วาทกรรมเทพ-มาร จุดอ่อน "ประชาธิปไตยไร้เดียงสา"
คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง
นักวิชาการหลายสำนัก พยายามจะเปรียบเทียบให้การเลือกตั้ง 2562 เหมือนการเลือกตั้ง 2500 เปรียบเทียบพรรคพลังประชารัฐให้เหมือนพรรคสหประชาไทย
ประวัติศาสตร์มีให้ศึกษา เรียนรู้ แต่ไม่ใช่นำประวัติศาสตร์ มาสร้างวาทกรรมทางการเมือง เพื่อการปลุกระดมมวลชน
พรรคสหประชาไทย ก่อเกิดจากคณะนายทหารที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร 2500 เวลานั้นเป็นผู้บริหารประเทศ หัวหน้าพรรคจึงเป็น “จอมพลถนอม กิตติขจร” นายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคคือ “จอมพลประภาส จารุเสถียร” ผู้บัญชาการทหารบก รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย
การเตรียมการเลือกตั้งของพรรคสหประชาไทย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนายทหารเสนาธิการและนักคิดที่ใกล้ชิดจอมพลถนอม กิตติขจร, ฝ่าย “พจน์ สารสิน” ที่ขึ้นตรงกับจอมพลถนอม และฝ่าย “ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์” สายตรงของจอมพลประภาส จารุเสถียร
ตรงกันข้ามกับ “กลุ่มอำนาจ” ใน พ.ศ.นี้ มิได้มอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งไปสร้างเครือข่ายกับพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียว หากแต่มีการกระจายกันไปทำ ตามศักยภาพของแต่ละคน
รูปแบบการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่กุมอำนาจเวลานี้ คล้ายสถานการณ์การเมืองปลายปี 2517 ศูนย์อำนาจใหม่ ประกอบด้วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์
“พล.อ.กฤษณ์” ในฐานะผู้กำกับการแสดง มีคอนเนกชั่นทั้งในกลุ่มการเมืองปีกขวา และปีกซ้าย ได้ให้การสนับสนุนนักการเมืองหลายกลุ่มตั้งพรรคการเมือง
เลือกตั้ง 2518 พล.อ.กฤษณ์ มอบหมายให้ “โค้วตงหมง” ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์หัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยม เป็นผู้ประสานงานสร้างเครือข่ายกับพรรคต่างๆ อาทิ พรรคธรรมสังคม, พรรคประชาธรรม, พรรคสันติชน, พรรคเสรีนิยม ฯลฯ
อดีตซ้ายไทยก็ทราบดี พล.อ.กฤษณ์ และ พล.ต.อ.ประเสริฐ ได้คบหาสมาคมกับ ไขแสง สุกใส และผู้นำนักศึกษาหลายคน ที่เป็นแกนนำพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมไปถึงพรรคพลังใหม่
หลังเลือกตั้ง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยม รวบรวมเสียงพรรคเล็กพรรคน้อย ตั้งเป็น “กลุ่มร่วมชาติ” เตรียมจัดตั้งรัฐบาล
หลังพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พล.อ.กฤษณ์ ตัดสินใจเลือก “หม่อมคึกฤทธิ์” หัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสนับสนุนจากกลุ่มร่วมชาติ (11 พรรค) และพรรคชาติไทย
“กฤษณ์โมเดล” กำลังจะกลับมา หลังการเลือกตั้ง 2562 ผู้ถืออำนาจ มิได้มอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งไปสร้างเครือข่ายกับพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียว หากแต่มีการกระจายกันไปทำ ตามศักยภาพของแต่ละคน
พรรคพลังประชารัฐ น่าจะไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทยยุคแรกๆ ที่มีองค์ประกอบของเทคโนแครตการเมือง กับนักเลือกตั้งมืออาชีพ
สมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตร รวบรวม “อดีตนายทหาร-นายตำรวจ” ไปอยู่ในพรรคหลายสิบคน แต่ส่องเข้าไปในพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีเงานายทหารใหญ่ นอกจากการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี
ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายทักษิณ กำลังเผชิญหน้ากับ “กองกำลังนักเลือกตั้ง” ที่เคยร่วมหัวจมท้ายกับทักษิณมาก่อน จึงรู้เช่นเห็นชาติกัน และสรุปบทเรียนจากการต่อสู้กันมาสองครั้ง(ปี 2550 และ 2554)
ใครคือ “พล.อ.กฤษณ์” ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็พอจะรู้กันอยู่ ใครเป็นผู้คุมเกมนักเลือกตั้ง ในบทบาทแบบประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ก็เดาได้ไม่ยาก
ฝ่ายประชาธิปไตยบางกลุ่ม ชอบตัดทอนประวัติศาสตร์ แถมติดโรคไร้เดียงสาฝ่ายซ้ายเยอะ โอกาสจะเพลี่ยงพล้ำและตกเป็นเหยื่อเกมอำนาจ ก็มีสูงยิ่ง