คอลัมนิสต์

"ม็อบดุสิตธานี"อดีตที่ไม่อยากจดจำของ "ท่านผู้หญิงชนัตถ์"

"ม็อบดุสิตธานี"อดีตที่ไม่อยากจดจำของ "ท่านผู้หญิงชนัตถ์"

05 ม.ค. 2562

"แพ็กเกจสุดพิเศษอีกหนึ่งความทรงจำ..คืนวันที่ 4 มกราคม 2562 เท่านั้น.."

 

          ถ้อยคำเชิญชวนให้ผู้คนไปรับประทานอาหารและพักค้างใน “คืนสุดท้าย” ของโรงแรมดุสิตธานี ก่อนจะยุติการเปิดบริการวันที่ 5 มกราคม 2562 และนับจากนี้ไปจะมีการปิดปรับปรุงเพื่อสร้างเป็นดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบประสมขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 23 ไร่

 


          เดิมทีสถานที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานี เป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดย “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ได้ดำเนินการขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว ดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับห้าดาวที่หรูหราที่มีความสูง 23 ชั้น แห่งแรกในกรุงเทพฯ


          ตลอดระยะเวลากว่า 48 ปี โรงแรมดุสิตธานีมีเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์มากมายและหนีไม่พ้นที่ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์” ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี จะเป็นตัวละครเอกในเรื่องนั้นๆ

 

 

\"ม็อบดุสิตธานี\"อดีตที่ไม่อยากจดจำของ \"ท่านผู้หญิงชนัตถ์\"

ม็อบดุสิตธานี ปี 2517

 


          หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โรงแรมดุสิตธานี กลายเป็นแหล่งชุมนุมกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย จนเป็นที่มาของ “กลุ่มดุสิต 99” ที่ทรงพลังทางการเมืองในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์


          สืบเนื่องมีการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ เพื่อคัดเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 299 คน และท่านผู้หญิงชนัตถ์ ได้เป็นสมาชิก สนช.ด้วย


          อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้บันทึกเรื่องราวของกลุ่มดุสิต 99 ไว้หนังสือ “ชีวิตที่เลือกได้” ตอนหนึ่งว่า “สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ชุดนั้นมี 299 คน ได้มีการรวมกลุ่มกันตั้งเป็นกลุ่ม 99 ประกอบด้วยข้าราชการ และนักธุรกิจคนสำคัญ มีการประชุมกันที่โรงแรมดุสิตธานี จึงมีชื่อเรียกว่า กลุ่มดุสิต 99 นับเป็นกลุ่มใหญ่มีบทบาทมากในการผ่านร่างพระราชบัญญัติ”


          สมาชิกกลุ่มดุสิต 99 ได้แก่ เกษม จาติกวณิช, น.ต.กำธน สินธวานนท์, แถมสิน รัตนพันธ์, ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย, ม.ร.ว.นิติวัฒน์ เกษมศรี, สนอง ตู้จินดา, จรูญ เรืองวิเศษ, เกษม สุวรรณกุล, คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ และนิสสัย เวชชาชีวะ จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า กลุ่มดุสิต 99 เป็นเสมือนรัฐบาลที่สองของประเทศไทย

 

\"ม็อบดุสิตธานี\"อดีตที่ไม่อยากจดจำของ \"ท่านผู้หญิงชนัตถ์\"

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เมื่อปี 2517

 


          อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ไม่อยากจดจำคือ “ม็อบดุสิตธานี” หรือการชุมนุมนัดหยุดงานของพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม-13 กันยายน 2517 


          ปฐมบทของการนัดหยุดงานเริิ่มจาก “เทิดภูมิ ใจดี” พ่อครัวโรงแรมเชอราตัน ได้เคลื่อนไหวรวบรวมพนักงานโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมนารายณ์ โรงแรมมโนราห์ และโรงแรมเชอราตัน จัดตั้งสมาคมลูกจ้างโรงแรม


          เดือนมิถุนายบน 2517 มีการชุมนุมใหญ่ของผู้ใช้แรงงานหลายหมื่นคนที่ท้องสนามหลวง เรียกร้องให้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เคยเอาเปรียบกรรมกร


          ต่อมาพนักงานโรงแรมดุสิตธานีได้ยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทดุสิตธานี เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำอย่างน้อยเดือนละ 600 บาท และเงินค่าบริการ 85% แต่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องพนักงานจึงนัดหยุดงานและปิดโรงแรมดุสิตธานี


          เวลานั้น เทิดภูมิ ใจดี ได้ประสานกำลังจากกลุ่มนักศึกษาและเพื่อนกรรมกรมาสมทบที่หน้าโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งการนัดหยุดงานยืดเยื้อไปถึง 23 วัน จึงยุติลงเมื่อรัฐบาลสัญญา ตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทร่วมกัน


          สุดท้ายเจรจาหาข้อยุติไม่ได้ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ จึงตัดสินใจปิดกิจการโรงแรมเป็นเวลา 3 เดือน และเมื่อเปิดบริการใหม่ก็ไม่ยอมรับพนักงานเดิม 164 คน กลับเข้ามาทำงาน

 

 

\"ม็อบดุสิตธานี\"อดีตที่ไม่อยากจดจำของ \"ท่านผู้หญิงชนัตถ์\"

เทิดภูมิ ใจดี ผู้นำม็อบดุสิตธานี

 


          การแก้ปัญหาม็อบดุสิตธานีครั้งนั้น สื่อมวลชนบางสำนักได้เขียนถึงท่านผู้หญิงชนัตถ์ไว้ว่า “..เป็นคนเฉียบขาด บางครั้งดูเหมือนเอาแต่ใจตัวเอง เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย”


          เมื่อตกลงกันไม่ได้ ปิดเป็นปิด ซึ่งภายหลังก็พิสูจน์แล้วว่าการปิดตัวเองนานถึง 3 เดือนไม่กระทบกระเทือนถึงตลาดลูกค้าแต่อย่างใด เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ รู้สึกเสียใจมากที่ไม่สามารถทำอะไรได้


          “ดิฉันทนไม่ได้ที่จะเห็นพนักงานที่เราได้เฝ้าอบรมฝึกฝนให้ความรู้ มีระเบียบวินัยของการทำงานในวิชาชีพนี้ แต่กลับแสดงความกร้าวร้าว โหดร้าย ทารุณ ป่าเถื่อน ไม่มีสัมมาคารวะ ดิฉันถือว่าเป็นการทำลายวิชาชีพอย่างไม่สามารถหาสิ่งใดมาลบล้างได้ ดิฉันไม่ต้องการให้เขาเหล่านี้เข้ามาทำลายวิชาชีพนี้อีกต่อไป ถึงตกลงใจไม่เปิดโรงแรมและไม่รับพนักงาน 164 คนที่สไตรค์กลับเข้าทำงาน” ความในใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ที่เคยบอกเล่าผ่านผู้สื่อข่าวนิตยสารบางสำนัก


          ส่วนเทิดภูมิ ใจดี จากการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานครั้งประวัติศาสตร์ของพนักงานโรงแรมไทย ได้ส่งให้ตัวเขากลายเป็นผู้นำกรรมกรระดับชาติ มีบทบาทผู้นำมวลชน เคียงข้างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และจิระนันท์ พิตรปรีชา 


          บทบันทึกการเมืองไทยหลัง 14 ตุลา จึงควรกล่าวถึงโรงแรมดุสิตธานี อย่างน้อย 2 กรณีคือ กลุ่มดุสิต 99 และม็อบดุสิตธานี