นักการเมืองต้องฟัง!...เสียงดังๆ จากเว็บฮิต Change.org !
โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ช่วงนี้คนไทยกำลังอยู่ในกระแสคำถามว่า "ไปเลือกตั้งใครดี?" "พรรคไหนดี?" “นโยบายใครเจ๋งบ้าง?” หลายคนยังไม่มีคำตอบให้ตัวเองชัดๆ กับ 3 คำถามยอดฮิตนี้ เพราะไม่มีใครหรือพรรคไหนมีนโยบายที่โดนใจเอาเสียเลย!?!
แล้วจะทำอย่างไรให้เรื่องที่เราสนใจหรือนโยบายที่อยากได้ ..“ส่งเสียง” ไปถึงพรรคการเมือง?
เว็บไซต์รณรงค์ชื่อดัง "Change.org ที่ระดมรายชื่อสร้างแคมเปญเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจต่างๆ จนมีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 267 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทยมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ล่าสุดได้ออกโพลล์สำรวจความคิดเห็นคนไทยเกี่ยวกับเลือกตั้ง 2562 ที่กำลังจะมาถึงในหัวข้อ ‘YOUR VOICE:ส่งเสียงเปลี่ยนประเทศ’
โดยเปิดเป็นโพลล์สำรวจความคิดเห็นว่าผู้ใช้งานเว็บไซต์ Change.org มีความสนใจอยากให้พรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องอะไรบ้าง ถ้าได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐบาล โดยใช้ข้อความดึงดูดใจเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่า
"เราคิดว่าการส่งเสียงครั้งนี้สำคัญ เพราะไหนๆ เราก็จะได้เลือกตั้งกันแล้ว คุณคงหวัง จะได้รัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน เพราะฉะนั้นเราน่าจะส่งเสียงให้ดังกันตั้งแต่เนิ่นๆ ให้ผู้สมัครรับรู้ว่าปัญหาไหนที่เราคิดว่าสำคัญ โดยเราจะรวบรวมทุกความคิดเห็นแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ของ Change.org และนำเสนอต่อกลุ่มผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากพรรคต่างๆ เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการกำหนดนโยบายต่อไปหากได้รับเลือกเข้าไปทำงาน"
โพลล์ระดมความเห็นของ change.org ได้นำเสนอหัวข้อคำถามที่น่าสนใจในหลายประเด็นสำคัญ เช่น คำถามว่าคนไทยอยากให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแจกแจงนโยบายเวลาหาเสียงเรื่องอะไรบ้างใน 17 ประเด็น โดยให้กดเลือกได้เพียง 5 ประเด็น ได้แก่
สิทธิมนุษยชน (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเรียกร้อง) ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิง, การกีดกันบุคคลที่หลากหลายทางเพศ (LGBT), สิทธิและสวัสดิภาพของผู้พิการ, จัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน, ความเป็นธรรมทาง
กฎหมาย/กระบวนการยุติธรรม, ลูกจ้างแรงงานถูกละเมิด, พัฒนาคุณภาพการศึกษา, เศรษฐกิจ (รายได้ ปากท้อง), ความเหลื่อมล้ำทางสังคม (รวยกระจุก จนกระจาย), สิทธิและสวัสดิภาพสัตว์, ความปรองดองของคนในสังคม, ความมั่นคงของประเทศ, ความโปร่งใส คอร์รัปชั่น, สุขภาพ และปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข, ผู้ลี้ภัย, ปรับปรุงสาธารณูปโภค (ทางเท้า รถไฟฟ้า รถประจำทาง ฯลฯ), หรือถ้าใครมีประเด็นอื่นต้องการเพิ่มเติมจาก 17 ด้านข้างต้นก็สามารถเสนอได้
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเด็นด้านที่สำคัญเป็นหัวข้อย่อยให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปกดเลือกอีกด้วย เช่น ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ฯลฯ
ด้าน “สุขภาพและระบบบริการสาธารณสุข” มีประเด็นที่เสนอเป็นหัวข้อให้กดเลือก ว่ามีความสำคัญมากที่สุดและอยากให้รัฐบาลสมัยหน้าแก้ไขคือ เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์, เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน เช่น โรงพยาบาลชุมชน, จัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยาเกินจริง ผู้บริโภคถูกหลอกลวง, ระบบเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ โดยไม่ต้องฟ้องหมอ หรือโรงพยาบาล, ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล มีระบบราคากลางสำหรับโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน, ระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสิทธิ์ (บัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ) ไม่มีความเหลื่อมล้ำ, สิทธิการเข้าถึงยาที่จำเป็นสำหรับโรคร้ายแรง, พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการรักษาพยาบาล และการแพทย์ฉุกเฉิน
ด้าน “การศึกษา” มีประเด็นที่เสนอเป็นหัวข้อให้กดเลือกดังนี้ ปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย, เพิ่มปริมาณคุณครูคุณภาพ, ต่อยอดเรียนฟรี (ปัจจุบันเรียนฟรี 12 ปี จากอนุบาล 1-ม.3), ลดภาระครู คืนครูสู่นักเรียน, เน้นการเรียนรู้เพื่อชีวิต มากกว่าการสอบวัดระดับ, กลไกตรวจสอบการใช้งบประมาณของโรงเรียนต้องโปร่งใส, โภชนาการที่ได้มาตรฐานในโรงเรียนทุกระดับ, จริงจังกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ส่วนด้าน “สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและความยั่งยืน” มีประเด็นที่เสนอเป็นหัวข้อให้กดเลือก คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน, น้ำท่วม การจัดการทรัพยากรน้ำ, มลพิษทางอากาศ PM2.5 (ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจและกระแสเลือด), โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เขื่อน ท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ประเด็นเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ดิน, สวัสดิภาพสัตว์และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
เห็นได้ว่าด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในหัวข้อที่คนไทยมีความสนใจเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวจำนวนมาก เช่น หัวข้อ "เราช่วยกันได้ครับ#เสือดำต้องไม่ตายฟรี" มีผู้ไปร่วมลงชื่อสนับสนุนถึง 1.6 แสนคน และในหัวข้อ “กรณีของเสือดำที่ [ร่วมกันบอยคอตบริษัทอิตาเลียนไทย] คดีล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวรของประธานบริษัท 6 ข้อหา” มีผู้ไปร่วมลงชื่อสนับสนุน 9.3 หมื่นคน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับการเมือง เนื่องจากปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสัดส่วนผู้หญิงเพียงร้อยละ 5 จึงมีคำถามว่าคนไทยอยากเห็นสัดส่วนของผู้หญิงเพิ่มขึ้นหรือไม่? มีตัวเลือกจำนวน 6 ข้อ ได้แก่เพิ่มขึ้นให้ถึง 10%, เพิ่มขึ้นให้ถึง 20%, เพิ่มขึ้นให้ถึง 30%, เพิ่มขึ้นให้เกิน 51%, หรือเท่านี้ก็ดีอยู่แล้ว, ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
มีการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในหลากหลายมิติที่อยากให้พรรคการเมืองนำมาทำเป็นนโยบายพรรคเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ได้แก่ ท้องไม่พร้อม แม่วัยใส ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และที่สาธารณะ การนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงผ่านสื่อ เช่น ความรุนแรงต่อผู้หญิง มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ฯลฯ, แนวทางการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง และการฟื้นฟูให้กลับสู่สังคม แก้ปัญหาผู้หญิงติดคุกจำนวนมาก ปฏิรูปตำรวจ เพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง เพื่อให้ผู้ถูกกระทำทางเพศเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น ยกระดับความสามารถผู้หญิงให้เป็นผู้นำในทุกมิติ รวมทั้งในที่ทำงาน โครงการเชิงสวัสดิการและเศรษฐกิจให้แก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงสูงอายุ
เว็บไซต์ change.org ยังรวบรวมแคมเปญรณรงค์ที่มีผู้สนใจเข้ามาร่วมลงชื่อสนับสนุนเกิน 2 หมื่นคน ในช่วงระหว่างปี 2560-2561 เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าคนไทยมีความสนใจหรือให้ความสำคัญในปัญหาเรื่องอะไรบ้าง โดยคัดเลือกมาทั้งหมด 12 เรื่อง เพื่อให้ร่วมลงคะแนนอีกครั้งว่าหัวข้อไหนสำคัญมาก ได้แก่
ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ปิดถนนขึ้นเขาใหญ่ช่วงกลางคืน ลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า ลดระดับบุหรี่ไฟฟ้าจาก “สินค้าต้องห้าม” เป็น “สินค้าควบคุม” เพิ่มบทลงโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตายให้เท่ากับเจตนาฆ่าคนตาย หยุดการหลอกให้จ่ายค่าบริการ SMS ผ่านค่ายมือถือ ขอให้ภาครัฐงดทำสัญญากับบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย และบริษัทที่ไร้ธรรมาภิบาล ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าปรับจราจรให้ตำรวจ อยากให้ห้างร้าน (เช่น 7-11 TescoLotus Big C) คิดเงินค่าบริการถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะ ยกเลิกสอบเข้า ป.1 ขอคัดค้านไม่ให้ กทม. มาบริหารจัดการหอศิลป์กรุงเทพ#freebacc, ลดปริมาณโซเดียมลง 10% ในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อภายในปี 2562 เปิดเสรีทรงผมนักเรียนไทย
การร่วมลงชื่อเสนอนโยบายที่ประชาชนอยากได้ผ่านทางเครือข่ายเวบไซต์และสื่อสังคมออนไลน์นั้น สามารถใช้ได้ผลในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปในบางประเทศ หากมีผู้มาร่วมลงชื่อจำนวนมากในหัวข้ออะไร นักการเมือง รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะไม่นิ่งเฉย แต่รีบนำมาจัดการแก้ไขหรือทำตามข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วน
เช่น ในประเทศอังกฤษ ถ้าประเด็นไหนมีการล่ารายชื่อหรือร่วมลงนามร้องเรียนผ่านแคมเปญรณรงค์ในสื่อออนไลน์แล้วรวบรวมผู้ลงชื่อสนับสนุนเกิน 10,000 คน เรื่องเหล่านี้จะถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาจัดการทันที ส่วนฝั่งประเทศอเมริกาก็มีการเปิดช่องทางออนไลน์ในชื่อว่า “We the People” รองรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ถ้าแคมเปญหรือหัวข้อไหนมีผู้สนับสนุนเกิน 1 แสนคนภายใน 30 วัน เรื่องนั้นจะถูกนำไปพิจารณาและรายงานผลสรุปความคืบหน้าออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน
วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ Change.org ประเทศไทยให้เล่าถึงเบื้องลึกของหัวข้อการรณรงค์นี้ว่า วิธีการคัดเลือก “หัวข้อ” และ “ตัวเลือกในแต่ละหัวข้อ” นั้น มาจากเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาร่วมลงชื่อในเว็บไซต์
"ปกติหัวข้อจะมีหลากหลายมาก เราพยายามจับกลุ่มที่ใกล้เคียงกันและนำแตกรายละเอียดลงไปอีกหน่อยสำหรับประเด็นที่กว้างมาก เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษา โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมาว่าช่วยกันคิดว่ามีประเด็นหลักอะไรบ้างที่คิดว่าสำคัญ หรือพบบ่อยจากประสบการณ์การทำงาน"
ทีมงานจะนำผลสำรวจที่ได้นี้ส่งไปให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อนำไปอธิบายแจกแจงตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก หรือจะมีนโยบายชัดเจนอย่างไรในการลงมือทำงานในเรื่องนี้อย่างจริงจังหากได้รับการชนะเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส.
“เรามองว่าการส่งเสียงของผู้ใช้เว็บไซต์ครั้งนี้สำคัญ เพราะนอกจากเป็นการสื่อสารให้ผู้สมัครได้รับรู้ว่าปัญหาไหนที่ประชาชนคิดว่าสำคัญแล้ว ยังเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการตัวแทนที่รับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และมีภาระรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้ามา ส่วนการตอบรับของผู้สมัครก็จะเป็นการแสดงท่าทีเช่นกันว่า นักการเมืองเปิดกว้างพร้อมรับฟังเสียงประชาชนแค่ไหน ใครคือผู้แทนยุคใหม่ที่จริงจังต่อการทำงานตามที่สัญญาไว้ และมีความจริงจังและโปร่งใสกับการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงแค่ไหนด้วย”
พร้อมยกตัวอย่างนักการเมืองที่ฟังเสียงประชาชนจนประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งว่า
Change.org ที่ประเทศฝรั่งเศสเคยทำแบบสำรวจความคิดเห็นลักษณะนี้ช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2560 เพื่อชวนให้ผู้สมัครมาสร้างโปรไฟล์และสามารถตอบสนองข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ประชาชนส่งถึงตัวเองได้โดยตรง โดยบทสนทนาทั้งหมดอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้และส่งตรงถึงทุกคนที่ลงชื่อในเรื่องรณรงค์นั้นๆ ปรากฏว่าโปรเจกท์นี้ได้รับการตอบรับจากผู้ลงสมัครเป็นอย่างดี เพราะนักการเมืองต้องการเสนอตัวว่าเป็นผู้รับฟังเสียงและรับผิดชอบต่อประชาชน
"หนึ่งในผู้มาสร้างโปรไฟล์ก็คือ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน หลังได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ยังเข้ามาตอบข้อเรียกร้องบนแคมเปญรณรงค์ต่างๆ เราก็หวังจะเห็นภาพการสื่อสารสองฝั่งแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง โดยมีโปรเจกท์ Your Voice นี้เป็นจุดเริ่มต้น" วริศราในฐานะตัวแทน Change.org ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง
ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ในปัจจุบัน ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ยูทูบ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นตัวช่วยขจัดช่องว่างหรือความเหินห่างระหว่างการส่งเสียงจาก “ราษฎร” ไปถึง “ผู้แทนราษฎร” อยู่ที่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการนำ “เสียง” เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แค่ไหนกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ที่สำคัญคือ “เสียงสัญญา” ที่ให้แก่ประชาชนจะไม่กลายเป็นแค่ลมปากลอยๆ เพราะสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยประชิดติดตามตรวจสอบว่า ทำได้จริงตามที่พูดแค่ไหน!?!
“การส่งเสียงของผู้ใช้เว็บไซต์ครั้งนี้สำคัญ เพราะนอกจากเป็นการสื่อสารให้ผู้สมัครได้รับรู้ว่าปัญหาที่ประชาชนคิดว่าสำคัญแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการตัวแทนที่รับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ” "วริศรา ศรเพชร"