คอลัมนิสต์

"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

06 ก.พ. 2562

จาก ดร.ปริญญา ถึง พล.อ.ประยุทธ์ : "การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย...การเมืองเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ถูกกฎหมาย"

 

                 “การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย การทำตามกฎหมายเป็นขั้นต่ำ ประชาชนหวังมากกว่าขั้นต่ำ ตอนที่คุณทักษิณหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตอนขายหุ้นให้เทมาเส็ก เขาเลี่ยงได้ มีช่องทางเลี่ยง ไม่ผิด แต่ทำไมโดนประท้วง เพราะไม่ควร เป็นนักธุรกิจซิกแซ็กได้ เป็นนายกฯ ทำไม่ได้ เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี การเมืองเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ถูกกฎหมาย”  

                 ก่อนที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะตัดสินใจว่าจะตอบรับคำเชิญไปอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “คม ชัด ลึก” แสดงทัศนะถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์

 

                 ** ทางเลือก “บิ๊กตู่”

                 ดร.ปริญญา บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีทางเลือก 2 ทาง คือ มุ่งจะเป็นนายกฯ ต่อไป หรือถอยเป็นคนกลางแล้วมีเสียง ส.ว.ในมือ 250 เสียง เอาไว้ในการต่อรองตั้งแต่การตั้งรัฐบาล ถ้าจะเป็นนายกฯ ได้ 2 รอบ คือ ต้องมีชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ทางที่สองคือ หากเลือกนายกฯ จากในบัญชีไม่ได้ ก็ต้องเอาคนนอกบัญชี เงื่อนไขคือต้องมีเสียง 2 ใน 3 คือ 500 คน ในเสียงจำนวนนี้ มี 250 ส.ว.ที่ คสช.เลือกอยู่แล้ว ส่วนอีก 250 คือ ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้ารอก๊อกสองอาจจะไม่ได้เป็น ถ้าสภาตกลงกันได้ในรอบแรก

                 อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเป็นรัฐบาลรอบแรก แม้จะใช้เสียงเพียง 126 เสียงก็เลือกนายกฯได้ แต่ถ้าจะให้อยู่ได้ต้องมีเสียงเกินครึ่ง คือเกิน 250 เสียง ไม่เช่นนั้นจะพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณไม่ได้ รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เท่ากับว่าไม่ว่าจะเป็นรอบแรกหรือรอบสอง ต้องมี ส.ส. 250 เสียง ไม่เช่นนั้นเป็นรัฐบาลได้ แต่อยู่ไม่ได้

                 แต่มารอบสองมีความเสี่ยงอีกข้อคือ จะกลายเป็นนายกฯ คนนอก เป็นของแสลงสำหรับการเมืองไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่" บนทางสองแพร่ง)

 

                 **มารอบแรกใช่จะได้เป็นนายกฯชัวร์

                 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงนายกฯ การเมืองจะเป็นสองขั้ว คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่ถ้าลง ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นขั้วที่สาม เป็นการเมืองแบบ 3 ก๊ก

                 ที่เรียก 3 ก๊ก เพราะไม่มีพรรคไหนชนะได้เพียงลำพัง ต้องมี 2 ก๊กมารวมกัน และทั้ง 3 ก๊กไม่ชอบหน้ากัน โดยธรรมชาติรวมกันไม่ได้ แต่เพื่อเอาชนะ ก็จะรวมกัน

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

(อ่านต่อ...สูตรรัฐบาล-นายกฯ "การเมือง 3 ก๊ก")

 

                 ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลงต่อ ก็เหมือนแชมป์เก่ากับผู้ท้าชิง จะเกิดประเด็นว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่

                 ผู้ท้าชิงคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ สำหรับเพื่อไทยและเครือข่ายชัดเจนว่าตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อประชาธิปัตย์ไม่ชัดเจน ก็ทำให้ถูกนับว่าอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ท่าทีประชาธิปัตย์จึงต้องชัดเจนกว่านี้

                 “ฝากถึงพรรคประชาธิปัตย์ ถ้านายกฯ ลงบัญชีนายกฯ ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องมีท่าทีที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะประเด็นจะขมวดมาว่าจะให้ คสช.เป็นนายกฯ ต่อไหม ถ้าต้องการก็เลือกพลังประชารัฐ ถ้าไม่ต้องการก็เลือกเพื่อไทยหรือเครือข่าย แต่ประชาธิปัตย์อยู่ตรงไหน ถ้ามีความคลุมเครือ ประชาธิปัตย์จะมีพื้นที่น้อยลง”

                 ทั้งนี้ ดร.ปริญญา วิเคราะห์ว่า โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้มีโอกาสเดียวคือ พรรคพลังประชารัฐต้องได้อันดับหนึ่ง และโอกาสของพรรคพลังประชารัฐที่จะมาที่หนึ่งไม่ง่าย

                 “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเมื่อไร สถานะของท่านจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง จะทำอะไรก็แล้วแต่จะถูกนับเป็นการหาเสียงให้พรรค อย่าลืมว่าชื่อพรรคพลังประชารัฐก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เป็นอยู่ในตัว และถ้าเป็นว่าที่นายกฯ จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการเลือกตั้ง ตามที่ผมวิเคราะห์ต้องที่ 1 จึงจะมีโอกาส ถ้าที่สองหรือที่สามยาก จะทำอะไรก็แล้วแต่คนก็จะมองว่าทำเพื่อให้ตัวเองได้มาที่หนึ่ง ต่อให้ไม่เจตนา ไม่หาเสียง อย่าลืมว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ไปเปรียบเทียบกับนายกฯ ก่อนหน้าว่าไม่ต้องลาออก ที่ไม่ต้องลาออกเพราะเขาเป็นนายกฯ รักษาการ อำนาจมีน้อย แต่นายกฯ ปัจจุบันไม่ใช่รักษาการ มีอำนาจเต็มทุกอย่าง แปลว่าสามารถทำได้เต็มที่ นี่คือความต่างกันกับนายกฯ ก่อนหน้านี้ที่รักษาการแล้วไม่ต้องออก

                 อีกอย่างเป็นหัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ทำได้ทุกอย่าง ผมจึงคิดว่า ถ้าให้การเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คือไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ เพราะ 5 ปีแรกจะมี ส.ว. 250 คน ที่ คสช.เลือก ซึ่งมีอำนาจเลือกนายกฯ และควบคุมรัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นใครต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

                 นี่คือระยะเปลี่ยนผ่านอยู่แล้ว ต่อให้เลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ จะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการครึ่งใบก็แล้วแต่จะเรียก แต่การเมือง 5 ปีแรกไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ” 

                 ดร.ปริญญา บอกว่า ที่พูดทั้งหมดคือพูดเรื่องควรไม่ควร ไม่ได้พูดว่าทำไม่หรือไม่ได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงบัญชีนายกฯ สถานะคนกลางจะหมดไป ทำอะไรก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียง เหมือนสมัยก่อน ถ้ามีความเคลื่อนไหวของนักศึกษา วิธีที่จะใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ คือ ต้องบอกว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง การที่นายกฯจะเป็นว่าที่นายกฯ โดยมีพรรคการเมืองเสนอก็พันกันเรื่องประโยชน์ ก็ปฏิเสธยาก 

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

 

                 ดร.ปริญญา ย้ำ นายกฯ มีทางเลือก 2 ทาง ทางแรกคือ ถอยมาเป็นคนกลาง และมีอำนาจในมือ คือ ส.ว. 250 คน และทางที่สองที่ท่านกำลังจะทำอยู่ ถ้าทำเมื่อไรเรื่องที่คนจะต้องติดตามมากๆ คือ ตอนเลือก ส.ว. คำถามคือ ส.ว.ที่เลือกกันเอง 200 คน ใช้งบประมาณตั้งพันล้าน แต่จะได้เป็น 50 คน ถามว่า 50 คนไหน ก็แล้วแต่ คสช. คนจะวิจารณ์ทันทีว่าเลือก ส.ว.แบบนี้เพื่อให้มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ ก็จะกลายเป็นเลือก ส.ว.โดยมีประโยชน์ทับซ้อน ความสง่างามในการเลือก ส.ว.ก็จะลดน้อยลง

                 ในส่วนของการสรรหา 194 คน มาจากการคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น สรรหามา 400 คน แล้ว คสช.เลือกเหลือ 194 คน คำถามจะเกิดเหมือนกัน ทำไมเลือกคนนี้ไม่เลือกคนนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์แล้วแต่ คสช. ก็จะเป็นคำถาม ตกลงเลือกมาเพื่อให้ตัวเองเป็นนายกฯ ต่อใช่หรือไม่ จะเกิดคำถามและความไม่สง่างามตามมามากมาย

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

(อ่านต่อ...จุดอ่อน - จุดแข็ง? "บิ๊กตู่" นั่งบัญชีนายกฯ พลังประชารัฐ)

 

                 **การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย

                 ส่วนที่นายกฯมักจะบอกว่าทำตามกฎหมายนั้น ดร.ปริญญา กล่าวว่า “การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย การทำตามกฎหมายเป็นขั้นต่ำ การเมืองประชาชนหวังมากกว่าขั้นต่ำ ตอนที่คุณทักษิณหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตอนขายหุ้นให้เทมาเส็ก ก็หลีกเลี่ยงภาษี เลี่ยงกฎหมาย เขาเลี่ยงได้ มีช่องทางเลี่ยง จนกระทั่งไม่ผิด แต่ทำไมโดนประท้วง เพราะไม่ควร เป็นนักธุรกิจซิกแซ็กได้ เป็นนายกฯ ทำไม่ได้ เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

                 การเมืองเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ถูกกฎหมาย ถูกกฎหมายต้องถูกอยู่แล้ว แต่การการเมืองต้องมากกว่านั้น การเมืองคืออุดมคติที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชน การมีส่วนได้เสียจะเป็นจุดถอยหลังครั้งสำคัญของ คสช. ทั้งหมดที่พูดไปเพื่อจะบอกว่า การเมืองแบบดีกว่าในระยะเปลี่ยนผ่าน นายกฯ ก็บริหารบ้านเมืองมาจะครบ 5 ปีแล้ว ถ้าท่านอยากจะทราบว่าท่านควรลงหรือไม่ ผมแนะนำให้ท่านทำโพลล์ว่าประชาชนอยากให้ท่านเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ ถ้าเสียงโพลล์เกิน 50 ค่อยตัดสินใจลง

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

 

                 ผมพูดตามเนื้อผ้า ตามการวิเคราะห์ว่าโอกาสในการได้เป็นก็ไม่มาก และถ้าลงจริงขึ้นมาก็จะยุ่ง คิดว่าท่านอาจจะอยากใช้โมเดล พล.อ.เปรม แต่เงื่อนไขของ พล.อ.เปรมต่างจากตอนนี้ หนึ่ง พล.อ.เปรมไม่ได้ปฏิวัติ สอง พล.อ.เปรม ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สาม พล.อ.เปรมไม่ได้ลงเป็นว่าที่นายกฯ พล.อ.เปรมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการหาเสียงเลือกตั้ง รักษาสถานะเป็นคนกลางตลอด และทุกครั้งที่มาเป็นนายกฯ เพราะพรรคการเมืองไปเชิญ”

 

                 ** จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงบัญชีนายกฯ ?

                 ดร.ปริญญา กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหาก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบัญชีนายกฯ ว่า หนึ่ง จะมีเสียงว่าให้ออกดังขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกฯ หรือหัวหน้า คสช. สอง ท่านจะวางตัวอย่างไรจนถึงเลือกตั้ง จะพูดอะไร จะลงพื้นที่ ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องหาเสียง

                 “อย่าลืม คสช. ก็ขาลงมาก เมื่อเทียบกับตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ปัจจุบันคนกล้าวิจารณ์นายกฯ มากขึ้น การเป็นนายกฯ จะยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแล้วต้องเหนื่อย ที่น่าเป็นห่วงที่สุดลงแล้วต้องชนะให้ได้ ต่อให้นายกฯ ไม่ทำเองลูกน้องของท่านทำ จะทำให้ผลตามมามากมาย การเลือกตั้งจะเชื่อถือได้เพียงใด และยิ่งถ้า กกต.มีทีท่าเกรงใจ คสช. ก็ทำให้ดูกระทบต่อผลการเลือกตั้ง”

                 ถ้าเป็นที่หนึ่ง เป็นนายกฯ ไม่เกิดเหตุอย่างต่อต้าน พล.อ.สุจินดา แบบปี 2535 เพราะไม่ใช่คนนอก แต่มาตามบัญชีรายชื่อ ไม่เกิดการประท้วง แต่เป็นนายกฯ สักพักอีกเรื่อง

                 แต่ถ้ามาอันดับสอง สาม แล้วพยายามจะเป็นนายกฯ จะเริ่มไม่ชอบธรรม นี่คืออันตราย หรือมาอันดับหนึ่งแบบมีข้อครหาขึ้นมา ก็ยุ่ง สมัยนี้ใครทำอะไรไม่ชอบมาพากลก็ลำบาก เพราะถ่ายคลิปได้หมด (ยกมือถือประกอบ) ท่านไม่ได้สั่ง แต่มีคนในพรรค ลูกน้องของท่านไปทำอะไรโดยไม่ได้สั่ง โดยถ่ายรูปไว้ แค่คนเดียวทำ ก็กระทบแล้ว

                 “สถานะคนกลางของ คสช. จะทำให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างนุ่มนวลกว่า แบบประนีประนอมระหว่างสภาผู้แทนฯ กับ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมา เพราะรัฐบาลไม่เลือก ส.ว.มา ก็จะประนีประนอมกับ ส.ว. ต้องฟัง ส.ว. แต่ถ้าการเมืองแบบเดินหน้าเพื่อเป็นรัฐบาลต่อ จะเกิดความขัดแย้งสูง สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ ขึ้นมา ส.ว.ก็จะเป็น ส.ว.ที่ คสช.ตั้งไว้ ความขัดแย้งกับสภาก็จะมีสูง”

                 ถ้าว่าตามรัฐธรรมนูญท่านก็มีสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ แต่การอ้างรัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะรัฐธรรมนูญร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช.ตั้งขึ้น ก็จะมีคำถามว่าร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองหรือเปล่า คำถามจะมาเรื่อยๆ ฉะนั้นลำพังแค่ถูกกฎหมายไม่พอ ต้องมากกว่านั้น

 

\"การเมืองไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมาย\" จาก ปริญญา ถึง ประยุทธ์

 

                 **ถ้าปล่อยไป การเมืองกลับมาหมือนเดิม

                 ส่วนที่มีการพูดว่า ถ้า คสช.ปล่อยไป สถานการณ์การเมืองจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ดร.ปริญญา กล่าวว่า จะเหมือนเดิมแบบไหน มีสองเหมือนเดิม มีเหมือนเดิมแบบ 5 ปีที่ผ่านมาด้วยนะ กับเหมือนเดิมก่อนหน้า 5 ปีนี้ สุดท้ายประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ถ้าเราปกครองตัวเองกันได้ ปกครองกันเป็น เล่นกันตามกติกา ทหารจะเข้ามาได้อย่างไร 

                 "แต่ถ้าเราปกครองกันไม่เป็น ไม่สนใจกติกาแล้วมาแข่งกันม็อบว่าใครจะมีคนมากกว่ากัน สุดท้ายจะได้ทหารเข้ามา ประชาธิปไตยคือการเปลี่ยนผ่านโดยสันติ และว่ากันตามกติกา เหมือนกับการแข่งฟุตบอล ถ้าเราเตะบอลกันเป็นเล่นกันตามกติกา ทหารจะมายุ่งไม่ได้ ผมหวังว่า 5 ปีที่ผ่านมาเราจะได้เรียนรู้กันในเรื่องนี้

                 ที่น่าเป็นห่วงคือ ตอนนี้กลับมาเหมือนเดิม คือ โจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งเราควรต้องเลิก ทุกคนต้องช่วยกัน การด่าทอ การให้ร้าย hate speech ควรเลิก ถ้าอยากได้การเมืองแบบมีความหวังก็ต้องช่วยกันทำ สุดท้ายระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของคนในประเทศ"

 

                 เลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเลือกอย่างไร?

                 ดร.ปริญญา กล่าวว่า การเลือกครั้งนี้ประชาชนต้องคิดก่อนถึงวันเลือกตั้งเพราะคะแนนที่เลือกมีความหมายทั้งกับ ส.ส.เขต พรรค และนายกฯ ต้องทราบว่าบัตรนี้เป็นทั้งเลือก ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นต้องคิดก่อนว่า ส.ส.ของพรรคนี้กับบัญชีรายชื่อพรรคจะเลือกอะไร

                 ถ้าหากผู้สมัคร ส.ส.เขตกับพรรคที่ชอบเป็นคนละพรรค อันนี้จะยาก เพราะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอะไร ระหว่าง ส.ส.เขต กับบัญชีรายชื่อ และคะแนนนี้ยังจะมีผลถึงเลือกนายกฯ ด้วย ประชาชนจะตัดสินใจยากขึ้น แต่ต้องคิด

                 ดร.ปริญญา ฝากไปยัง กกต.ด้วยว่า ขอให้ทบทวนเรื่องรายละเอียดในบัตรเลือกตั้ง ถ้าบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อผู้สมัคร ระวังอาจถึงขั้นเป็นการเลือกตั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนสับสนว่าตกลงเลือกอะไร ในบัตรเลือกตั้งต้องบอกให้ชัดว่าเป็นบัตรเลือก ส.ส.เขต แต่คะแนนจะไปมีผลถึงเลือกบัญชีรายชื่อด้วย

                 “ถ้าผู้สมัคร ส.ส.เขตมีโอกาสชนะ ก็อาจจะเลือก ส.ส.เขตไป แต่ถ้าไม่มีโอกาสชนะ ก็อาจจะไปเลือกพรรค ต้องไม่ลืมว่าคะแนนทุกคะแนนจะนำไปคำนวณให้พรรค ฉะนั้นอาจจะเลือกพรรคไปเลย”

                 ดร.ปริญญา กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ ว่า 1 คะแนนของเราจะทำให้เกิดผลอะไรบ้าง ต่อไปเชื่อว่าในโซเชียลมีเดียจะมีการอธิบายว่าเลือกแบบนี้จะมีความหมายอย่างไร การเลือกแบบนั้นหมายความว่าอย่างไร

 

====================

 โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

ดูคลิป