สูตรรัฐบาล-นายกฯ "การเมือง 3 ก๊ก"
จากสภาพการเมือง 3 ก๊ก โอกาสที่ลำพังก๊กใดก๊กหนึ่งจะตั้งรัฐบาลได้เองแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นสูตรรัฐบาลจะเป็น 4 สูตร
วันนี้ (4 ก.พ.) จะเป็นวันแรกของการเปิดรับสมัครส.ส. สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้
จากพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด 106 พรรค ล่าสุดมี 41 พรรค ที่สามารถส่งผู้สมัครได้ แบ่งเป็นพรรคเก่า คือพรรคที่ตั้งตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 จำนวน 16 พรรค และพรรคใหม่ที่ตั้งตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จำนวน 25 พรรค
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครส.ส.เขตแต่ละคนที่ไปถึงที่สมัครก่อนเวลาจะต้องมีการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ตามกติกาใหม่ จะไม่ใช่พรรคเดียวเบอร์เดียวทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา
มองข้ามช็อตไปหลังเลือกตั้ง เพื่อวิเคราะห์กันว่าใครจะจับมือใครเป็นรัฐบาล และใครจะมีโอกาสเป็นนายกฯ บ้าง
สภาพการเมืองวันนี้แม้มีความพยายามสร้างกระแสให้เป็นการต่อสู้ของ 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” หรือฝ่ายหนุนคสช. แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่เป็นการเมือง 2 ขั้วอย่างชัดเจน ยังคงมีบางพรรคที่ไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายไหน และบางพรรคที่แสดงท่าทีว่าพร้อมจะร่วมงานกับฝ่ายไหนก็ได้
การเมืองวันนี้จึงมีสภาพเป็น “3 ก๊ก” และน่าจะคงสภาพนี้ไปจนกว่าจะผ่านวันเลือกตั้ง
ก๊กแรกฝ่าย คสช.
ก๊กนี้ชัดเจนว่าหนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯคนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช. ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง
ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
พรรคแรกเพิ่งไปทำพิธี “สู่ขอ” พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า “บิ๊กตู่” จะบอกว่ายังไม่ตัดสินใจ แต่ในงานเปิดตัวผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็มีการขึ้นรูป พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดใหญ่ในงาน
ทุกอย่างเป็นไปตามข่าวคราวและการคาดการณ์ที่ออกมาตั้งแต่ต้น
ส่วนอีกสองพรรคประกาศว่าจะไม่ส่งบัญชีนายกฯ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ขณะที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยเพิ่งบอกเมื่อไม่นานมานี้ว่าพรรคจะไม่ส่งบัญชีนายกฯ
แม้ “สุเทพ” ยังไม่บอกว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่ใครๆ ก็น่าจะมองออก
ก๊กที่สองคือพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือฝ่ายไม่เอา คสช.
ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ที่แตกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ
บัญชีนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมี 3 รายชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ โดยพรรคย้ำว่าไม่มีการจัดลำดับทั้ง 3 ชื่อดังกล่าว เมื่อถึงเวลาทางพรรคจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะส่งใครไปชิงตำแหน่งนายกฯ เป็นกลยุทธ์ในการดึงคะแนนของพรรค โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนให้ “ชัชชาติ” เป็นนายกฯ
พรรคไทยรักษาชาติ ยังไม่มีการเคาะชื่อบัญชีนายกฯ แต่ที่จะอยู่ในบัญชีแน่ๆ คือ “จาตุรนต์ ฉายแสง”
พรรคอื่นแม้บางพรรคจะเสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ เต็มโควตา 3 คน แต่ไฮไลท์ก็อยู่ที่หัวหน้าพรรค ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พรรคเสรีรวมไทย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” พรรคประชาชาติไทย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” พรรคเพื่อชาติ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์”
นั่นหมายถึงแคนดิเดตนายกฯ จากก๊กนี้จะมีเป็นสิบ
ก๊กที่สาม คือพรรคตัวแปร ยังไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ฝั่งไหนแน่ บางคนเรียก “ฝ่ายกั๊ก”
ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา
สามพรรคแรกประกาศชัดเจนแล้วว่าจะส่งหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวอยู่ในบัญชีรายชื่อคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุทิน ชาญวีรกูล และกัญจนา ศิลปอาชา
ส่วนพรรคชาติพัฒนา ต้องรอดูว่าจะส่ง “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษาพรรคเข้าประกวดหรือไม่
ถามว่าสูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรได้บ้าง และใครมีโอกาสได้เป็นนายกฯ บ้าง?
ถึงแม้การเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี 250 ส.ว.ที่มาจากการเลือกของคสช.มาร่วมโหวตด้วย แต่ถึงที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องคิดจากเสียง ส.ส. 500 คนเท่านั้น
พรรคที่จะเป็นรัฐบาลได้จะต้องรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงขึ้นไป ถ้าจะให้ปลอดภัยแน่ๆ ก็ต้องเกือบๆ 300 เสียง
ดูจากตัวเลขส.ส.ที่คาดว่าแต่ละพรรคจะได้รับ โอกาสที่ลำพังก๊กใดก๊กหนึ่งจะตั้งรัฐบาลได้เองแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นสูตรรัฐบาลจะเป็น 4 สูตร ดังนี้
สูตรหนึ่ง พลังประชารัฐได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสอง เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล จะต้องไปดึงก๊กอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการดึงก๊กสามคือพรรคตัวแปรมาร่วมย่อมง่ายกว่าดึงก๊กสองคือเพื่อไทยและแนวร่วม
ถ้าทำได้ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ
สูตรสอง ก๊กสองและก๊กสามจับมือกันตั้งรัฐบาลทิ้งให้ก๊กหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน สูตรนี้คนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ จะมีทั้ง สุดารัตน์หรือ ชัชชาติ อภิสิทธิ์ จาตุรนต์ และอนุทิน ขึ้นอยู่กับตัวเลขที่แต่ละพรรคจะได้มา
สูตรสาม ก๊กสองคือเพื่อไทยและแนวร่วมได้เสียงมาเกินครึ่ง คือเกิน 250 เสียง หากเป็นแบบนี้พรรคตัวแปรอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา จะวิ่งเข้าหาทันที นายกฯ ก็อาจจะเป็น สุดารัตน์ ชัชชาติ จาตุรนต์ หรือหากเพื่อไทยและแนวร่วมได้เสียงไม่เต็ม 250 โอกาสก็อาจจะเป็นของ “อนุทิน”
สูตรสี่ สูตรที่รัฐบาลจะมีเสียงมากพิเศษอาจไม่ถึง “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ทุกพรรคมาร่วมกัน แต่อาจจะเรียกได้ว่า “สูตรปรองดอง” สูตรนี้ถ้าจะมีพรรคฝ่ายค้านก็น่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่
คนจะเป็นนายกฯ อาจเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” หรือถ้าเพื่อไทยและแนวร่วมรับไม่ได้ก็อาจจะดันไปเป็นสูตร “นายกฯคนนอก” หรือนายกฯ นอกบัญชีที่แต่ละฝ่ายจะยอมรับกันได้มากขึ้น
สุดท้ายจะเป็นสูตรไหน ใครนายกฯ รอเลือกตั้ง 24 มีนาคม ก่อน !!
===================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
ดูคลิป