินบริจาคช่วยซื้อโลงศพให้คนไร้ญาติ ส่วนใหญ่มักอยู่ตามสถานีขนส่ง ตลาด หรือ ชุมชน ไม่เว้นแม้แต่ “พระ” ก็เอามาขึ้นรถกระบะตระเวนเรี่ยไรร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ ซ่อมศาลา โดยที่คนทั่วไปไม่รู้เลยว่า กลุ่มหรือบุคคลที่มาแห่เรี่ยไรนี้เป็นของจริง หรือของปลอม ซึ่งหลายครั้งได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงเหล่า “ขอทาน” ที่เอาความสงสารมาแลกเงินตามพื้นที่สาธารณะ ก็ไม่ได้การันตีว่าชีวิตรันทดอดสูจริง หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของ “แก๊งค้ามนุษย์”
ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสาร “โซเชียลมีเดีย” กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิตสังคมมนุษย์ยุคนี้ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” ที่เป็นช่องทางยอดนิยม หลายคนโพสต์เรื่อง “ดราม่า” เรียกคะแนนสงสาร เพื่อใช้เป็นช่องทางรับบริจาคเงิน สำหรับช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งดูแล้วก็ไม่ต่างจากการเรี่ยไร จนเกิดวลี “ขอทานออนไลน์” ในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย อาทิ มีผู้โพสต์ขอรับบริจาคช่วยเหลือปฏิบัติการค้นหา “ทีมหมูป่า” ติดถ้ำหลวงที่ จ.เชียงราย หรือจะเป็น สาวสวยแลดูเป็น “ไฮโซ” โพสต์ขอบริจาคเงินคนละ 1 บาท จนถูกวิจารณ์กระหึ่มโลกออนไลน์ ฯลฯ และล่าสุดก็มาถึงคิว “พี่คล้าว 2018” แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนไทยควรรู้ คือ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487
เกี่ยวกับประเด็นที่ว่านี้ รัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดังจากเพจเฟซบุ๊ก “สายตรงกฎหมาย” ได้อธิบายเกี่ยวกับการเรี่ยไร หรือเข้าข่ายการขอทาน ว่า การขอทานเป็นเรื่องผิด เพราะมีกฎหมายออกมาใหม่ เป็น พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน 2559 ในมาตรา 13 ห้ามบุคคลใดทำการขอทาน ซึ่งการขอทานหมายความว่า ขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความหรือกิริยาอาการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสาร และส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
การขอทานนี้มีโทษตามกฎหมายมาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีที่มีหญิงสาวโพสต์ข้อความขอเงินผ่านเฟซบุ๊ก ก็ถือว่าเป็นการขอทานผ่านข้อความ เป็นการใช้ข้อความเพื่อขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่น จึงเข้าข่ายเป็นการขอทานแล้ว โดยเฉพาะการขอรับบริจาคอื่นๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องระวัง เพราะมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเยอะ คนกลุ่มนี้มักใช้คำพูดในเชิงจิตวิทยา ด้วยการขอรับบริจาคจำนวนน้อยจากกลุ่มคนจำนวนมาก เมื่อรวมยอดเงินทั้งหมดอาจเป็นจำนวนมหาศาลได้
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลธรรมดา หากต้องการรับบริจาคเรี่ยไรเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ จะต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นขออนุญาตได้ที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นได้ที่ อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ ถ้าหากไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องอาจถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง แถมพ่วงข้อหาคดีอื่นอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยบอกไว้ว่า กรณีมีผู้เผยแพร่ข้อความในโซเชียลมีเดีย ลักษณะเรี่ยไรเงินหรือการขอรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือการกุศล แต่ไม่ได้ทำจริง และไม่ได้ขออนุญาตถูกต้อง จะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
พื้นฐานนิสัยของคนไทยชอบทำบุญ ชอบช่วยเหลือคน การให้เงินถือเป็นการทำบุญ จึงเลยกลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพหาเงินได้ง่ายๆ แต่ถ้าเจตนาดีก็ขออนุญาตเรี่ยไรให้ถูกต้อง ก่อนจะเสี่ยงคุกด้วยข้อหา “ฉ้อโกง”..!!