คอลัมนิสต์

เลือกตั้ง 2562 ไม่มี 50 ล้าน ชวด ส.ส.?

เลือกตั้ง 2562 ไม่มี 50 ล้าน ชวด ส.ส.?

18 ธ.ค. 2561

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง

 

 

          ปลาย พ.ศ.ที่มีแต่ความครึกครื้น เพราะบรรดา “นักเลือกตั้ง” ได้เริ่มต้นการหาเสียงอย่างเป็นจริงเป็นจัง ประชุมสมาชิกพรรค เดินเคาะประตูบ้าน ตั้งเวทีปราศรัย และอื่นๆ อีกมากมาย

 


          จะว่าไปแล้วนักเลือกตั้งมืออาชีพส่วนใหญ่ไม่เคยหยุดหาเสียง งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพ ฯลฯ พวกเขาจะต้องไปปรากฏตัวในงานเหล่านั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ และที่สำคัญให้ประชาชนได้เห็นหน้า 


          อยากชวนผู้อ่านมาสดับทัศนะของครูบ้านนอกอย่าง “วีระ สุดสังข์” เกี่่ยวกับการเลือกตั้ง โดยครูนักเขียนคนนี้เขียนไว้ในเฟซบุ๊กชุด “ชีวิตหลังเกษียณ” ตอนที่ 23 ว่าด้วยบทบาทของ “หัวคะแนน” และอาณาประชาราษฎร์ในสังกัด


          รัฐบาลใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา บรรยากาศทางการเมืองจึงคลายความอึดอัดและคึกคักมากขึ้น ความจริงพรรคการเมืองหลายพรรคแอบเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนปลดล็อกแล้ว การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ประชาชนจึงกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง


          รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าอย่างไร? กฎหมายเลือกตั้งจะเขียนว่าอย่างไร? ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทางบวกสำหรับการเมืองประเทศเรา รากฐานสังคมไทยมาจากเจ้าขุนมูลนายและสังคมทาสโอกาสที่ประชาชนจะมีสิทธิและการแสดงออกทางการเมืองเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง


          ในสังคมหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนอันประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. และส.อบต. เป็นนักปกครองและมีบทบาททางสังคมสูง ส่วนชาวบ้านยังเป็นสังคมระดับล่างและมีสังกัด หลายคนสังกัดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลายคนสังกัดนายก อบต. ส.อบต. หลายคนขึ้นตรงกับทุกสังกัด 


          นอกเหนือจากหัวหน้าคุ้มบ้าน การขับเคลื่อนหรือการหาเสียงของนักการเมืองจึงพุ่งเป้าไปที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. และส.อบต. เพราะบุคคลเหล่านี้มีคะแนนอยู่ในมือ อาจเรียกว่า “ผู้กุมคะแนน” หรือ “หัวคะแนน” ไม่จำเป็นใดๆ ที่จะต้องลงลึกไปถึงประชาชนรายบุคคลให้เสียเวลา เพราะแท้จริงแล้วชาวบ้านที่สนใจการเมืองจริงๆ มีไม่เกิน 20% ที่เหลือ 80% แล้วแต่ผู้กุมคะแนนจะพาเลือกใคร?


          ว่าที่ผู้สมัครส.ส.นั้น จะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ผู้ชนะการเลือกตั้งจะต้องมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ 1.เกียรติยศชื่อเสียงของตนเอง 20% 2.ทีมงานหรือผู้กุมคะแนนหรือหัวคะแนน 40% และ 3.เงิน 40% 


          หากมีครบ 3 ส่วนนี้อาจได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.แน่นอน เรื่องอุดมคติ อุดมการณ์ นโยบายพรรคไม่ใช่เงื่อนไขการเลือกตั้งแต่อย่างใด ว่าที่ผู้สมัครจะอยู่พรรคใดก็ได้ขอแต่มีเงิน ส.ส.คนหนึ่งในเขตเลือกตั้งที่มีประชากร 180,000 คน ต้องใช้เงิน 30-50 ล้านบาท ถ้าไม่มีเงินขนาดนี้อย่าเสียเวลาเดินเตร่บนถนนการเมือง


          ไม่มีว่าที่ผู้สมัครส.ส.คนใดต้องการใช้เงินมากมายขนาดนี้ แต่เมื่อเป็นความต้องการของประชาชนบวกกับตนเองมุ่งมั่นจะเป็นส.ส.ให้ได้ จึงจำเป็นต้องมีเงินส่งผ่านทีมงานคุณภาพลงไปถึงประชาชน โปรดจงสำเหนียก อย่าคิดว่ามีเงินแล้วจะชนะเลือกตั้งเสมอไป เงินมากมายแค่ไหนก็ตาม หากคุณสมบัติประวัติของตนไม่สง่างามประกอบกับทีมงานไร้คุณภาพ เงินจำนวนนั้นอาจหายไปชั่วพริบตาหรือมีเงินแล้วอย่าคิดว่าจะแจกจ่ายได้ตามใจ เพราะมีพรรคคู่แข่งขัดขวางอยู่ เขากันไม่ให้เราแจกแต่เขาแจกได้แจกเอา


          ลักษณะการเมืองไทยเป็นเช่นนี้ ผู้นำ ผู้มีบารมี ผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจ สามารถชี้นำแนวทางลงไปได้ตามลำดับจากระดับสูงสุดถึงระดับต่ำสุดคือชาวบ้าน เพราะฉะนั้นอย่าวาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายอันทันสมัยไทยแลนด์ 4.0
หนังสือความรู้ทางการเมืองที่นักวิชาการเขียนกับสภาพที่แท้จริงของชาวบ้านตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง


          ข้อเขียนของครูวีระ สุดสังข์ อาจทำให้นักรัฐศาสตร์หลายคนร้องกรี๊ดดด..กล่าวหาว่า ครูวีระไม่เห็นหัวคนจน ดูถูกชาวบ้าน “ขายสิทธิ์ขายเสียง”


          สิ่งที่ครูวีระสะท้อนภาพนี้ มันคือความจริงของประเทศไทย ไม่ว่าชนบท หรือใจกลางกรุงเทพมหานคร ประชาชนล้วนมีสังกัด