"เลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน" : กับดัก??
"เลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน" เป็นกับดักอะไรหรือไม่? เสนอใช้ ม.44 ผ่าทางตัน !!
ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าวันเลือกตั้งใหม่จะเป็นเมื่อไหร่ก็มีประเด็นมาเพิ่มความชุลมุนเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งขึ้นไปอีก คือการตีความข้อความในรัฐธรรมนูญที่บอกว่า “ให้เลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน" นับตั้งแต่วันที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ แตกต่างกันไป
มีการยกประเด็นว่า คำว่า “เลือกตั้งให้แล้วเสร็จ” หมายถึงเฉพาะ “วันเลือกตั้ง” หรือ “วันประกาศผลเลือกตั้ง”
150 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
**ที่มาปัญหา “150 วัน”
ถ้าถามถึงที่มาของเรื่อง “150 วัน” ที่ทำให้มีการตีความต่างกันไป ก็ต้องบอกว่ามาจากทาง กกต.
กกต.มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเหตุผลในการกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องการกำหนดให้เป็นวันที่ 10 มีนาคม โดยระบุว่าหากเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม ระยะเวลาในการประกาศผลเลือกตั้งที่กฎหมายให้ไว้ไม่เกิน 60 วัน จะอยู่ที่วันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งไม่เกิน 150 วัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “เลือกตั้งให้แล้วเสร็จ” พอดี
ขณะเดียวกันมีข้อมูลว่าการที่ กกต.ต้องการให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มีนาคม ก็เพราะไม่ต้องการให้สังคมมองว่ากกต.ทำตาม “ใบสั่ง” ของรัฐบาล ที่แสดงท่าทีผ่าน “วิษณุ เครืองาม” ว่าต้องการให้เลือกตั้งในวันที่ 24 หรือ 31 มีนาคม ซึ่งหากเลือกตั้งช่วงปลายเดือนมีนาคม การประกาศผลเลือกตั้งก็จะขยับไปถึงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเกินระยะเวลา 150 วันนับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ คือวันที่ 11 ธันวาคม 2561
ลงล็อกพอดีกับเหตุผลข้อกังวลของกกต.ว่าอาจจะทำให้มีผู้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้สอบถามมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า “150 วัน” ครอบคลุมเฉพาะวันเลือกตั้ง หรือการรับรองและประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งได้ตอบตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมีความประสงค์ให้ระยะเวลา 150 วันไม่นับรวมวันรับรองผลเลือกตั้งด้วย แต่ถ้ากกต.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ไม่เป็นไร
แม้ “มีชัย” จะเคยพูดไว้ดังกล่าว และล่าสุดมีอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนออกมาให้คำตอบเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ กกต.คลายความกังวลไปได้ เพื่อความปลอดภัยจึงต้องการทำทุกอย่างให้เรียบร้อยภายในวันที่ 9 พฤษภาคม
นอกจากนี้แม้แต่ “วิษณุ” ก็ไม่กล้าการันตีว่า “เลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน” ที่ว่าหมายความว่าอย่างไรแน่
แม้ “วิษณุ” จะบอกว่ารัฐบาลเห็นว่า “150 วัน” หมายถึงกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งเท่านั้นไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้งด้วยแต่ก็ยังบอกว่า “ถ้าจะเพลย์เซฟ ให้ปลอดภัย ก็ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม”
อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า “ธง” ของฝ่ายรัฐบาล คือต้องการให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนมีนาคม เพราะไม่ต้องการให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงพระราชพิธี ซึ่งนอกจากระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม แล้ว “วิษณุ” ยังตีกรอบเวลาทั้งก่อนและหลังอีกอย่างละ 15 วันด้วย
นั่นคือไม่ต้องการให้มีกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่หลังสงกรานต์ไปจนถึงประมาณวันที่ 20 พฤษภาคม
การที่กกต.ตั้งเป้าจะประกาศผลการเลือกตั้งไม่ให้เกินวันที่ 9 พฤษภาคม จึงขัดกับเจตนาของทางรัฐบาล
**เสนอใช้มาตรา 44 ผ่าทางตัน
มีข้อมูลว่าฝ่ายรัฐบาลก็กำลังพยายามหาทางออกให้กกต.อยู่
ข้อเสนอของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน" หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปที่ประกาศสนับสนุนให้ กกต. เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 24 มีนาคมเพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อให้รัฐบาลนี้จัดงานพระราชพิธีอย่างสมบูรณ์ต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งของรัฐบาล
“ไพบูลย์” เสนอให้คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขมาตรา 171 ของกฎหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลา 150 วันให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในอนาคต
“ควรแก้ไขเขียนให้ชัดเจนว่าให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน นับจากกฎหมายประกาศใช้ และหลังจากวันเลือกตั้งให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง”
ไพบูลย์ บอกว่าคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ได้รับรองความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้แล้วเมื่อมีคำสั่ง คสช.รับรองไว้ ก็จะไม่มีผู้ใดนำประเด็นนี้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ และจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศชาติต่อไป
รอดูว่ารัฐบาลและกกต.จะหาทางออกที่ “ลงตัว” สำหรับทั้งสองฝ่าย และป้องกันการวาง “กับดักยื้ออำนาจ” ได้หรือไม่ !!
===================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
ดูคลิป