เลื่อนเลือกตั้ง...เกมเปลี่ยน
สำรวจเกมที่เปลี่ยนไป หลังมีการเลื่อนเลือกตั้งอีกครั้ง
แม้ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งออกมาชัดๆ แต่สถานการณ์การเมืองเข้มข้นขึ้นอย่างชัดเจน
**รัฐบาลกุมความได้เปรียบ
แม้การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะทำให้ทุกพรรคมีเวลาตั้งหลักเตรียมตัวกันมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่ได้เปรียบที่สุดคือฝ่ายรัฐบาล
เหตุผลแรกของความได้เปรียบ คือ การที่รัฐบาลจะได้อยู่ในอำนาจยาวนานขึ้น และเมื่อคนในรัฐบาลมีฐานะเป็น “คู่แข่ง” ในสนามเลือกตั้งด้วย คือ 4 รัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ที่อาจจะอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ
สองเนื่องจากรัฐบาลมีหน้าที่ในการนำพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จุดเริ่มต้นที่จะทำให้ กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ โดย “วิษณุ เครืองาม” ย้ำถึงอำนาจของรัฐบาลในการพิจารณาว่าจะนำพระราชกฤษฎีกาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงใดรัฐบาลจึงย่อมสามารถกำหนดช่วงเวลาที่เป็นไปตามความต้องการได้มากที่สุด
เช่น แม้ว่ากกต.ต้องการจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม เพื่อจะประกาศผลเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลัง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ตราบใดที่ยังไม่การประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
แน่นอนดูเหมือนรัฐบาลตั้งใจให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในช่วงที่ทำให้กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งช้าออกไปเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคม
**เรียกร้องกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน
เนื่องจากความไม่ชัดเจนในเรื่องวันเลือกตั้งที่ต้องเลื่อนออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้มีกระแสเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ด้านหนึ่งเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 5 ครั้ง
(อ่านต่อ...[EXCLUSIVE] เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!)
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันไม่ให้มีการเลื่อนเลือกตั้ง ล่าสุดได้ถอยข้อเรียกร้องจากเดิมที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เหมือนเดิม เป็นให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายในวันที่ 18 มกราคมนี้ เพื่อให้กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 10 มีนาคม ไม่เช่นนั้นจะมีการยกระดับการชุมนุม จากเดิมชุมนุมที่แยกราชประสงค์เป็นชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
รัฐบาลไม่ได้ออกมาตอบโต้กลุ่มดังกล่าว แต่เป็น “ฝ่ายความมั่นคง” ที่ออกมาแสดงท่าทีต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว ตั้งแต่โฆษกคสช. ไปจนถึง ผบ.ทบ. “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์”
หลังจากที่ให้สัมภาษณ์ตำหนิคนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ว่าต้องการให้เกิดความวุ่นวาย จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแสดงความเห็นดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์เตือนฝ่ายการเมืองและกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “อย่าล้ำเส้น”
“กรุณาให้เกียรติเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ไปดูหมิ่นดูแคลนซักไซ้ไล่เรียงเจ้าหน้าที่ที่เขามาติดตาม และอำนวยความสะดวกเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่จำเป็นจะต้องไปแนะนำตัวกับฝ่ายการเมือง” ผบ.ทบ.กล่าว ที่ก่อนหน้านี้เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ไปติดตามทีม “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงที่ต่างจังหวัดและคุณหญิงเข้ามาสอบถามว่ามาจากหน่วยไหน
(อ่านต่อ..."บิ๊กแดง"เตือนอย่าล้ำเส้น ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่)
**การเมืองตะลุมบอน “ทักษิณ” โผล่ หวังเพื่อไทยแลนด์สไลด์
แม้จะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปแต่ชัดเจนว่าทุกพรรคก็ใส่เกียร์เดินหน้า ลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างเต็มที่
ในส่วนพรรคเพื่อไทย “คุณหญิงสุดารัตน์” เดินหน้าเต็มสูบลงพื้นที่โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา ทำให้เกิดภาพชัดเจนว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” คือ “ตัวจริง” ที่จะไปชิงตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้ง
แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสว่า “ชัชชาติ สัทธิพันธุ์” อาจจะมาอยู่อันดับหนึ่งในบัญชีนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแทน “คุณหญิงหน่อย” แต่ถึงตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า “ชัชชาติ” คงเป็นแค่ 1 ใน 3 ชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคเท่านั้น
ขณะเดียวกันการประกาศส่งเสียงผ่านรายการ “Good Monday” ทุกวันจันทร์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ถือเป็นอีกจุดที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง
รัฐธรรมนูญเขียนห้าม “บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง” มายุ่งเกี่ยว มีอิทธิพลกับพรรค พูดง่ายๆ คือห้าม “ทักษิณ” มายุ่งกับพรรคเพื่อไทย สกัดการเอาทักษิณมาหาเสียงเหมือนที่ผ่านมา การโผล่มาจัดรายการของทักษิณ มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากหาช่องมาช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย
เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องได้เสียงถล่มทลายรวมกับพรรคต่างๆ แล้วได้เสียงเกิน 375 คือ เกินครึ่งหนึ่งของส.ส.และส.ว.รวมกัน เป็นทางเดียวที่เพื่อไทยจะสามารถเป็นรัฐบาลได้
ส่วนพรรคไทยรักษาชาตินั้น ช่วงหลังกระแสจะแผ่วไป ซึ่งคนในพรรคยอมรับว่าในทางปฏิบัติ “ไม่ใช่เรื่องง่าย” ที่จะเดินเกมสองขาแบ่งพื้นที่กับเพื่อไทย อย่างไรก็ตามก็เปิดทางให้เพื่อไทยเดินเกมได้เต็มที่เป็นหลัก
**ประชาธิปัตย์สลัดคสช.-นักการเมืองโกง ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ซุ่มเงียบ
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ด้านหนึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็พยายามแสดงจุดยืนเพื่อสลัดชนักการเป็นพรรคหนุนคสช.ด้วยการแสดงท่าทีไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคสนับสนุนคสช. แต่อีกด้านก็รักษาระยะห่างกับฝั่งพรรคเพื่อไทยไว้เพื่อดันประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นพรรคทางหลัก
“ประชาธิปัตย์ขอเป็นคำตอบที่ดีกว่าเผด็จการที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ หรือนักการเมืองขี้โกงที่สร้างความเสียหายให้ประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน” ข้อความที่อภิสิทธิ์ พยายามจะสื่อสารออกไป
(อ่านต่อ..."อภิสิทธิ์" สลัดชนัก หนี "พรรคต่ำร้อย")
ส่วนพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนานั้นเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงเก็บคะแนนไปแบบเงียบๆ ไม่เล่นเกมวิพากษ์วิจารณ์ใคร ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย คสช. หรือฝ่ายอื่น
เป็นที่รู้กันดีว่าในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งสองพรรคนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ใครก็อยากได้
**รัฐบาลหลังเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” ชิล
สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ “อำนาจต่อรอง” ของฝ่ายคสช.จะมากขึ้นไปอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล
ปัจจัยเดิมที่เป็นความได้เปรียบของฝ่ายคสช. คือการมี ส.ว. 250 เสียงตุนอยู่ในกระเป๋า ขณะที่อีกฝ่ายนับจำนวนมือที่จะมาโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งเริ่มต้นที่หนึ่ง
ฝ่ายหนุนคสช. ที่จะดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ตอนนี้ที่แน่ๆ มี 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และมีพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” มาเป็นตัวเสริม
ฝ่ายนี้มีตัวเลขเป้าหมายที่ 126 เสียง เพื่อไปรวมกับ ส.ว.แล้วได้เสียงเกินครึ่ง ซึ่งจะสกัดไม่ให้อีกฝั่งตั้งรัฐบาลได้
หากเป็นตามรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องมีการเลือกนายกฯ ภายใน 30 วันนับแต่เปิดสภาครั้งแรก แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีเงื่อนไขนี้ มีเงื่อนไขเพียงให้ประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการประกาศผลเลือกตั้งเท่านั้น
นั่นคือหากพรรคพลังประชารัฐยังไม่สามารถรวบรวมเสียงจนเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องเลือกนายกฯ ยังไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐบาล แต่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ต่อไปได้ไม่มีกำหนด
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้คสช.อยู่จนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่
นั่นหมายถึงหากยังไม่มีการตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯ ต่อไป และยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ในมือ
นี่เป็นอีกช่องทาง “อภินิหารกฎหมาย” ที่มีการวางไว้สำหรับ “เกมหลังเลือกตั้ง”
นอกจากจะไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย สุดท้ายอาจได้เห็นรัฐบาลเสียงมากเป็นพิเศษด้วยซ้ำ
(อ่านต่อ..."อภินิหารกฎหมาย" ยื้อเลือกตั้ง...ได้ถึงไหน?)
**จับตา “บิ๊กตู่” เปลี่ยนใจ
อย่างไรก็ตามสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ตราบใดที่ยังไม่ตัดสินใจชัดๆ ว่าจะมาอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ก็ถือว่ายังมีทางเลือกอยู่ นั่นคือเอาตัวออกจากเกมการแข่งขันชั่วคราวไม่อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรค แต่รอ “ก๊อกสอง” คือหากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ก็ใช้เสียงสองในสามโหวตยกเว้นข้อบังคับให้เลือก “คนนอก” มาเป็นนายกฯ
ทางนี้จะช่วยให้ “บิ๊กตู่” เบาตัวในช่วงแรก แต่ก็มีความเสี่ยงว่าอาจจะไม่ได้กลับมา เพราะฝ่ายการเมืองตกลงกันได้ตั้งแต่ก๊อกแรก หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ “คนนอก” ที่จะมาก็อาจจะเป็นคนอื่น
ทั้งหมดคือเกมที่เปลี่ยนไปหลังมีการเลื่อนเลือกตั้งอีกครั้ง !!
====================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์