คอลัมนิสต์

นโยบายหาเสียง "แจกบ้าน แจกเงิน" ยังได้ผลหรือไม่?

นโยบายหาเสียง "แจกบ้าน แจกเงิน" ยังได้ผลหรือไม่?

05 ก.พ. 2562

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ




          ช่วงนี้พรรคการเมืองกำลังคึกคักกับการวางแผนหาเสียงกับชาวบ้าน เพื่อให้ทันวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่จะมาถึง นโยบายที่ทุกพรรคกำลังไตร่ตรองว่าควร “กระโดดลงไปร่วมด้วย” หรือ “กระโดดออกห่าง” คือโครงการประเภทแจกแหลก โดยดูจากบทเรียนของ “รัฐบาล คสช.” ที่ใช้การลงทะเบียนคนจนนำหน้าแจกแหลกกักตุนคะแนนไปก่อนแล้ว

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 

 

          ที่ผ่านมาการซื้อใจด้วยคำประกาศสนับสนุนปัจจัยสี่ โดยเฉพาะ “แจกบ้าน แจกเงิน” มักใช้ได้ผลเสมอ แต่สำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่คลุกคลีกับปัญหาลึกๆ ของชาวบ้านมานานหลายสิบปี ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับ “นโยบายแจกแหลก” มากนัก


          เพราะในที่สุด งบประมาณเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ไม่ได้ทำให้คนจนยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างแท้จริง !


          เริ่มจากนโยบาย “บัตรคนจน” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาล คสช.ทุ่มเงินไปเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 มีผู้เข้าร่วมกว่า 14 ล้านราย ทั้งผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 11.4 ล้านคน และเก็บตกในรอบสอง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง เพิ่มอีก 3.1 ล้านคน รัฐบาลกำลังจะเทกระเป๋าให้อีก 4.3 พันล้าน เพื่อต่ออายุเติมเงินใส่บัตรให้อีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 


          ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ผู้มีบัตรคนจนได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3.2 ล้านราย ส่วนผู้ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรือเป็นผู้พ้นจากเส้นความยากจนมีจำนวน 1 ล้านราย ถือว่าการดำเนินมาตรการช่วงแรกประสบความสำเร็จเกิดความคุ้มค่า โดยคำนวณเปรียบเทียบต้นทุนการดำเนินการที่ใช้งบประมาณสำหรับการพัฒนาอาชีพไป 6 พันล้านบาท แต่เกิดผลประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจถึง 2.6 หมื่นล้านบาท

 

 

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 


          “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี รู้สึกปลื้มปีติมากกับโครงการแจกเงินคนจน และจะเปลี่ยนเป็นให้เงินสด เพื่อกดจากตู้เอทีเอ็มได้ทันที สามารถใช้จ่ายอย่างอื่นได้ตามที่ทุกคนต้องการ แต่จะมีเงินจำนวนหนึ่งเก็บไว้ให้เฉพาะซื้อของในร้านค้าประชารัฐ


          โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้รายได้ระหว่าง 3 หมื่น-1 แสนบาท จะได้รับเงิน 100 บาท โดยใช้งบประมาณจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเดิม วงเงิน 4,370 ล้านบาท หรือประมาณ 728 ล้านบาทต่อเดือน

 

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 


          สำหรับเงินรายเดือนที่จะโอนเข้าตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย แบ่งเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี กดเงินสดได้เดือนละ 200 บาท และอีก 100 บาทสำหรับซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ ส่วนผู้มีรายได้เกินจะแบ่งเป็นสามารถกดเงินสดได้เดือนละ 100 บาท และอีก 100 บาท สำหรับซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562


          นอกจากนี้ยังมีการแจก ค่าน้ำกับค่าไฟ สำหรับผู้มีบัตรคนจน เป็นเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประจำเดือน ตามที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้าแต่ไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือน เริ่มไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ส่วนค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือน

 

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 


          จากการสอบถามเครือข่ายภาคประชาชนผู้ทำงานกับกลุ่มแรงงานหาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่า นโยบายแจกของฟรี ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวทำให้คนหายจนได้จริง


          “นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ” ประธานชุมชนสร้างสรรค์พัฒนา 7-12 แสดงความเห็นว่า ในชุมชนคลองเตยมีคนไปลงทะเบียนและได้ “บัตรประชารัฐ” เป็นจำนวนมาก เมื่อได้มา 200-300 บาทก็เอาไปซื้อน้ำตาล น้ำปลา ของใช้จุกจิกในบ้าน ถือเป็นการแจกเงินซื้อของที่ดีในเบื้องต้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเงินสดก็จะดีกว่าในแง่ของการไปหาซื้อของได้ถูกลง เนื่องจากของในร้านธงฟ้าประชารัฐจะมีราคาแพงกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป


          “ช่วงแรกแจกเงินให้ไปรูดซื้อของร้านประชารัฐวุ่นวายมาก แต่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนไปแจกเงินสด ชาวบ้านน่าจะชอบใจมากกว่า เพราะกดเงินไปซื้อของในห้างได้ ราคาถูกกว่ากันพอสมควร เพราะร้านพวกนี้ได้กำไรมาหลายต่อกว่าจะขายให้ชาวบ้าน เช่น ขายน้ำมันพืชขวดละ 45 ถ้าไปซูเปอร์ใหญ่ๆ จะซื้อได้ไม่เกิน 38 บาท”
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงนโยบายภาพรวมที่แจกเงินคนจนนั้น “นิตยา” ผู้คลุกคลีกับการทำงานในชุมชนแออัดคลองเตย พื้นที่บริเวณนี้อาณาเขตกว่าร้อยไร่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า 1.2 หมื่นครัวเรือน จำนวน 26 ชุมชน การแจกเงินหรือให้ดอกเบี้ยซื้อบ้านราคาต่ำอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวมากนัก
“การพัฒนาคนต้องมองถึงการดูแลให้พวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น ถ้าแจกตังค์มาใช้เท่าไรก็ไม่พอ สมมุติว่ารัฐบาลแจกเงินสดรอบใหม่ คนละ 500 บาท เงินจำนวนนี้ถ้าไปซื้อของใช้นิดเดียวก็หมดแล้ว แต่ถ้าให้เป็นเงินก้อนในแต่ละชุมชนแล้วเอามารวมกันทำเป็นกองทุนการออม ให้เป็นสวัสดิการของทุกคน จะเกิดประโยชน์ระยะยาวมากกว่า เช่น ตอนนี้มีการทำกองทุนออม กลุ่มคน 3 วัย ผู้สูงอายุ วัยทำงาน และวัยเด็ก 100 คน เอาเงินมารวมกันคนละ 500 บาท กลายเป็น 5 หมื่นบาท แล้วให้ออมเพิ่มอีกวันละ 1 บาท กลายเป็นรายได้วันละ 100 บาท เดือนหนึ่งจะได้เพิ่มอีก 3,000 บาทสะสมไปเรื่อยๆ ใครเดือดร้อนอะไรก็มาเอาเงินตรงนี้ไปใช้ก่อน เราก็เงินตรงนี้ไปจ้างคนปลูกผัก แจกให้สมาชิกวันละ 4 ต้น ถ้าเหลือเอาไปขาย แล้วเอาเงินขายผักเข้ากองทุน ใครเสียชีวิตให้ค่าทำศพ 1 หมื่นบาท”

 

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 

 

          “นิตยา” กล่าวว่า วิธีนี้ทำให้ได้เงินสะสมขึ้นอีกจำนวนมาก น่าจะดีกว่าแจกเดือนละ 500 บาทแล้วใช้หมดไปแบบไม่รู้ตัว แจกเท่าไรก็ไม่พอ อยากให้พรรคการเมืองที่คิดลงรับสมัครเลือกตั้ง คิดนโยบายหาเสียงแจกเงินเป็นกองทุนมากกว่าแจกเงินสด


          สอดคล้องกับ “สาวิทย์ แก้วหวาน” เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งยอมรับว่า บัตรผู้มีรายได้น้อยเป็นสวัสดิการหนึ่งที่เข้าถึงคนจนและผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย แต่ถ้าอยากให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เงินกองทุนที่จ่ายมาปีละเกือบแสนล้านบาทควรนำไปทำเป็นกองทุนจะดีกว่า แต่ถ้าอ้างว่าเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสะพัด ช่วยเหลือโรงงาน ร้านขายของชำ หรือผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ก็อาจได้ประโยชน์บ้าง แต่เป็นเพียงบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่ได้ทำให้คนจนหายยากจนอย่างแท้จริง


          “สิ่งที่รัฐแจกแล้วได้ผลคือ ค่าน้ำฟรี ค่าไฟฟรี ตรงนี้โอเคกว่า แต่ถ้าจะให้ได้ผลจริง ประชาชนผู้ใช้แรงงานหรือชาวบ้านส่วนใหญ่อยากเสนอนโยบายให้ทำเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือสนับสนุนการรวมตัวผู้ผลิตรายย่อย ส่งเสริมให้เงินทุนกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ย พอรวมกลุ่มผลิตสินค้าได้แล้ว ก็เอาสินค้ามาขายชุมชน สนับสนุนซึ่งกันและกัน สะสมเป็นกองทุนในชุมชนตัวเอง วิธีนี้จะช่วยระยะยาวมากกว่าแจกเงินเฉยๆ” นายสาวิทย์กล่าวแนะนำ

 

 

 

นโยบายหาเสียง \"แจกบ้าน แจกเงิน\" ยังได้ผลหรือไม่?

 


          นอกจากแจกเงิน แจกน้ำ แจกไฟฟรีแล้ว ล่าสุดสมาชิกบัตรคนจนอาจได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีด้วย เนื่องจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีนโยบายเตรียมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 6 แสนกว่าครัวเรือน หรือ 1.8 ล้านคน ในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ได้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงฟรี 3 ปี โดยจะเริ่มต้นโครงการช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเมษายน 2565 ใครที่สนใจสามารถติดต่อสำนักงาน กสทช. ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม

 

          แต่โครงการแจกฟรีที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามคือ "แจกบ้าน" หรือที่เรียกกันว่า “โครงการบ้านล้านหลัง” เพราะวันแรกที่เปิดให้ชาวบ้านไปจองได้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีคนมายืนรอรับบัตรคิวตั้งแต่หกโมงเช้า จนเต็มพื้นที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ ถ.พระราม 9 ส่งผลให้การจราจรติดขัดไปหมด ยิ่งใกล้เวลาเปิดทำการ 8 โมงเช้ายิ่งมากันล้นหลาม รับบัตรคิวไม่ต่ำกว่า 6 พันคน


          โดยวงเงินสินเชื่อ “โครงการบ้านล้านหลัง” นั้น รัฐบาลตั้งงบไว้ให้ประมาณ 1.27 แสนล้านบาท หวังให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอนุมัติไปแล้วประมาณ 950 ราย วงเงินกู้ 630 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยราคาต่ำและให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี เช่นผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1–ปีที่ 5 คงที่ร้อยละ 3 ต่อปี กรณีกู้ 1 ล้านบาท อาจต้องควักกระเป๋าเริ่มต้นแค่ 4,000 บาทสำหรับผ่อนชำระ 5 ปีแรก แต่ถ้ารายได้เกินเดือนละ 25,000 บาท ถ้าเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท ผู้ที่สนใจยังมีโอกาสไปจองได้ถึง 29 มีนาคม 2562


          บ้านที่ปล่อยกู้นั้น เอามาจากกลุ่มต่างๆ เช่น บริษัทขายบ้านทั่วไปประมาณ 4.5 หมื่นหลัง จากบ้านรอการขายของ ธอส. จำนวน 2 หมื่นหลัง ทรัพย์ขายทอดตลาดของ ธอส. 4.4 หมื่นหลัง หรือทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี 8 หมื่นหลัง รวมถึงโครงการของการเคหะแห่งชาติประมาณ 7.4 หมื่นหลัง
จากมุมมองนักวิชาการที่ทำวิจัยด้านที่อยู่อาศัยกลุ่มคนด้อยโอกาส เชื่อว่าโครงการบ้านล้านหลัง อาจทำให้ชาวบ้านกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต พรรคการเมืองใดจะนำไปลอกเลียนแบบต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง


          “จิราภรณ์ แผลงประพันธ์” นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายแจกบ้านล้านหลังนั้น มุ่งหวังช่วยเหลือคนจน แต่ผู้ที่จองได้ไม่น่าจะเป็นกลุ่มคนจนจริง น่าจะเป็นคนชั้นกลางมากกว่า เพราะคนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ หรือการต้องลาหยุดงาน 1 วันมาจองบ้านก็อาจทำได้ยากด้วย อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาคือ การไม่คิดดอกเบี้ยช่วงปีแรกๆ ทำให้จ่ายเดือนละ 3,000 กว่าบาท ถูกกว่าค่าเช่าบ้าน ทำให้คนสนใจมาจองซื้อ แต่ถ้าผ่านไป 3–5 ปีแล้ว ต้องรับภาระจ่ายเต็มทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น อาจทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นได้ กลายเป็นภาระหนี้สินในอนาคต


          จิราภรณ์ กล่าวถึงผลการศึกษาปัญหาความยากจน สามารถแบ่งออกเป็น 8 มิติ ได้แก่ ความยากจนด้านการเงินการขาดแคลนที่อยู่อาศัย การขาดแคลนที่ดินทำกิน ปัญหาสภาพที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และปัญหาอื่นๆ เช่น โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ


          “ถ้าพูดเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย นโยบายของรัฐบาลใหม่ อาจไม่จำเป็นต้องเน้นการเป็นเจ้าของบ้านก็ได้ เพราะถ้าสามารถหาบ้านเช่าหรือห้องเช่าที่มีความมั่นคง และราคาไม่แพงมาช่วย คล้ายกับแฟลตดินแดง แม้ว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่สามารถอยู่อาศัยตลอดไปเรื่อยๆ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานได้มากกว่า เพราะบ้านราคาถูกส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ไกลออกไปจากชุมชน การเดินทางทำได้ลำบาก นอกจากนี้ควรคิดถึงระบบประกันสังคม ให้แรงงานนอกระบบได้เข้าถึง มีหลักประกันในการหยุดงานหรือเจ็บป่วยมากกว่านี้ เช่น ถ้าป่วยไม่สามารถไปทำงานได้ สามารถเบิกค่าขาดรายได้ และมีหลักประกันสวัสดิการต่างๆ ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระคนในครอบครัว” จิราภรณ์กล่าว


          ดังนั้น นโยบายแจกแหลกที่หลายพรรคการเมืองพยายามจะเลียนแบบเอาไปหาเสียงช่วงเลือกตั้งนั้น อาจต้องปรับแผนใหม่ให้นักการเมืองแต่ละพื้นที่ ลงไปนั่งจับเข่าพูดคุยซักถามชาวบ้านอย่างละเอียดว่า ต้องการความช่วยเหลืออะไรกันแน่ เพื่อวางแผนช่วยแก้ปัญหาความยากจน หรือความทุกข์ยากต่างๆ แบบระยะยาว

 

          เพราะแต่ละพื้นที่ปัญหาแตกต่างกัน และมีหลายมิติ การใช้นโยบายพรรคแบบจ่ายฟรีเหมารวมอาจทำให้สอบตกได้ เพราะไม่โดนใจคนในพื้นที่อย่างแท้จริง !
 
 
          กลุ่ม“ปัญหาความยากจน”
          1.กลุ่มขาดแคลนที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่จังหวัดขนาดใหญ่ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และภูเก็ต เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายเข้ามาในพื้นที่ชนบท ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

          2.กลุ่มขาดแคลนทั้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มมีที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย แต่ขาดแคลนรายได้ในการสร้างที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยแต่มีลักษณะไม่มั่นคง

          3.กลุ่มยากจนเรื้อรัง เป็นกลุ่มมีที่ดินทำกินแต่ขาดความรู้ที่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ หรือเป็นกลุ่มที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป