คอลัมนิสต์

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

08 ม.ค. 2562

 เปิดสถิติพร้อมรายละเอียดการเลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง พร้อมโรดแม็พแต่ละครั้ง ในยุค คสช.

 

                เนื่องจากการเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ออกไป ไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่ 6 ของช่วงรัฐบาล คสช. จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจและไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้น

                นับจากการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ของ คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ในช่วงแรกที่ คสช.บอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้มีการทำโรดแม็พไปสู่การเลือกตั้งออกมา โรดแม็พที่ทำออกมาครั้งแรก คาดว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

                ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้พูดในการแถลงข่าวหลังการหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ด้วยว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

                ต่อมามีการแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มให้มีการทำประชามติก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย จึงมีการปรับโรดแม็พการเลือกตั้งใหม่ ครั้งนั้นทำให้โรดแม็พเลือกตั้งขยายออกไปเป็นช่วงปลายปี คือประมาณเดือนกันยายน 2559 ถือเป็นการเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งครั้งที่ 1

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

                แต่แล้ว โรดแม็พถูกเลื่อนอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558

                “บวรศักดิ์” ออกมาพูดภายหลังที่รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ว่า เป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามอยู่ในอำนาจของ คสช.

                ครั้งนี้ ทาง คสช.โดย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ มือกฎหมาย ได้เขียนโรดแม็พสู่การเลือกตั้งออกมาใหม่อีกครั้ง ได้เป็น สูตร 6-4-6-4 คือ 6 เดือนร่างรัฐธรรมนูญ, 4 เดือนทำประชามติ, 6 เดือนทำกฎหมายลูก และ 4 เดือนเลือกตั้ง ออกมาเป็นว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณพฤษภาคม 2560

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

                ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมการประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 70 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ช่วงวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม 2558 นายกฯ ของไทยก็ได้กล่าวกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ด้วยว่า คาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในกลางปี 2560

                แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญออกมาจริงๆ ปรากฏว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้เพิ่มระยะเวลาในการทำกฎหมายลูกออกไปเป็น 8 เดือน จากที่วิษณุวางไว้ 6 เดือน และเวลาในการเลือกตั้งเป็น 5 เดือน จาก 4 เดือน ทำให้โรดแม็พเลือกตั้งถูกขยับออกไปเป็นครั้งที่ 3 เป็นปลายปี 2560

                แต่แล้วปลายปี 2560 ก็ไม่สามารถมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 6 เมษายน 2560 

                ครั้งนี้ทำให้โรดแม็พเลือกตั้งถูกขยับเป็นครั้งที่ 4 มาเป็นปลายปี 2561

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

                การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งต่อมา เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นเจตนาในการยื้อเวลาของฝ่าย คสช. นั่นคือการใช้ “อภินิหารกฎหมาย” ตามคำที่ “วิษณุ” เคยพูดไว้เพื่อขยายโรดแม็พเลือกตั้งด้วยการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน ออกไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

                จากที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน ก็ถูกขยับออกไปอีก 3 เดือน เป็นมีผลบังคับใช้ 11 ธันวาคม 2561 และเริ่มต้นนับหนึ่งไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วัน

                จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 จึงถูกขยับไปเป็น กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 5

                ด้วยแรงกดดันจากการเลื่อนเลือกตั้งมาหลายครั้ง บวกกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. แก้กฎหมายพรรคการเมืองจนทำให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ และส่งผลกระทบในเรื่องสมาชิกพรรค ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแต่ละพรรคหายไปมากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก 

                จนกระทั่ง คสช.ต้องเชิญพรรคการเมืองและ กกต.มาหารือ เพื่อกำหนดโรดแม็พไปสู่การเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น และมือกฎหมายเจ้าของฉายา “เนติบริกร” ก็ออกมาเขียนโรดแม็พอธิบายกันชัดๆ อีกครั้ง โดยมีการกำหนด “ตุ๊กตาวันเลือกตั้ง” ออกมาเป็น 4 วัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2562

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

                และต่อมามีการเคาะวันเลือกตั้งออกมาเป็น 24 กุมภาพันธ์

                ในการประชุม คสช. กกต. และพรรคการเมืองครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มานั่งเป็นประธานที่ประชุมเอง “วิษณุ” ได้เขียนชาร์ตแจกแจงรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งออกมาอย่างชัดเจน นับตั้งแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 2 มกราคม เรื่อยไปจนถึงวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะเป็น 9 พฤษภาคม

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

                แต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนการเลือกตั้งอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 6

                ยังไม่ชัดเจนว่าครั้งนี้จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นเมื่อไร เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลและ กกต.ยังมีความเห็นที่ต่างกัน

                ฝ่ายรัฐบาลมีการส่งสัญญาณผ่าน “วิษณุ” ว่า อยากจะได้วันที่ 24 หรือ 31 มีนาคม ซึ่งจะเป็นการขยับออกไปจากเดิมประมาณ 1 เดือน โดยวิษณุให้เหตุผลว่า หากเลือกตั้งวันที่ 24 หรือ 31 มีนาคม การประกาศผลการเลือกตั้งจะสามารถทำได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งพ้นช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปแล้ว

                แต่ กกต.ไม่สบายใจนักที่จะทำตามความต้องการของรัฐบาล จึงพยายามจะจัดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเป็น 10 มีนาคม และมีการหยิบยกข้อจำกัดเรื่องถ้อยคำในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า “ให้เลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน” นับจากวันที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้มาเป็นเหตุผล เนื่องจากมีบางฝ่ายตีความว่า “150 วัน” ดังกล่าว หมายถึงการประกาศรับรองผลเลือกตั้งด้วย ดังนั้นหาก กกต.ประกาศผลเลือกตั้งหลังพ้น 150 วัน คือ หลังจากวันที่ 9 พฤษภาคมไปแล้ว อาจจะมีผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็ได้ (อ่านต่อ..."เลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน" : กับดัก??)

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

                แน่นอน มีคนหวาดระแวงว่านี่เป็นแผน “สมรู้ร่วมคิด” ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” จะได้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปหรือไม่

                อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดการที่ กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ รัฐบาลจะต้องนำพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน 

                “วิษณุ” ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงสองครั้ง ย้ำให้เห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลในการพิจารณาว่าจะนำพระราชกฤษฎีกาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด

                ครั้งแรก หลังการเข้าพบ กกต. เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา วิษณุพูดระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษา กกต.ก็จะยังประกาศอะไรไม่ได้...ส่วนรัฐบาลจะนำพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวลงประกาศเมื่อใดนั้น รัฐบาลจะพิจารณาในส่วนของรัฐบาลอีกครั้ง”

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

                และในการให้สัมภาษณ์วันที่ 7 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล “วิษณุ” กล่าวว่า “ในอดีตเคยมีพระราชบัญญัติบางฉบับยังไม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในทันที เป็นสิทธิ์ที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมประเพณี”

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

                แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจกรองในระดับต้นก่อนว่าช่วงเวลาใดที่เหมาะสมในการเลือกตั้ง

                ทั้งนี้ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 90 วัน นับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ (11 ธ.ค.61) จากนั้นภายใน 5 วัน ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่เกิน 150 วันนับแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน

                ล่าสุดทางกรมการปกครองได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 มกราคม 2562 ถึงนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัดให้ระงับการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเลือกตั้งที่มีการแจ้งไปก่อนหน้านี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

                ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวันเลือกตั้งก็ทยอยออกมาแสดงปฏิกิริยาคัดค้านมากขึ้น

                รอดูว่าการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 6 นี้ จะเลื่อนออกไปเป็นวันที่เท่าไร แต่เบื้องต้นต้องรอดูก่อนว่ารัฐบาลจะนำพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด

 

[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!

 

====================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

ดูคลิป