"เลื่อนเลือกตั้ง-หลุมดำการเมือง"
โดย... ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น
สิ่งที่แน่นอน คือ ความไม่แน่นอน กับปรากฏการณ์ที่คอการเมืองเฝ้าจับตา สิ่งที่แน่นอน คือ “การเลือกตั้ง” ต้องเกิดขึ้นในปี 2562 ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้
ตามที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ยืนยันว่า การเลือกตั้งต้องเกิดแน่นอน ภายใน 150 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีผลบังคับใช้ คือ ก่อน 9 พฤษภาคมนี้
แต่สิ่งที่ไม่แน่นอน คือ ห้วงเวลาที่รอคอยนั้น จะเกิดขึ้น ณ วันที่ใด เดือนไหน แม้จะประกาศไปยกแรก ว่า 24 กุมภาพันธ์ ปีนี้ แต่มีโจทย์อีกอย่าง ที่กำลังรอว่าจะเปลี่ยนเป็น 24 มีนาคม หรือไม่ แล้วอะไรคือ ปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนนั้น
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา เพื่อกะเทาะโจทย์ที่ทำให้ วันเลือกตั้งไม่แน่นอน ในหัวข้อ “เลือกตั้ง 62 ? ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง” ผ่านมุมมองของนักวิชาการที่จับตามองสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด ซึ่งมองในทิศทางเดียวกันว่า หากวันเลือกตั้งจะเลื่อน เพราะสิ่งที่เกิดตามกฎหมาย และหากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นเลย ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิด คือ ใช้อำนาจ หัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรองรับการใช้อำนาจนั้น
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ในมุมทางประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง หลังจาก “รัฐประหาร” ว่า ไม่เคยมีคณะรัฐประหารชุดใด ประสบความสำเร็จหลังการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถควบคุมประชาชนที่ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นจึงอาจเป็นอีกสาเหตุที่ “คสช.” ต้องการเลื่อนเลือกตั้ง
“วันที่ 24 มีนาคม ที่คาดว่าจะเป็นวันเลือกตั้งใหม่ หากจริง ยังถือว่าอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะเกิดจริงหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง หากภายในสัปดาห์นี้ยังไม่เห็น ถือว่าน่ากลัว และหากวันเลือกตั้งเลื่อนจาก 24 มีนาคมจริง เชื่อว่าวันเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปอีกยาว”
เมื่อวันเลือกตั้งต้องเลื่อนยาวจริง สิ่งที่สังคมการเมืองซุบซิบกันคือ เลื่อนไปจนเกินกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เลือกตั้งภายใน 150 วันหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ หรือมีเส้นตายวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่ง “อ.ประจักษ์” ชี้ว่า ถือเป็นเรื่องที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยอภินิหารของกฎหมายและการเมือง อย่างมาตรา 44 บวกกับกลไกทางการเมืองและอื่นๆ อาจทำให้เป็นจริงได้
และหากเป็นจริงตามมุมมอง สิ่งที่น่ากลัวตามคำสะท้อนของ “นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” คือจะเกิดหลุมดำทางการเมือง รัฐธรรมนูญไร้ความหมาย และกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่า จะใช้หลักการอะไรเพื่อรองรับการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะไม่มีกติกาใดๆ มารองรับว่า จะเลือกตั้งภายในกรอบเวลาเท่าใด มีหลักเกณฑ์อะไร หากใช้มาตรา 44 กับการเลือกตั้ง เท่ากับว่า เกิดภาวะความไร้นิติรัฐ และภาพการเมืองหลังจากนั้นจะเต็มไปด้วยความอึดอัด เพราะทุกฝ่ายตั้งใจให้การเลือกตั้งเป็นทางออกจากความบอบช้ำที่เกิดเพราะความขัดแย้งรุนแรงในอดีต
ทางด้าน “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า” มองเช่นเดียวกันว่า โจทย์เลื่อนเลือกตั้งจากที่คาดการณ์ว่าจะเกิดในวันที่ 24 มีนาคม ย่อมเกิดขึ้นได้ แม้จะใช้การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพราะอาจใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร และอาจไม่เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2562 แต่สิ่งที่กรอบของมาตรา 44 จะทำให้ได้เร็วกว่านั้นคือ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นมาตราว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
นอกจากสิ่งที่คาดการณ์ว่า “วันเลือกตั้ง” จะเลื่อนแล้ว ปัจจัยที่จะทำให้เกิดกลไกนั้นได้ “อ.สติธร” ยังชี้ว่าอยู่ที่ “ค่ายกลทางการเมือง” ซึ่งซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว
“การออกแบบระบบเลือกตั้ง ไม่ว่าสมัยไหน หรือประเทศไหน ย่อมออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ในประเทศไทยตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตามกระแสโลกยังต้องการเลือกตั้งแบบเขต เพื่อตอบโจทย์เชิงพื้นที่ ได้ตัวแทนประชาชนทำงานในสภา และมีเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อตอบโจทย์สังคมพหุนิยม ได้ตัวแทนจากคนที่หลากหลาย นอกจากนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญยุคนั้นที่ต้องการแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ จึงต้องการได้รัฐบาลผสม เพื่อให้เกิดการต่อรองอำนาจ มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ ได้พรรคใหญ่เพียงพรรคเดียวที่ชนะเลือกตั้ง ขณะอีกพรรคที่คาดหวังให้สลับบทบาท กลายเป็นผู้แพ้”
ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ออกแบบให้การเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้สมัครพรรคเดียวได้ต่างหมายเลขเมื่ออยู่ต่างเขต จุดเน้นของผู้ร่างฯ คือ ต้องการให้การเลือกตั้งและการออกไปลงคะแนนเสียงให้ความสำคัญกับตัวบุคคล และลดทอนกระแสพรรคการเมือง
แต่การสร้างอภินิหารรูปแบบนี้ “อ.สติธร” ชี้ว่า คือ การสร้างอภินิหารบนศาสตร์และศิลป์ที่ไม่ครบถ้วน เพราะขาดการสร้างกระบวนการเรียนรู้
“เพราะติดมายาคติของผู้ร่างฯ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าการออกแบบระบบเลือกตั้ง ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้โดยอัตโนมัติ หรือเปลี่ยนได้ทันที โดยหลักวิชาการมองว่าพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเริ่มจากสร้างแนวคิด ทัศนคติ และวิธีคิดของประชาชนต่อมุมมองทางการเมือง ผ่านกระบวนการเรียนรู้”
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ถึงโอกาสเลื่อนเลือกตั้ง จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม จะเกิดขึ้นได้ หากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกินเดือนมกราคมนี้ และโอกาสที่จะเลื่อนออกไป ที่หลายฝ่ายมองว่า ไปเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม หรือเกิน 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนด ย่อมมีความเป็นไปได้
“เพราะอภินิหารของ มาตรา 44 ที่เป็นยาแก้ปวดทางการเมือง แต่การใช้อำนาจนี้ อาจถูกตั้งคำถาม เพราะศักดิ์ของมาตรา 44 อยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่หากไม่ใช้มาตรานี้ มีอีกทางคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แม้บทว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 สนับสนุน แต่ในยุคที่รัฐสภามีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีผู้ควบคุม หากจะใช้ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
แม้โอกาส “เลื่อนเลือกตั้ง” มีขึ้นได้ตามมุมมองของ“รศ.ดร.สิริพรรณ” แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการเตรียมการเลือกตั้ง โดย “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” เริ่มเดินหน้าผ่านการออกระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง
ซึ่งระเบียบที่ กกต.วางไว้เพื่อกำกับการหาเสียงเลือกตั้ง “นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ชี้ว่ามีหลายประเด็นที่ทำให้ศิลปะของการหาเสียงเปลี่ยนไป และดูเหมือนเป็นความพยายามลดโอกาสเข้าถึงประชาชนฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
“หากไม่นับว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ถูกอำนาจรัฐใช้ช่องทางตามกฎหมายดำเนินคดีกับผู้บริหารของพรรคการเมืองแล้ว ในระเบียบของ กกต. ยังออกระเบียบที่เหมือนเป็นข้อจำกัด ทั้งกรณีให้ลงทะเบียนผู้ช่วยหาเสียง จำกัดเพียง 20 คนต่อผู้สมัครหนึ่งคน, ลงทะเบียนรถหาเสียง, จำกัดการแนะนำตัวผ่านบัตรแนะนำตัวผู้สมัคร, ติดป้ายหาเสียงที่ต้องอยู่ในกรอบจำกัด ถือว่าเป็นการลดโอกาสที่ประชาชนจะรู้จักผู้สมัคร ส.ส. และทำลายความสวยงามศาสตร์และศิลป์ของการจัดการเลือกตั้ง”
และภายใต้ข้อจำกัดที่ “นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มอง กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนมุมมองว่า กติกาที่กำหนดใหม่ ทำให้ “ใคร” ได้เปรียบหรือเสียเปรียบต่อการเลือกตั้งรอบนี้หรือไม่
“กติกาใหม่ คนที่ได้เปรียบคือ พรรคที่มีเจ้าของพื้นที่ มีฐานเสียง และพรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ เพราะประชาชนรู้จัก ขณะที่พรรคเกิดใหม่เสียเปรียบ เพราะลดโอกาสประชาชนได้รู้จักกับผู้สมัคร และพรรคที่จัดตั้งใหม่ แต่กรณีนี้อาจใช้ไม่ได้กับบางพรรคที่เกิดใหม่ ที่ใช้ชื่อพรรคสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล และได้เปรียบเมื่อนโยบายประชารัฐถูกประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน”
กับประเด็น “การเลือกตั้ง” ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน สิ่งที่ “อ.สิริพรรณ” มองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์ได้คือ เคารพเจตจำนงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกให้พรรคไหนชนะเลือกตั้ง ต้องได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล แต่หากกลไกดังกล่าวถูกบิดพลิ้ว อาจกลายเป็นภาพสยองขวัญทางการเมืองได้