กรุงแตก "เจ้าแม่ยุดยา" ประดาบ "บิ๊กเพื่อไทย"
คอลัมน์... สังเวียนเลือกตั้ง..ช้างชนช้าง
5 กุมภาพันธ์ 2562 ทีมปราสาทสายฟ้า-บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะยกทีมชุดใหญ่มาอุ่นเครื่องกับทีมอยุธยา ยูไนเต็ด ที่สนามกีฬากลางจังหวัดอยุธยา เกมนัดนี้มีนัยทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อทีมอยุธยา ยูไนเต็ด บริหารงานโดยกลุ่มทายาท “เจ๊สมทรง” ผู้มากบารมีแห่งวังน้อย และแกนนำหลังม่านของทีมผู้สมัคร ส.ส.อยุธยา พรรคภูมิใจไทย
เมื่อจำนวน ส.ส.ลดจาก 5 คนเหลือ 4 คน สมรภูมิพระนครศรีอยุธยา ก็ถูกจับตามอง ตั้งแต่ยังไม่ทันสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะเขต 3 อ.บางปะอิน, อ.บางไทร และ อ.วังน้อย
“วิทยา บุรณศิริ” ประธาน ส.ส.ภาคกลางของเพื่อไทย ต้องชนกับ “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” พี่เมียของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ
อีกด้านหนึ่ง เปรียบเหมือนเกมลูกหนังนัดดาร์บี้แมตช์กรุงเก่า ระหว่าง “นักรบกรุงศรี” อยุธยา เอฟซี ของวิทยา บุรณศิริ พบ “นักรบอโยธยา” อยุธยา ยูไนเต็ด ของสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล
แม้สองตระกูล “บุรณศิริ” แห่งบางปะอิน กับ “พันธ์เจริญวรกุล” แห่งวังน้อย จะเติบโตภายใต้ร่มธงทักษิณมาแต่ปี 2544 แต่เกมการเมืองท้องถิ่น กลับกลายเป็นว่าอยู่กัน “คนละขั้ว” ในเวลานี้
คนอยุธยารู้จัก “เจ๊สมทรง” หรือ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.อยุธยา เป็นอย่างดี เพราะส่งลูกชาย ลูกสาว ยันลูกเขยลงสนามการเมืองทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น เวลานี้ ลูกสาว สมศรี พันธ์เจริญวรกุล เป็นนายกเทศมนตรีลำตาเสา อ.วังน้อย ที่ตั้งของ “บ้านใหญ่วังน้อย” รวมถึงลูกชาย พงศ์ปณต พันธ์เจริญวรกุล ส.อบจ.เขต 3 อ.วังน้อย
ปี 2544 เจ๊สมทรง ส่งลูกสาว สุวิมล พันธ์เจริญวรกุล ลงสมัคร ส.ส.เขต 3 เดิม (วังน้อย, อุทัย และภาชี) ในนามพรรคไทยรักไทย แม้จะเป็นคนหน้าใหม่ แต่ก็ไร้คู่แข่ง สุวิมลยังได้เป็น ส.ส.อีกสมัย มาถึงปี 2550 สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล มารับไม้ต่อจากพี่สาว เป็น ส.ส.อยุธยาอีกคนหนึ่ง
ตอนหลัง “เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” อดีต ส.ส.อยุธยา ได้ลาออกจากพรรคชาติไทยพัฒนา มาเป็นพันธมิตรการเมืองกับตระกูล “พันธ์เจริญวรกุล”
เดิมทีสมาชิกสภาจังหวัด หรือ ส.อบจ.เกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือเจ๊สมทรง แต่ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วิทยา บุรณศิริ ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ ส.อบจ.บางส่วน ย้ายไปอยู่กับวิทยา
“เสี่ยอ๊อด” วิทยา บุรณศิริ ลูกชายของแม่เล็ก ถาวร บุรณศิริ เจ้าของร้านอาหาร “ป้าเล็ก” แห่ง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มชิมลางการเมืองด้วยการเป็น ส.อบจ., ประธานประสภา อบจ. และ นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา รวมเวลา 17 ปี จึงลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกปี 2544 สีเสื้อไทยรักไทย
มีข้อน่าสังเกต วิทยากับเจ๊สมทรง ตัดสินใจเล่นการเมืองระดับชาติ หลังเจ้าพ่อกรุงเก่า มนตรี พงษ์พานิช เสียชีวิต ทุกวันนี้ เสี่ยอ๊อด และเครือญาติ มีธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และขายวัสดุก่อสร้าง ความมั่งคั่งไม่ได้น้อยหน้าเจ๊สมทรง
เปรียบเทียบพื้นที่เลือกตั้ง “เสี่ยอ๊อด วิทยา” อาจได้เปรียบ “ส.ส.เอ” สุรศักดิ์ ลูกชายเจ๊สมทรง เพราะ อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร เป็นฐานคะแนนของเสี่ยอ๊อด
ส่วน “ส.ส.เอ” มีฐานเสียง อ.วังน้อย เป็นต้นทุน ในมุมของเจ๊สมทรง ลูกชายแพ้เลือกตั้งไม่สำคัญ เพราะเชื่อว่า เลือกตั้งนายก อบจ.สมัยหน้า เสี่ยวิทยาจะส่งคนลงแข่งกับเจ๊ใหญ่วังน้อยแน่ เลยต้องดึงเกื้อกูลมาเป็นแนวร่วม
เลือกตั้งผู้แทนฯ ของชาวอโยธยาหนนี้ เสมือนสนามประลองกำลังของเจ๊สมทรงกับเสี่ยอ๊อด ก่อนศึกใหญ่จะมาถึง