ตำนาน "เงินผัน" ประชานิยมสุดคลาสสิก
ยุคหนึ่ง "พรรคกิจสังคม" ของ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุด กับนโยบายที่ชาวบ้านรัก และ รอคอย แต่ก็ไม่ถึงฝั่ง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปลายปี 2517 สภาพทางการเมือง พ.ศ.นั้น ถือว่าเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนา และขบวนการนักศึกษา ที่นิยมความคิดและอุดมการณ์สังคมนิยม
กระแสลมบูรพาแดงพัดแรง หลายพรรคจึงใช้นโยบายสังคมนิยม รัฐสวัสดิการนิยม เป็นหลักในการหาเสียงเรียกคะแนนจากประชาชน
สำหรับ “พรรคกิจสังคม” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุด เพราะได้นายธนาคารหนุ่มใหญ่นามว่า “บุญชู โรจนเสถียร” มาเป็นเลขาธิการพรรค
นโยบายของพรรคกิจสังคม มุ่งเน้นประชาชนรากหญ้าเป็นหลัก เช่น ให้ประชาชนทุกคนมีงานทำอย่างทั่วถ้วน, ปรับมาตรฐานครองชีพของประชาชนในกลุ่มรายได้ต่ำให้ขึ้นสู่ระดับปานกลางภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี, ให้ผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถเมล์ฟรี และรักษาพยาบาลฟรี
"หม่อมคึกฤทธิ์” ชูแนวคิดการเศรษฐกิจจะต้องกระจายออกจากนครหลวงไปยังชนบท หันความสนใจไปชนบทให้มากที่สุด จึงเรียกนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้ว่า “นายทุน-สังคมนิยม” หมายถึงเศรษฐกิจเสรีและกระจายโภคทรัพย์แบบสังคมนิยม
ดังที่รู้กัน หม่อมคึกฤทธิ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ในวันที่ 17 มีนาคม 2518 ซึ่งพรรคกิจสังคม มีที่นั่งในสภาเพียง 18 ที่นั่งเท่านั้น
ผลงานรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่โด่งดัง และเป็นตำนานการเมืองที่คนไทยยังจดจำไม่มีวันลืมคือ โครงการเงินผันสู่ชนบท !!
“เงินผัน” หรือนโยบายผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสร้างงานในชนบท เป็นการยกระดับทางเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง
ชาวนาพิษณุโลกกอดขาหม่อมคึกฤทธิ์ร้องขอให้ช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน
5 เมษายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอนโยบายเงินผันต่อรัฐสภาแล้ว เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคเกษตรสังคม ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาล กรณีที่จะเอาเงินคงคลังจำนวน 2,500 ล้านบาทไปใช้ในกิจการสภาตำบล โดยไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ถือเป็นการผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
25 เมษายน 2518 นายกฯ คึกฤทธิ์ สั่งแก้เกมโดยสั่งการให้มีการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และได้แถลงถึงวัตถุประสงค์ต่อสภาว่า ต้องการให้สภาตำบลได้นำเงินไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว
นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยให้ประชาชนมีงานทำบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะต่อสู้กับ “สงครามความยากจนของราษฎร” ที่กำลังผจญอยู่ โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ให้รัฐบาลใช้เงินเพื่อพัฒนาสภาตำบลไปพลางก่อน เป็นจำนวนเงิน 2,500 ล้านบาท
ฝ่ายค้านสมัยนั้น ได้ทักท้วงเรื่องการเงินคงคลังมาใช้จ่าย เพราะเงินคงคลังมีอยู่เพียง 6,900 ล้านบาท และในจำนวนนี้ เป็นเงินฝากของหน่วยราชการ 4,091 ล้านบาท จึงเหลือเงินคงคลังประมาณ 2,800 ล้านบาท
นายกฯ คึกฤทธิ์ แจกแจงว่าจะต้องใช้เงินคงคลังเพื่อการนี้จริงๆ เพียง 1,500 ล้านบาท อีก 1,000 ล้านบาท ใช้จากยอดเงินงบประมาณ ในปี 2518 ที่ตัดมาจากยอดใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็น
4 พฤษภาคม 2518 หลังจากที่พระราชบัญญัติผ่านสภาในวาระแรก สภาให้รัฐบาลจ่ายเงินไปก่อนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย รัฐบาลได้สั่งผันเงิน 2,500 ล้านสู่ชนบท ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม และผู้ดำเนินการตามโครงการของตำบลต่างๆ จะขอเงินทดรองจ่าย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการได้ 20% ทันที
วันที่สภาฯ โหวตผ่าน ร่างพรบ.เงินผัน ปี 2518
รัฐบาลคึกฤทธิ์ได้สรุปโครงการผันเงินสู่ชนบทในช่วง 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ช่วยให้สภาตำบล 5,026 แห่ง ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน คลอง ทำนบ สะพาน ฯลฯ จำนวน 41,141 โครงการ ประชาชนนับสิบล้านได้รับการจ้างงานและมีรายได้
จากการประเมินผล พบว่า ประชาชนร้อยละ 96 มีความพึงพอใจต่อโครงการเงินผันของรัฐบาล
แม้การเดินทางของนโยบายเงินผันในยุคของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาระดับหนึ่ง ทว่า รัฐบาลคึกฤทธิ์ ก็มีอายุเพียง 9 เดือนเศษ มิสามารถอยู่จนครบวาระ
สโลแกนพรรคกิจสังคม
เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้น มีกลุ่มพลังทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเกิดขึ้นมากมาย มีการประท้วงรายวัน ประกอบเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เกิดข้อขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์มากมาย หม่อมคึกฤทธิ์จึงตัดสินใจยุบสภา
โครงการเงินผันก็ยุติลงแค่นั้น เพราะรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ไม่ใช่พรรคกิจสังคม ทั้งที่รัฐบาลคึกฤทธิ์เตรียมการที่จะผันเงิน 3,500 ล้านบาทไปสู่ชนบทในงบประมาณปีต่อไปไว้ล่วงหน้าแล้ว
ด้วยความรุนแรงทางการเมือง ส่งผลให้การหาเสียงของพรรคกิจสังคม ที่ชูนโยบายเงินผันพร้อมสโลแกน “เราทำได้ และจะทำต่อไป” ไม่ประสบความสำเร็จ